‘วีแฟร์’ ชู 3 ข้อเรียกร้อง วัคซีนต้องฟรีและถ้วนหน้า ล็อกดาวน์ต้องเยียวยา

เครือข่ายรัฐสวัสดิการฯ จวก รัฐล้มเหลวคุมโรคระบาด “สวัสดิการถ้วนหน้า” คือ ทางออกเยียวยาประชาชน เสนอปฏิรูประบบภาษี ตัดงบฯ อาวุธ 3 เหล่าทัพ เพิ่มงบฯ สวัสดิการประชาชน

19 ก.ค. 2564 – เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We fair จัดแถลงข่าวออนไลน์ “วัคซีนต้องฟรีและถ้วนหน้า เก็บภาษีความมั่งคั่งเศรษฐี 1% ตัดงบอาวุธ 3 เหล่าทัพ เพิ่มงบสวัสดิการประชาชน” โดย นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์, สมชาย กระจ่างแสง, ธนพร วิจันทร์ และนุชนารถ แท่นทอง ร่วมแถลง

มีการระบุถึงสถานการณ์ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการระบาดของโควิด-19 ในเวลานี้ ว่าเป็นผลจากการบริหารประเทศที่ผิดพลาดและล้มเหลวของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่กลับสร้างความสิ้นหวังรวมหมู่และล้มเหลวใน 3 ด้าน คือ 1) ความล้มเหลวในการควบคุมการแพร่ระบาด 2) ความล้มเหลวในการบริหารจัดการวัคซีน และ 3) ความล้มเหลวในมาตรการเยียวยา

กลุ่ม We fair ยังระบุถึงข้อเสนอแนวทางรัฐสวัสดิการในสถานการณ์วิกฤตการณ์โควิด-19 ใน 3 ประเด็น

1) วัคซีน mRNA และชุดตรวจ Rapid Test ฟรีและถ้วนหน้า

  1. เร่งรัดการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ให้ได้เร็วที่สุด โดยใช้เป็นวัคซีนหลักเพื่อนำมาฉีดฟรีและถ้วนหน้าสำหรับทุกคน และเพื่อเป็นวัคซีนฉีดกระตุ้นเข็ม 3 แก่บุคลากรทางการแพทย์
  2. การจัดหาชุดตรวจ Rapid Antigen Test ฟรีและถ้วนหน้าสำหรับทุกคน เนื่องจาก ชุดตรวจราคา 300-400 บาท เทียบเท่าค่าแรงขั้นต่ำถือว่าสูงเกินไป ในขณะที่เยอรมนีมีขายตามร้านขายยาในราคา 0.80-4 € (ประมาณ 20-150 บาท) ในเดนมาร์กมีจุดรับตรวจด้วย Rapid Test และ PCR ฟรี รวม 613 แห่งทั่วประเทศ สามารถเข้าไปตรวจได้โดยไม่ต้องนัดหมาย และหลายประเทศใช้ชุดตรวจ Rapid Test เพื่อแยกผู้ติดเชื้อให้เร็วที่สุด หากได้ผลบวกจะตรวจแบบ PCR ซ้ำ Rapid Test จึงเป็นอุปกรณ์ที่ต้องแจกจ่ายให้ถึงประชาชน ทั้งแจกฟรี จำหน่ายราคาถูก และจัดส่งถึงบ้าน
  3. เปิดเผยสัญญาการสั่งซื้อวัคซีน AstraZeneca และ Sinovac รวมถึงวัคซีนอื่น ๆ ทุกขั้นตอนการดำเนินการ เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาการระบาดอย่างแท้จริง

2) ยกระดับล็อกดาวน์ต้องยกระดับเยียวยาเร่งด่วน

  1. การเยียวยาประชาชนที่มีอายุเกิน 18 ปี ด้วยเงินรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic income หรือ UBI) เดือนละ 5,000 บาท อย่างน้อย 3 เดือน
  2. มาตรการด้านสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัย ลดค่าใช้จ่าย อย่างน้อย 6 เดือน ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าประปา ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าทางด่วน ค่าโดยสาร ค่าเช่าบ้าน ค่าหน่วยกิตมหาวิทยาลัย ในกรณีที่ดินทำกิน/ที่อยู่อาศัย ห้ามการไล่-รื้อในกรณีที่ไม่มีค่าเช่าบ้าน รวมทั้งห้ามขับไล่ประชาชนออกจากที่ดินรัฐ ในช่วงที่ไม่สามารถรวมตัวเช่นสถานการณ์ปกติได้
  3. มาตรการด้านหนี้สิน/สินเชื่อ พักการชำระหนี้สินและดอกเบี้ย 1 ปี ได้แก่ หนี้สินบุคคล บ้าน รถ การศึกษา กยศ. และยุติการคำนวณดอกเบี้ย ระงับการฟ้องคดีล้มละลายบุคคลและนิติบุคคลขนาดเล็ก
  4. มาตรการแรงงาน (1) กรณีนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานหรือราชการสั่งปิด ให้นายจ้างและรัฐร่วมจ่ายเงินให้ลูกจ้างรวมเป็น 100% (2) ผู้ประกันตน มาตรา 33 กรณีนายจ้างสั่งหยุดงานชั่วคราวโดยมิใช่เหตุสุดวิสัยแต่เป็นเหตุอื่นตามมาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้าง 75% โดยให้รัฐจ่ายส่วนต่างอีกจำนวน 25% (3) การลดเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 โดยรัฐจ่ายสมทบแทน (4) สนับสนุนแรงงานอิสระ แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 โดยรัฐจ่ายสมทบให้ช่วงโควิดและส่งเสริมให้เข้าสู่ประกันสังคมทั้งหมด

3) สร้างรัฐสวัสดิการ ปรับงบประมาณ 2565 ตัดงบอาวุธ และเก็บภาษีคนรวย

  1. การสร้างรัฐสวัสดิการ จากงบประมาณประจำปี 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท โดยจัดลำดับความสำคัญเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์โควิด การตัดงบประมาณอาวุธ และเพิ่มงบประมาณสวัสดิการประชาชน
    1. การตัดงบประมาณอาวุธ จะทำให้มีวัคซีน Pfizer สำหรับประชาชนกว่า 28 ล้านคน 1) เรือดำน้ำ 2 ลำ (22,500 ล้านบาท) ได้วัคซีน 18.5 ล้านคน 2) รถยานเกราะ Stryker 20 คัน (1.8 พันล้านบาท) รถถังหลัก VT-4 10 คัน (1.9 พันล้านบาท) ได้วัคซีน 3.04 ล้านคน 3) เครื่องบินโจมตี AT-6TH 8 ลำ (4.5 พันล้านบาท) ดาวเทียม#Microsat 2 ดวง (1.4 พันล้านบาท) จรวดต่อสู้อากาศยาน (2.2 พันล้านบาท) ได้วัคซีน 6.65 ล้านคน
    2. นโยบายสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า
      1. เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า เด็กแรกเกิด 0-6 ปี กว่า 4.2 ล้านคน ได้เงินอุดหนุนจำนวน 600 บาท/เดือน เฉพาะครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท/ปี ทำให้เด็กได้รับเงินเพียง 1.4 ล้านคน รัฐต้องจัดเงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้า ซึ่งจะใช้งบประมาณ 30,533.98 ล้านบาท จากงบเดิม 13,074 ล้านบาท
      2. ประกันสังคมคนทำงานถ้วนหน้า แรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ แรงงานภาคเกษตร กว่า 20 ล้านคน เข้าถึงประกันสังคม มาตรา 40 เพียง 3.3 ล้านคน รัฐควรจูงใจให้แรงงานอิสระ 17 ล้านคน เข้าสู่ประกันสังคม โดยจ่ายเงินสมทบให้ 3 เดือน เดือนละ 100 บาท ใช้งบประมาณการ 5,100 ล้านบาท
      3. บำนาญผู้สูงอายุถ้วนหน้า ผู้สูงอายุ 12.04 ล้านคน รัฐต้องพัฒนาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-1000 บาท เป็นเงินบำนาญ โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน ทั้งนี้ หากเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพเท่ากัน 1,000 บาท ตามนโยบายพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ จะใช้งบประมาณ 144,480 ล้านบาท จากงบเดิม 80,970 ล้านบาท
      4. เงินคนพิการถ้วนหน้า คนพิการ 2 ล้านคน ได้รับเบี้ยพิการ 800 บาท ส่วนคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้เพิ่ม 200 บาท โดยมีคนพิการ 8.8 แสนคน ได้รับ 800 บาท รัฐต้องพัฒนาเบี้ยความพิการโดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน ทั้งนี้ หากเพิ่มเบี้ยยังชีพ 1,000 บาท จะใช้งบ 24,000 ล้านบาท จากงบเดิม 19,023 ล้านบาท
    3. การปฏิรูประบบภาษีและภาษีความมั่งคั่ง
      1. การปฏิรูประบบภาษี ได้แก่ (1) การปรับปรุงการลดหย่อนและการยกเว้นภาษี ซึ่งมีลักษณะที่ผู้มีรายได้น้อยอุดหนุนและเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีรายได้สูง (2) การจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีที่ดิน ภาษีเงินได้ (3) การจัดเก็บภาษีผลได้จากทุน (Capital Gains Tax) (4) ภาษีมรดก
      2. ภาษีความมั่งคั่งคนรวย 1% การจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับธนาคารโลกที่แนะนำให้รัฐบาลปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้สำหรับผู้ที่มีฐานะร่ำรวย เพื่อนำไปช่วยชำระหนี้มูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท จากการประเมินของ นักวิชาการ การเก็บภาษีความมั่งคั่งที่อัตรา 3.5% กับมหาเศรษฐี 10 อันดับแรก จะเก็บภาษีได้ประมาณการ 125,000 ล้านบาท มหาเศรษฐี 50 อันดับแรก จะเก็บได้ประมาณการ 185,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้สังคมไทยได้บทเรียนว่า “สวัสดิการถ้วนหน้า” สามารถเยียวยาผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลหลายประเทศไม่เพียงมีมาตรการเยียวยา แต่มีนโยบายสวัสดิการสังคมตามแนวคิดรัฐสวัสดิการ การเข้าถึงสิทธิเสมอกันไม่แบ่งแยก การพัฒนาหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคมคนทำงาน ระบบบำนาญผู้สูงอายุ รวมทั้งระบบเงินเดือนถ้วนหน้า เพื่อรองรับประชาชน นับตั้งแต่ความเดือดร้อนอันดับแรก ได้แก่ หน้ากากอนามัย รายได้ที่สูญเสีย ชุดตรวจโรค วัคซีนที่มีคุณภาพ จนถึงเตียงในการรักษาพยาบาล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active