ชี้ ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริง สร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน ประธานศาลฎีกาแต่งตั้ง 4 ผู้พิพากษาสอบข้อเท็จจริง โฆษกศาลยุติธรรม ย้ำ ศาลพร้อมพิสูจน์ความจริง
วันนี้ (1 มิ.ย. 2564) รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือต่อ พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามทุจริตเเละประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ให้พิจารณาสืบสอบหาข้อเท็จจริงกรณีมีรายงานข่าวว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ให้สินบนผู้พิพากษาระดับสูงของศาลยุติธรรมไทย
รังสิมันต์ กล่าวว่า หวังว่าจะมีการตรวจสอบในประเด็นต่าง ๆ ต่อไป โดยหนังสือที่ตนส่งมานั้น มีรายละเอียดทั้งภาษาไทยเเละภาษาอังกฤษ โดยเป็นประเด็นที่หลายคนคงทราบเเล้ว
“ความยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมของประเทศเรา ท้ายที่สุดเเล้วจะเป็นมรรคเป็นผลหรือไม่ กรณีนี้จะเป็นเครื่องชี้วัดที่สำคัญ ดังนั้น ตนจึงขอให้ช่วยตรวจสอบเรื่องนี้คู่ขนานต่อไป เเละขยายผลให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นหลักประกันให้กับกระบวนการทางยุติธรรมของไทยต่อไป”
ด้าน พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ ประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ตนเพิ่งได้รับเรื่องในวันนี้ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติในการที่จะตรวจสอบฝ่ายบริหารหรือฝ่ายตุลาการ เเต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 129 วรรค 4 ได้ยกเว้นในการพิจารณาคำพิพากษาคดีของตุลาการ และการบริหารงานบุคคลของศาล ซึ่งตนได้ฟังจากเรื่องดังกล่าวเเล้ว กรณีนี้ไม่เข้าข่ายเพราะเป็นการดำเนินการตรวจสอบคู่ขนาน แม้ตนยังไม่ทราบรายละเอียด แต่จะดำเนินการต่อไป เเละจะมอบให้ ส.ส. ธีรัจชัย พันธุมาศ ในฐานะกรรมาธิการเป็นผู้ดูเเลเรื่องดังกล่าว
ประธานศาลฎีกาตั้ง 4 ผู้พิพากษาเป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
สุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ว่า เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีภาษีของบริษัทในเครือโตโยต้าในต่างประเทศ ที่พาดพิงถึงบุคลากรในศาลยุติธรรม ประกอบด้วย ผู้พิพากษาชั้นฎีกาและชั้นอุทธรณ์ ซึ่งมีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการฯ และมีผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกาและชั้นศาลอุทธรณ์ เป็นกรรมการ
โดยให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการสอบสวนตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น กรณีข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย พ.ศ. 2544 ออกตามความในมาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ ให้เสร็จโดยเร็ว
และให้เสนอความเห็นว่ากรณีมีมูลเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หรือไม่มีมูลความผิดทางวินัย หากมีมูลความผิดทางวินัยก็ให้พิจารณาด้วยว่าเป็นความผิดวินัยตามบทมาตราใด และควรได้รับโทษสถานใด เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป และหากสอบสวนพบข้อเท็จจริงมีบุคคลอื่นใดเป็นผู้กระทำผิด หรือพบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากที่ระบุในคำสั่งนี้ ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้ดำเนินการสอบสวนด้วย
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวย้ำว่า ศาลยุติธรรมจะหาข้อเท็จจริงและทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยจะทำทุกทางพิสูจน์ให้ความจริงปรากฏอย่างชัดเจนโดยเร็ว หากพบว่าคนของศาลมีส่วนเกี่ยวข้อง จะดำเนินการโดยเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นใคร ระดับใด แต่หากไม่เป็นความจริงก็จะเป็นการกอบกู้ชื่อเสียงของทุกคนกลับคืนมา และจะทำให้ประชาชนคงความเชื่อมั่นศรัทธาต่อสถาบันศาลยุติธรรม
“ระบบการตรวจสอบของศาลยุติธรรมมีความเข้มแข็งและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพตลอดมา หากผู้พิพากษาคนใดมีพฤติการณ์ทุจริต เกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์จะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดเสมอ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้”