“กรมการแพทย์” เผย ผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว รักษาที่บ้านแล้วกว่า 70 คน

ระดมแพทย์ต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ รับมือผู้ติดเชื้อกว่าพันคนต่อวัน “กรมแพทย์แผนไทยฯ” เปิดผลวิจัยยาฟ้าทะลายโจร ช่วยสะกัดเชื้อลงปอด ชี้ หากได้รับภายใน 72 ชม. หรือกินติดต่อ 5 วัน หายป่วย 

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 1,000 พันคนต่อวัน ทำให้สถานการณ์เตียงรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ค่อนข้างตึงตัว ทั้งเตียงดูแลผู้ป่วยอาการสีเขียว สีเหลือง และสีแดง 

“นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์” อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ความพยายามในการเพิ่มเตียงไอซียู สำหรับผู้ป่วยสีแดงมีความคืบหน้าไปมาก จากความพร้อมของ “แพทย์ประจำบ้าน” ที่กระทรวงสาธารณสุขส่งมาช่วย และเริ่มมีการระดมบุคลากรทางการแพทย์จากต่างจังหวัดเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยในกรุงเทพมหานคร

อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายต่อไปว่า หากกรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อจำนวน 1,000 คนต่อวัน คาดว่าจะมีผู้ป่วยหนักอยู่ที่จำนวน 30 คน ที่ต้องใช้เตียง ไอซียู และมีผู้ติดเชื้อ 2,000 คน จะต้องใช้เตียงไอซียู 60 เตียงต่อวัน นั่นหมายความว่าเวลารักษาตัว 14 วัน คูณด้วย 60 เตียง เท่ากับต้องมีเตียง 800 เตียง หากถึงจุดการอาจต้องเอาคนไข้กระจายไปอยู่ในต่างจังหวัด

ในส่วนกรมการแพทย์ ทดลองให้โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลนพรัตน์ธานี นำร่องให้ผู้ป่วยสีเขียวกักตัวอยู่ที่บ้าน โดยมีหลักเกณฑ์ คือ ต้องเป็นผู้ป่วยที่อายุไม่เกิน 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัวร่วม ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย และสามารถที่จะแยกกักตัวที่บ้านได้ตามความสมัครใจ เช่น มีห้องนอนที่นอนคนเดียว ห้องน้ำต้องเข้าเป็นคนสุดท้าย และทำความสะอาดทุกครั้ง

นอกจาก “Home isolation” แล้วยังมี “Community isolation” สำหรับชุมชนแออัด โดยใช้พื้นที่ วัด หอประชุมโรงเรียน หรือจะเป็นโรงงาน เป็นสถานที่พักคอยหรือแยกกักผู้ติดเชื้อระดับสีเขียว ทั้งสองส่วนนี้จะสามารถบรรเทาเรื่องเตียงสีเขียวในโรงพยาบาลสนามได้พอควร และปรับเตียงสีเขียวเพื่อรองรับผู้ป่วยระดับสีเหลือง ที่มีอาการ และต้องอยู่ในความอดูแลของแพทย์ พยาบาลอย่างใกล้ชิด 

“ปัจจุบันมีผู้ป่วยระดับสีเขียว 2 กลุ่มที่ใช้แนวทางการรักษาแบบ Home isolation คือ 1. ผู้ป่วยระดับสีเขียวรายใหม่ 2. ผู้ป่วยระดับสีเขียวที่รักษาตัวในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามครบ 10 วัน แล้วให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านอีก 4 วัน”

“นพ.สมศักดิ์” ระบุว่า หลังจากผู้ติดเชื้อโทร 1668 เพื่อหาเตียงรักษา เจ้าหน้าที่จะประเมินผู้ติดเชื้อเป็นระดับสี พร้อมตัดชื่อผู้ป่วยพร้อมกับเบอร์โทรศัพท์ไปยังโรงพยาบาล จากนั้นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะโทรไปคุยกับผู้ป่วย และประเมินอีกครั้งหนึ่งและถามความสมัครใจ สอบถามรายละเอียดทั้งหมดแล้วเข้าได้หรือไม่ได้ หากผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สามารถทำ Home isolation ได้จะแจกปรอทวัดไข้ ที่เสียบนิ้ววัดออกซิเจน และทุกเช้าเย็นแพทย์ก็จะคุยทางออนไลน์ หากนับตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. 2564 ให้ผู้ป่วยสีเขียวรักษาตัวที่บ้าน เฉพาะในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์มีผู้ป่วยสมัครใจ Home isolation แล้ว ณ วันที่ 30 มิ.ย. แล้วจำนวนกว่า 70 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ สปสช. ยังสนับสนุนค่ารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน Home isolation ด้วยการจ่ายค่าอุปกรณ์วัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนสำหรับคนไข้ที่ไปใช้ที่บ้าน 1,100 บาท และค่าอาหาร 3 มื้อไม่เกิน 1,000 บาทต่อวัน หากอาการทรุดลงจะส่งยาฟ้าทะลายโจร และยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้านหรือส่งรถไปรับมานอนที่โรงพยาบาล 

“ฟ้าทะลายโจร” ยารักษาโควิด-19 

หลังยา “ฟ้าทะลายโจร” ถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาสามัญประจำบ้านมาตั้งแต่ปี 2542 เมื่อเกิดการระบาดโรคโควิด-19 ปีที่แล้ว การศึกษาด้วยการใช้โครงสร้างเชิงคอมพิวเตอร์พบว่า ฟ้าทะลายโจร มีองค์ประกอบของสารหลายตัวที่มีแนวโน้มว่าจะไปยับยั้งการแพร่ตัวของไวรัสโควิด-19 ได้

“พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์” อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยข้อมูลงานวิจัยประสิทธิภาพของฟ้าทะลายโจรที่สะท้อนไปในเชิงว่าน่าจะป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่เซลล์ด้วยซ้ำไป และทำให้เชื้อไม่สามารถแบ่งตัวต่อได้ในเซลล์ 

ด้วยความสงสัยตรงนี้ นักวิทยาศาสตร์ไทยก็ไปค้นคว้าข้อมูลในต่างประเทศทำอะไรมากแค่ไหน พบว่า เคยนำฟ้าทะลายโจรไปหาฤทธิ์ในการต้านไวรัสหลายตัว เช่น กลุ่มของไข้หวัด นอกจากนี้ ยังพบว่าฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญที่นอกจากจะช่วยต้านไวรัสที่ดีแล้ว ยังมีฤทธิ์ในการลดไข้ แก้อักเสบ และเร่งให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีมากขึ้น

“เมื่อคำตอบในการรักษาโควิด-19 ยังไม่มี และฟ้าทะลายโจรเป็นคำตอบได้ในระดับหนึ่ง แม้ฟ้าทะลายโจรไม่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ แต่ในทางกลับกันเมื่อเชื้อเข้าไปในเซลล์แล้วพอมาเจอฟ้าทะลายโจร ปรากฏว่าไม่มีการแตกตัวเพิ่มจำนวนไม่ได้ สุดท้ายด้วยอายุของเขาก็จะสลายหายไป  จึงได้ข้อสรุปว่า น่าจะรักษาได้”

หลังจากนั้นกรมการแพทย์แผนไทยฯ​ เริ่มศึกษาต่อในคน ถ้าใช้ยาฟ้าทะลายโจรในขนาดสูงพอจะทำให้ไวรัสถูกจัดการได้ จากการทดลองในผู้ป่วยจริง 60 คน กลุ่มหนึ่งรับยาฟ้าทะลายโจร อีกกลุ่มเป็นยาหลอก เปรียบเทียบกันในการรักษาปรากฏว่ากลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจร 30 คนกินยาไปอาการดีวันดีคืน ให้กินติดต่อกัน 5 วัน กลุ่มที่ได้ฟ้าทะลายโจรทั้ง 30 คนร่างกายสบายดีและกักตัวต่อให้ครบ 14 วันกลับบ้านได้หมด ขณะที่อีก 30 คนสิ้นสุดการศึกษา 5 วันเป็นปอดบวม 2 คน

เมื่อพิจารณาจากผลข้างเคียงต่อตับและไต พบว่ายาฟ้าทะลายโจรมีความปลอดภัยสูง จึงขยายผลศึกษากับผู้ป่วยอีก 300 คน พบเพียง 2 คนที่เป็นปอดบวม คนแรกได้รับยาฟ้าทะลายโจรช้า หลังป่วยไปแล้ว 10 วัน อีกคนได้ยาขนาดน้อยเกินไปจาก 180 mg แต่ให้เพียง 90 mg ตรงกับทฤษฎีการรักษาโรคติดเชื้อ ว่าจะต้องให้ยาจำนวนมากและให้เร็วจะสามารถกำราบเชื้อได้ดีกว่า

จากผลการศึกษาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขจึงเพิ่มข้อบ่งชี้ในบัญชียาหลักว่า“ฟ้าทะลายโจร” ใช้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยได้ ขณะที่เมื่อเปรียบเทียงกับ “พาราเซตามอล” พบผลข้างเคียงมีพิษต่อตับเกินวันละ 10 กว่าเม็ด ถึงขั้นเสียชีวิต ปัจจุบันจึงขอให้ลดขนาดลงเหลือกินเพียงเม็ดเดียวทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ฟ้าทะลายโจร ไม่ได้เป็นพิษต่อตับแต่มีฤทธิ์ในการปกป้องเซลล์ตับด้วยซ้ำไป

“ผู้ติดเชื้อ ที่เป็นผู้ต้องขังในราชทัณฑ์ ส่วนใหญ่ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาให้ผลดีกว่า พาราเซตามอล เพราะไม่เพียงแต่ช่วยลดไข้  ยังช่วยลดอาการไม่สบายตัวเช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม หรือเจ็บคอได้อีกด้วย แต่มีผลข้างเคียงคือถ่ายบ่อยและทำให้ท้องเดิน” 

ส่วนข้อควรระวังการใช้ยาฟ้าทะลายโจร ไม่ควรใช้กับสตรีตั้งครรภ์ และให้นมบุตรส่วนผู้ไม่ได้มีโรคประจำตัวใด ๆ ไม่ได้กินยาอะไรประจำ เป็นคนแข็งแรงดี “พญ.อัมพร” ระบุว่า ทันทีที่ติดเชื้อ ยิ่งกินยาฟ้าทะลายโจรได้เร็ว ยิ่งดี 

จากการศึกษาของกรมฯ พบว่าให้ภายใน 72 ชั่วโมงแรก หลังจากการติดเชื้อหากได้รับยาฟ้าทะลายโจร จะได้ผลดี และหากกินติดต่อเพียง 5 วันเท่านั้น เตรียมตัวหายป่วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS