แนะรัฐใช้เงินกู้สร้างสวัสดิการถ้วนหน้า เชื่อ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ธีระชัย” อดีตขุนคลัง ชี้ พ.ร.ก.กู้เงิน รอบนี้อันตรายต่อวินัยการเงินการคลัง ห่วง งบฯ ฟื้นฟูโควิด-19 ไม่ลงไปถึงชุมชน บทเรียนจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ภาคประชาชน แนะ ใช้เงินกู้สร้างสวัสดิการถ้วนหน้า เชื่อ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปากท้องระยะยาว

ผ่านฉลุยด้วยผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบ 270 ต่อ 196 เสียง อนุมัติ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจาก​การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564  หรือ “พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท” เมื่อเช้าวันที่ 10 มิ.ย. 2564 โดยมีแผนใช้เงินกู้ 3  ด้าน 

1. แก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข การวิจัยและพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ 2. ช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 3 แสนล้านบาท และ 3. ​ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท

ชี้ พ.ร.ก.กู้เงิน รอบนี้ อันตรายต่อวินัยการเงินการคลัง

“ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีต รมว.กระทรวงการคลัง ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยอมรับว่าการกู้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาทในสถานการณ์โควิดด-19 ระบาดรอบ 3 เป็นความจำเป็น แต่วิธีการกู้เงินรัฐบาลสามารถทำได้ 2 วิธี หนึ่ง คือ การออก พ.ร.ก.เงินกู้ สอง คือ การออก พ.ร.บ.เงินกู้ ซึ่งจะมีรายละเอียดและมีการตรวจสอบที่มากกว่าการออกเป็น พ.ร.ก. ที่เป็นร่างกฎหมายกรณีเร่งด่วน 

หากย้อนกลับไป นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลกู้เงินเพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ปีที่แล้ว มีการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทไปแล้ว พบว่าประสิทธิภาพการใช้งบฯ และการตรวจสอบการใช้งบฯ ไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งโควิด-19 ก็เกิดขึ้นมาเป็นปีแล้ว รัฐควรมีการวางแผนและออกเป็นพ.ร.บ. เงินกู้ จะสามารถปิดช่องโหว่ไม่ให้เงินรั่วไหล เกิดการทุจริตได้ 

“การออก พ.ร.ก.เงินกู้ ครั้งนี้นับว่าอันตรายต่อวินัยการเงินการคลัง จึงได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองให้เพิกถอน มติ ครม. แม้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว แต่ศาลก็สามารถหยิบยกมาพิจารณาได้ และนี่จะกลายเป็นชนักติดหลังให้กับรัฐบาล และ ส.ส. ที่เสนอวาระเข้ามา” 

แนะรัฐใช้เงินสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกัน 

สอดคล้องกับ “นิมิตร์  เทียนอุดม” กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สัดส่วนภาคประชาชน ที่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องกู้เงินเพิ่ม แต่จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมมากยิ่งขึ้น บางคนไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ กลายเป็นคนขาดรายได้ บางคนสามารถทำที่บ้าน ยังได้เงินเดือนปกติ จึงตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการใช้งบประมาณเพื่อการเยียวยาผลกระทบ เห็นได้จากการเยียวยาในปัจจุบัน ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง แทนที่ควรจะเป็นการเยียวยาแบบถ้วนหน้า แม้ไม่ปฏิเสธว่าการเยียวยาด้วยการจ่ายเงินสดเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากจ่ายไม่ทั่วถึง ก็จะทำให้คนที่มีปัญหาจริง ๆ ไม่ได้รับการดูแล

อีกประเด็นสำคัญ คือ การกู้เงินมาเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 การจัดหาวัคซีนที่ล่าช้า สะท้อนให้เห็นถึงระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่ไม่สามารถสั่งจองซื้อล่วงหน้าได้ บทเรียนนี้เคยเกิดขึ้นกับการจองซื้อวัคซีนมะเร็งปากมดลูกให้กับกลุ่มเยาวชนทั่วประเทศ ที่ทำให้ต้องเสียโอกาส เพราะจัดหาวัคซีนล่าช้า 

“เฉกเช่นเดียวกับการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในครั้งนี้ ก็ติดกับดักจากระเบียบทำให้ได้วัคซีนล่าช้าและน้อยชนิด เพราะข้าราชการก็ไม่กล้าคิดนอกกรอบ ส่วนรัฐบาลก็ไม่มีภาวะในการเป็นผู้นำ”

อย่างไรก็ตาม การใช้งบฯ เงินกู้เยียวยาถ้วนหน้า เป็นข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อเป็นการวางรากฐานของรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เช่น สวัสดิการเด็กเล็ก ที่ผู้ปกครองต้องไปแสดงความยากจน หากนำเงินกู้ก้อนนี้นำมาจ่ายแบบถ้วนหน้าให้เด็กเล็กทุกคนได้มีเงินเลี้ยงดูเดือนละ 600 บาท ไปจนถึง 6 ขวบ โดยผู้ปกครองไม่ต้องแสดงความยากจน จะเป็นการใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสทดลองรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกัน 

ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ จำนวน 12 ล้านคนที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจน ต้องใช้ชีวิตด้วยเงินเบี้ยสูงอายุ 600 บาท ซึ่งมาเพิ่มตามขั้นบันไดในปี 2558 หลังมีการทดลองปรับจ่ายเงินเป็นเบี้ยยังชีพ 3,000 บาทแก่ผู้สูงอายุ พบว่าประชาชนสามารถบริหารเงินของตัวเองได้ นั่นหมายความว่าถ้ารัฐให้เงินสดประชาชนจะสามารถนำไปต่อยอดกับอาชีพ ซึ่งดีกว่าการจ่ายเงินเยียวยาในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจำกัดวัตถุประสงค์การใช้ และไม่ตอบโจทย์ ทั้งยังปิดโอกาสลงทุนต่อยอดอาชีพ  

“รัฐต้องปรับทัศนคติว่าประชาชนสามารถบริหารจัดการเงินได้เอง ดังที่เคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์คนจน ว่าพวกเขาอยู่ได้ ด้วยการบริหารเงินในแบบคนจน ไม่เช่นนั้นจะอยู่รอดมาได้อย่างไร” 

ห่วงงบฯ ฟื้นฟูโควิด-19 ลงไม่ถึงชุมชน บทเรียนจากเงินกู้ 1 ล้านล้าน 

 “ธีระชัย” เห็นด้วยว่ากู้เงินครั้งนี้ ควรนำมาวางรากฐานรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แต่มองว่าวิธีการกู้เงินของรัฐบาลที่ออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน ไม่มีการตรวจสอบกลั่นกรอง โดยหากโฟกัสไปที่งบฯ ฟื้นฟู หากไม่ระวังจะเป็นลักษณะการใช้เงินโดยส่วนราชการ ซึ่งตามหลักความจริงแล้วเงินฟื้นฟูจะต้องลงไปที่ชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง พิจารณาจากการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทรอบแรก ที่แบ่ง 4 แสนล้านบาท เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นส่วนราชการเบิกจ่ายเท่านั้น โครงการใหญ่ที่สุดใช้เงินถึง 10,600 ล้านบาท ยกระดับเศรษฐกิจตำบล “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” ในขณะที่โครงการใหญ่รองลงมาใช้เงินถึง 9,800 ล้านบาท โครงการ “1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรกรทฤษฎีใหม่” โดยโครงการดังกล่าวส่วนราชการจะใช้งบฯ ตามกระบวนการปกติไม่ง่ายนัก

“จะดีกว่าถ้ารัฐยอมกระจายอำนาจให้ชุมชนระดมสมอง และเสนอโครงการเข้ามาใช้งบประมาณ โดยมีมหาวิทยาลัยท้องถิ่น และธนาคารของรัฐ เช่น ออมสิน ธกส. เป็นที่ปรึกษาประกบคอยดูแล จะทำให้เกิดโครงการเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง”

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุอีกว่า หลังโควิด-19 จะเป็นโลกวิถีใหม่ New Normal การค้าโลกจะเปลี่ยนไป ทำให้ทุกส่วนต้องปรับตัว ดังนั้น จึงควรเปิดโอกาสให้กับชุมชนเสนอโครงการ มากกว่าที่จะใช้เงินลงส่วนราชการ ปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับนี้ เหมือนเป็นการแบ่งเค้กงบประมาณให้กับพรรคร่วมรัฐบาล ที่ฉวยโอกาสให้งบฯ รั่วไหลได้ง่าย และจะต้องกลายเป็นภาระของลูกหลานที่ต้องมาชดใช้หนี้ก้อนโต

“นิมิตร”​ บอกว่า งบฯ ฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลสอบตก ในการจัดสรรงบประมาณประจำปีจึงต้องมาใช้งบฯ เงินกู้ โดยหากรัฐบาลใช้งบประมาณผ่านส่วนราชการจะทำให้เราต้องมาใช้หนี้กับโครงการที่ไม่ตอบโจทย์กับประชาชน ดังนั้น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติควรจะให้ข้อเสนอแนะรัฐบาลเปลี่ยนรูปแบบวิธีการใช้งบประมาณ ให้เป็นการระดมความคิดเห็นจากในพื้นที่ ไม่เช่นนั้นแล้ว จะกู้สักกี่แสนล้านบาทก็ไม่เป็นประโยชน์

นอกจากการใช้งบฯ ฟื้นฟูที่มีปัญหาแล้ว ที่ผ่านมาการใช้งบประมาณเพื่อควบคุมโควิด-19 รัฐบาลใช้เงินส่วนนี้น้อยเกินไป เช่น การจัดสรรเงินเพื่อจัดซื้อวัคซีน ที่ต้องครอบคลุมไปถึงแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญไม่น้อย เพราะไวรัสไม่มีแบ่งแยกหากจะตัดวงจรระบาด เรื่องการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับชุดตรวจ ค่าตรวจ ค่ารักษา หากทุ่มงบประมาณให้มีความคล่องตัวมากกว่านี้ อาจช่วยควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ดีกว่าในปัจจุบัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS