ห่วงความเหลื่อมล้ำการเรียนรู้เด็กพื้นที่สีแดงเข้ม แนะ ออกแบบการสอนใหม่

ครูยูทูบเบอร์ช่อง “ครูนกเล็ก” และ “อ.ฮูก อรรถพล” ประสานเสียง เปิดเทอมโควิด-19 ต้องก้าวให้พ้นคำว่า “รับมือ” ชง รัฐบาลปูพรมฉีดวัคซีนครูอนุบาล-ประถม หวังเปิดโรงเรียนกู้วิกฤตความรู้ถดถอย เสนอ “ผอ.” ร่วมชั้นเรียนแทนกดดันครูส่งรายงานการสอน

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ยังไม่ลดและมีแนวโน้มเพิ่ม ส่อเค้าสถานการณ์ด้านการศึกษาไทยในพื้นที่ระบาดหนัก มีโอกาสต้องเรียนทางไกลตลอดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 หลังจากเริ่มเปิดภาคเรียนตั้งแต่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา

Active Talk พูดคุยกับ จีรภัทร์ สุกางโฮง ยูทูบเบอร์เจ้าของช่อง “ครูนกเล็ก” ที่มีผู้ติดตามกว่า 8.9 ล้านคน และ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักการศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็น “สอนออนไลน์สุดปัง ความหวังผู้ปกครองยุคโควิด-19”

จีรภัทร์ สุกางโฮง หรือ ครูนกเล็ก กล่าวถึงการสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบางมด (ตันเปาว์วิทยาคาร) เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ ว่าขณะนี้ยังคงใช้วิธีสอนออนไลน์ แม้นักเรียนส่วนใหญ่จะมีความพร้อม แต่ก็พบปัญหาว่าเด็กส่วนหนึ่งต้องรอผู้ปกครองเลิกงานถึงจะมีอุปกรณ์ติดตามบทเรียน และแม้ว่าตนจะเป็นครูพร้อมสอนออนไลน์ เพราะผ่านการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีจนชำนาญมาตั้งแต่ก่อนมีสถานการณ์โควิด-19 หลายปี และสามารถทำให้นักเรียนเกือบทุกคนเรียนออนไลน์ได้ แต่วิธีการนี้ก็ยังไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดสำหรับนักเรียน ป.1 เนื่องจากการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็กวัยนี้ ควรเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเพื่อน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ หรือ Active Learning

“ปฏิสัมพันธ์มันหายไป แม้เราจะพยายามทำให้เกิดการเรียนรู้ สมมติว่าในสถานการณ์เดียวกัน ถ้าเด็กเรียนในห้องเรียน เวลาไม่เข้าใจจะถามเพื่อนและแนะนำกันเองภาษาเด็ก แต่พอเรียนอยู่หน้าจอ จะเหลือเพียงการถามครู ความเข้าใจเนื้อหาที่ควรติดตัวอาจขาดหายไป ทุกวันนี้ก็พยายามจะทำให้เด็ก ๆ ได้ความรู้มากที่สุดเท่าที่ครูคนนี้จะทำได้ เพราะเปิดเทอมรอบนี้ ไม่ควรแค่ประคับประคองแล้ว แต่มันคือความพยามทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้”

ด้านหนึ่ง ครูนกเล็ก มีความเป็นห่วงนักเรียนในพื้นที่สีแดงเข้ม กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ที่ยังไม่มีใครตอบได้ว่าจะสามารถไปโรงเรียนได้เมื่อไร โดยมองว่า หากตลอดเทอมนี้ต้องเรียนทางไกลอย่างเดียว คาดการณ์ว่าจะเกิด “ภาวะความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ที่รุนแรง” ของเด็กที่มีความพร้อมกับเด็กที่ไม่พร้อมเรียนรู้นอกโรงเรียน

“อันนี้ที่มองไว้เลยคือความรู้ของเด็กชั้นเรียนเดียวกันจะไม่เท่ากัน ซึ่งจะเป็นอะไรที่เด็กปรับตัวยากมาก คนนี้ไปขนาดนี้แล้ว คนหนึ่งยังเตาะแตะ ๆ อีกคนอ่านออกเขียนเขียนได้ ประสมตัวสะกดได้ อีกคนแค่ประประสมสระยังไม่คล่องเลย มันจะเกิดข้อแตกต่างแบบนี้เลย”

ชงรัฐบาลให้ครูโรงเรียนอนุบาล-ประถมศึกษา ได้วัคซีนโควิด-19 ก่อน

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาในสถานการณ์โควิด-19 มีนโยบายให้ครูกับเด็กโรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษาได้วัคซีนก่อน จะไม่ปล่อยให้เด็กปฐมวัยกับประถมศึกษาใช้การเรียนออนไลน์หรือเรียนทางไกลเด็ดขาด ยกตัวอย่างเช่น ฟินแลนด์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา

“โรงเรียนประถมคือเด็กกลุ่มแรกที่ควรได้ไปโรงเรียน เพราะโรงเรียนไม่ใช่แค่สถานที่เรียน แต่เป็นพื้นที่การใช้ชีวิตของเด็ก ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ ถ้าตอนนี้พ่อแม่ต้องทำมาหากินด้วย ดูแลลูกที่บ้านด้วย เป็นภาระที่ใหญ่มาก ฉะนั้นโรงเรียนอนุบาล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและศูนย์รับเลี้ยงจะต้องเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้วัคซีน ครูและครอบครัวต้องได้รับร้อยเปอร์เซ็นก่อน แล้วมาเฝ้าระวังรักษาบรรยากาศให้ไปโรงเรียนได้มากที่สุด แล้วให้มัธยมมีสัดส่วนเรียนทางไกลมากขึ้น”

ผศ.อรรถพล เห็นว่า ปัจจุบันการศึกษาใช้นโยบายเดียวกันทั้งโรงเรียน โดยแบ่งตามระดับสีการระบาด แต่ตนมองว่าควรจัดลำดับความสำคัญใหม่ตามพัฒนาการเรียนรู้แต่ละช่วงวัย ซึ่งเห็นพ้องกับ ครูนกเล็ก ว่าปีการศึกษา 2564 ไม่ควรจัดการเรียนรู้ในระดับประคับประคอง แต่ควรซ่อมเสริมความรู้ที่หายไปในช่วงวิกฤตที่ผ่านมาและเติมความรู้ใหม่ได้

“โควิด-19 ระลอกปีที่แล้ว เป็นการทดลองระบบ ลองผิดลองถูก ยังไม่ใช่การเรียนจริงจัง แต่ทดลองเรียนช่วงปิดเทอม คิดว่าตอนนี้ต้องมี Mindset กันใหม่ ไม่ควรคิดว่าสอนประคอง ๆ แล้วเป็นช่วงเวลาที่ต้องชวนตั้งหลัก”

แนะออกแบบการเรียนการสอนใหม่ ผู้บริหารร่วมชั้นเรียนแทนครูรายงาน

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักการศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นักการศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อไปว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้จัดเวทีสัมมนาออนไลน์ของสมาคมครูสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่มีครูเข้าร่วมกว่า 500 คน ข้อสรุปซึ่งตรงกันในการสอนซ่อมเสริมความรู้ที่หายไปและการเติมความรู้ใหม่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 หัวใจสำคัญคือการออกแบบการเรียนรู้ใหม่ให้เด็กพร้อมรับความรู้มากที่สุด เช่น ปรับตารางเรียนใหม่เหลือวันละ 2-3 วิชา แทนการเรียนวันละ 7-8 คาบ สำรวจวิชาหรือตัวชี้วัดที่พอจะโยกไปเรียนเทอมหน้าได้ ถ้าเด็กไม่สามารถเรียนออนไลน์จะมีช่องทางติดต่อกันอย่างไร

“เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเสริม ไม่ใช่หัวใจ หัวใจคือการออกแบบการเรียนการสอนใหม่ แล้วเลือกเทคโนโลยีมาหนุนเสริม ต้องทำหลักสูตรโรงเรียนกันใหม่ อย่าเพิ่งกระโจนไปที่บทเรียนใหม่ เรามาจูนกันก่อนว่าเทอมที่แล้วเราเรียนอะไรกันไปแล้วบ้าง ตอนนี้เริ่มที่ตรงไหน เพื่อจะได้วางแผนเดินหน้ากันถูก ถ้ากระโจนบทเรียนใหม่เลยโดยไม่ดูต้นทุนของเด็ก บางทีความเร็วของเรากับความเร็วในการเรียนรู้ของเด็กต่างกันเยอะจะทำให้เด็กเสียโอกาสไป”

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะเดินหน้าได้ จำเป็นต้องมีแรงส่งจากผู้บริหารที่ทำความเข้าใจครูระดับปฏิบัติการซึ่งอยู่หน้างาน โดยเฉพาะผู้บริหารการศึกษาระดับกลาง อย่างผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา

“มันมีเรื่องย้อนแย้ง ปีนี้รัฐมนตรี ศธ. ท่านใหม่ ก็พยายามจะบอกว่าไม่บังคับครู ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการเดียวกัน ให้อิสระ ปรากฏว่าก็ไม่เคยได้รับอิสระ ยังมีการบังคับให้เขียนรายงานการจัดการเรียนการสอน หลายครั้งไม่ได้สั่งการมาจากกระทรวงส่วนกลาง เสียงสะท้อนของครูในรายงานปีที่แล้ว เอาไปทำอะไรในปีนี้บ้าง เช่น เยี่ยมบ้านเด็กร้อยเปอร์เซ็นไปแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีโทรทัศน์มาให้ โรงเรียนก็ยังไม่ได้คอมพิวเตอร์เพิ่ม”

ผศ.อรรถพล เสนอว่า วิธีการติดตามการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่ดีที่สุด คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการ เข้าร่วมห้องเรียนอย่างน้อยวันละ 2 ห้อง วิธีนี้จะทำให้มองเห็นโจทย์ในการสนับสนุน เพราะเห็นว่าครูมีวิธีการสอนอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นทั้งกับครูและนักเรียนอย่างไร หากผู้อำนวยการเขตฯ ต้องการกำกับติดตาม ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนทำหน้าที่รายงาน และควรมีช่วงเวลาสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูทั้งโรงเรียน

สอดคล้องกับ ครูนกเล็ก ที่เห็นว่ามีอีกหลายวิธีนอกจากให้ครูถ่ายรูปขณะสอนเพื่อเก็บรายงาน

จีรภัทร์ สุกางโฮง ยูทูบเบอร์เจ้าของช่อง “ครูนกเล็ก”

โควิด-19 ตัวเร่งปรับภูมิทัศน์การศึกษา

เปิดเทอม 1 ปีการศึกษา 2564 นักเรียนพื้นที่สีแดงเข้มยังไม่ได้ไปโรงเรียน อุปสรรคเด็กไม่พร้อม ครูสอนไม่ถนัด ผู้ปกครองกังวลสอนลูกแทนครูไม่ได้ กลัวความรู้ไม่คืบ แต่ก็กลัวโควิด-19 ที่โรงเรียน เหล่านี้ “นักศึกษา และ ครูยูทูบเบอร์” เห็นว่ามีทั้งโจทย์ปัญหาเดิมที่สถานการณ์โรคระบาดทำให้ปัญหาการศึกษาหนักขึ้น เช่น ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการเรียนรู้ แต่ในมุมกลับโควิด-19 ก็มาช่วยเขย่าให้เห็นว่ามีอะไรบ้างที่การศึกษาไทยต้องเร่งปรับตัว และต้องเร่งติดตั้งการเรียนรู้แบบใหม่เพื่อเติมความรู้ใหม่ ๆ ในระบบการศึกษาที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ยังไม่ลดและมีแนวโน้มเพิ่ม

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม