วราวุธ แสดงความเห็น “เสียใจและเสียดายที่คนทิ้งไม่มีสำนึก” ลั่น จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เปรียบ เหมือนทุบหม้อข้าวตัวเอง
15 มิ.ย. 2564 – กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เตรียมระดมนักดำน้ำอาสากู้ซากอวนขนาดใหญ่ที่ปกคลุมแนวปะการังทางทิศตะวันตกของเกาะโลซิน จ.ปัตตานี และสำรวจประเมินผลกระทบในช่วงวันที่ 18-21 มิ.ย. นี้ พร้อมเปิดเผยว่า จะร่วมมือกับ Second Life (The purpose of the project) สำนักงานประเทศไทย และสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ว่า Second Life มีความพร้อมและประสงค์จะรับซื้ออวนที่เก็บกู้แล้วในราคา 6 บาท ต่อกิโลกรัม รวมทั้งจะรับผิดชอบในการขนส่งอวนจาก จ.ปัตตานี ไปยังโรงงานของวงษ์พาณิชย์ กระบี่ เพื่อรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต่อไป อันจะเป็นขั้นตอนการจัดการขยะทะเลอย่างครบวงจร
ส่วนการดำน้ำเพื่อเก็บกู้อวนจะมีนักดำน้ำอาสาสมัครระดับมาสเตอร์เป็นจำนวนมาก แบ่งเป็นระดับ Master 20 คน และระดับ open อีก 10 คน นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ยังขอรับการสนับสนุนเรือเครนจาก กองทัพเรือภาคที่ 2 จ.สงขลา (เรือ ต.911) และนักดำน้ำกองทัพเรือระดับมาสเตอร์อีก 11 นาย เพื่อร่วมภารกิจนี้ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้บัญชาการกองทัพเรือเรียบร้อยแล้ว
โดยซากอวนดังกล่าว ถูกค้นพบโดยนักท่องเที่ยวที่ไปดำน้ำบริเวณแนวปะการัง เกาะโลซิน เมื่อวันที่ 11-13 มิ.ย. ที่ผ่านมา และได้พบซากเครื่องมือประมงประเภท อวนขนาดใหญ่ ถูกตัดทิ้งปกคลุมแนวปะการัง ทางทิศตะวันตกของเกาะ และได้ลงภาพที่เกิดขึ้นเผยแพร่ในสื่อออนไลน์
โดยต่อมา วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าไปแสดงความเห็นในเฟซบุ๊ก IMAN Camera ว่า เสียใจและเสียดายที่คนทิ้งไม่มีสำนึก และได้สั่งให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งดำเนินการเอาออกแล้ว
“ใครพบเห็นการกระทำผิดเช่นนี้ขอให้แจ้งมานะครับ ผมจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด วันใดที่ทะเลไทยไม่เหลืออะไรแล้วคนพวกนี้ถึงจะรู้สำนึกได้ว่าได้ทุบหม้อข้าวตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว”
เปิด 2 กฎกระทรวง คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2564 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ เพื่อประกาศพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริเวณเกาะโลซิน ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี และบริเวณหมู่เกาะกระ (กระใหญ่ กระกลาง กระเล็ก) ต.ปากพนังฝั่งตะวันออก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อสงวนไว้ซึ่งสภาพธรรมชาติเดิม ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของปะการังและสัตว์ทะเลหายากในฝั่งอ่าวไทย
สำหรับสาระสำคัญในกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง กำหนดกิจกรรมที่ห้ามกระทำ อาทิ ห้ามทำเหมืองแร่ในทะเล ห้ามทำให้เกิดมลพิษ เช่น ปล่อยน้ำเสีย หรือสิ่งปฏิกูล ห้ามขุดลอกร่องน้ำ ห้ามถมทะเล ห้ามทำกิจกรรมที่เป็นการทำลายหรือเป็นอันตรายตลอดจนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของแนวปะการัง ซากปะการัง กัลปังหาสัตว์น้ำในแนวปะการัง และสัตว์ทะเลหายาก