ยูนิเซฟ ห่วงเด็กถูกแยกกักตัว

แนะ ควรลดการแยกเด็กจากครอบครัว และส่งเสริมให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันมากที่สุด หากพบเด็กถูกทิ้งไว้เพียงลำพัง แจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300

9 มิ.ย. 2564 – องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เสนอมาตรการดูแลเด็กติดเชื้อโควิด-19 หรือเด็กที่มีความเสี่ยงสูง หลังการแพร่ระบาดในปัจจุบัน ส่งผลให้มีเด็กและผู้ดูแลหลักของเด็กติดเชื้อจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของตัวเด็กโดยตรง ขณะที่มาตรการที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การกักตัวผู้มีความเสี่ยงสูง และการให้เข้ารักษาในสถานพยาบาล ทำให้เด็กมีโอกาสที่จะถูกแยกจากครอบครัว ส่งผลเสียต่อความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็ก

โดยแนวทางปฏิบัตินี้นำมาจากแนวปฎิบัติสากลของยูนิเซฟ เรื่อง “การกักหรือแยกตัวเด็ก: การคุ้มครองและป้องกันการแยกเด็กจากครอบครัวในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19” ซึ่งปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย โดยต้องการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อเด็ก

แนวปฏิบัติดังกล่าว ระบุว่า การตัดสินใจแยกเด็กที่ติดเชื้อหรือกักตัว ควรคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก โดยไม่ควรขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ควรประเมินแบบองค์รวมโดยคำนึงถึงผลกระทบอื่นที่อาจเกิดขึ้นจากการแยกเด็กออกจากครอบครัวด้วย เช่น ความเครียดที่เกิดจากการต้องปรับตัว การต้องไปอยู่กับผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ที่อาจเป็นญาติไม่สนิท หรือการที่กิจวัตรต่าง ๆ ที่เด็กเคยทำอาจต้องเปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่เด็กจะเผชิญกับความรุนแรง การถูกทำร้าย การถูกละเลย และการถูกแสวงประโยชน์ในระหว่างที่ต้องถูกแยกจากครอบครัว

ทั้งนี้ มาตรการแยกหรือกักตัวหรือการดูแลเด็กที่เฉพาะเจาะจงใด ๆ ควรพิจารณาเป็นรายกรณี โดยขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วย ความจำเป็นที่ต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค และสภาพที่บ้าน รวมถึงการมีผู้ที่มีความเสี่ยงอยู่ในครัวเรือน

ด้าน คิม คยองซัน ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ยูนิเซฟยินดีที่กรมอนามัยได้เป็นผู้นำในการดำเนินการให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน และยึดเอาประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก ตามที่ได้ระบุไว้ในแนวทางปฏิบัติของยูนิเซฟ และมาตรการใด ๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากการติดเชื้อควบคู่ไปกับผลกระทบด้านอื่น ๆ เช่น สุขภาพจิตของเด็กด้วย 

“การที่เด็กต้องอยู่ลำพังโดยไม่มีผู้ดูแลที่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเกิดจากการที่เด็กติดเชื้อหรือพ่อแม่ผู้ดูแลติดเชื้อ จะส่งผลให้เด็กต้องถูกพรากจากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นชิน อีกทั้งยังส่งผลกระทบทางจิตใจของเด็ก และเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะถูกละเลยทอดทิ้งหรือเผชิญความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย จึงไม่ควรมีเด็กคนใดควรถูกทิ้งไว้ตามลำพัง เราควรดำเนินการเพื่อให้เด็กสามารถได้อยู่กับครอบครัวได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ส่วนแนวปฏิบัติของยูนิเซฟ แนะนำว่า ในกรณีที่เด็กติดเชื้อ เมื่อเด็กต้องถูกแยกตัวหรือกักตัวหรือรับการรักษาในโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม ควรอนุญาตให้ผู้ดูแลหรือสมาชิกที่เป็นผู้ใหญ่คนอื่นในครอบครัวที่เด็กคุ้นเคยไปอยู่กับเด็กด้วย ในกรณีที่จำเป็นต้องแยกเด็กจากครอบครัว ควรเลือกสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านเด็กมากที่สุด และต้องมีการจัดทำข้อมูลรายบุคคลของเด็ก ตลอดจนจัดให้มีการสื่อสารระหว่างเด็กและผู้ปกครองเป็นประจำทุกวัน

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรติดต่อเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กก่อนแยกเด็กออกจากครอบครัว เพื่อให้การดูแลเด็กเป็นไปตามมาตรฐานการคุ้มครองเด็ก อีกทั้งควรมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลหรืออาสาสมัครอื่น ๆ เพื่อสามารถดูแลให้เด็กปลอดภัยได้รับการคุ้มครอง และได้รับการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม

ส่วนกรณีที่พ่อแม่หรือผู้ดูแลหลักติดเชื้อและต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ควรจัดให้เด็กได้อยู่ภายใต้การดูแลของครอบครัวขยายหรือคนรู้จักของครอบครัวที่เชื่อถือได้ ซึ่งได้รับการระบุตัวโดยผู้ดูแลหลักของเด็ก ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการแยกเด็กจากครอบครัว ต้องมีการจัดทำเอกสารรายละเอียดทั้งหมดของตัวเด็กและครอบครัว และจัดให้มีการติดต่อระหว่างเด็กและครอบครัวเป็นประจำและสม่ำเสมอ

ส่วนในกรณีเด็กถูกทิ้งไว้เพียงลำพัง ผู้พบเห็นต้องแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เพื่อให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กเข้าเยี่ยมเด็กเพื่อประเมินความปลอดภัยด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ รวมทั้งเตรียมจัดการดูแลที่จำเป็น

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว