แถลง 6 ข้อเสนอถึงรัฐบาล เน้นให้ความสำคัญงบฯ ปี 2565 ทุ่มเงินจัดการคุมระบาดโควิด-19 จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ สร้างทางเลือกประชาชน พร้อมเยียวยา 3,000 บาทต่อเดือน
วันนี้(26พ.ค.64) เครือข่ายสลัม 4 ภาค และ เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) ร่วมกันแถลงสถานการณ์คนชุมชนแออัด ภายใต้การระบาดโควิด-19 ระลอก 3 และข้อเสนอแนะ ชีวิตที่เลือกไม่ได้ ภายใต้การบริหารของรัฐบาลประยุทธ์ โดยรวบรวมความคิดเห็นจากชาวชุมชนแออัด 639 หลังคาเรือน ใน 10 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร , สมุทรปราการ ปทุมธานี , สมุทรสาคร , ตรัง , สงขลา , นครศรีธรรมราช , ขอนแก่น , บึงกาฬ และ ฉะเชิงเทรา ผ่านแบบสอบถาม 3 ประเด็นสำคัญ
การรับวัคซีนป้องกันโควิด-19
พบว่ามีถึง ร้อยละ 59 พร้อมที่จะฉีดวัคซีน เนื่องจากภาระหน้าที่การงาน ที่จำเป็นต้องฉีด และมีความกังวลต่อสุขภาพ เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อที่รุนแรงและขยายวงกว้าง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 54 ให้ความเห็นว่า “ประสิทธิภาพของวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่สามารถบรรเทาความรุนแรงของเชื้อ” และอีกร้อยละ 9 เห็นว่า วัคซีนไม่มีประสิทธิภาพปกป้องเชื้อได้
ความเดือดร้อนของชาวชุมชนในช่วงวิกฤตโควิด-19
จากแบบสอบถาม พบว่า เกือบทุกคนได้รับผลกระทบ จำแนกได้หลายรูปแบบ เช่น ชาวชุมชน ร้อยละ 28 ที่ประกอบอาชีพอิสระ มีผู้มาใช้บริการลดลง , ร้อยละ 26 ที่ประกอบอาชีพค้าขาย ยอดขายลดลง แสดงให้เห็นว่าประชากรในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่ไม่เป็นทางการ เป็นแรงงานนอกระบบ และได้ผลกระทบต่อวิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 อย่างหนัก
จากแบบสอบถามยังพบกลุ่มตัวอย่างถึง ร้อยละ 26 ที่ไม่มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และร้อยละ 19 ไม่มีเงินผ่อนส่งหนี้สินต่าง ๆ เช่น บ้าน รถยนต์ การแก้ปัญหาเอาตัวรอด ร้อยละ 16 ต้องกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย , ร้อยละ 12 ต้องเอาเงินออมของตนเองออกมาใช้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 สะท้อนถึงมาตรการภาครัฐไม่สามารถชดเชยเยียวยาได้อย่างครอบคลุม
ข้อเสนอเยียวยาช่วยเหลือประชาชน
ส่วนมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล ที่ชาวชุมชนต้องการ พบว่าร้อยละ 50 อยากให้เงินชดเชยเยียวยาผ่านเข้าบัญชีส่วนตัวโดยตรง เพื่อที่จะสามารถเบิกเงินสดไปใช้จ่ายได้ เพราะมองว่า หากให้เงินเยียวยาผ่านแอปพลิเคชันแล้วจะถูกจำกัดการใช้ได้เพียงบางอย่างเท่านั้น ขณะเดียวกันมีถึงร้อยละ 36 ที่ต้องการให้รัฐเพิ่มเงินเยียวยาจากเดิม
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุถึงเสียงสะท้อนของชาวชุมชนแออัดจากผลสำรวจ สรุปได้ว่า การรับวัคซีนเพื่อที่จะหยุดความรุนแรงในการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในปัจจุบันนั้น ชาวชุมชนส่วนใหญ่พร้อมที่จะรับวัคซีน หากแต่ยังมีความกังวลในเรื่องประสิทธิภาพที่ทางรัฐบาลบริหารอยู่นั้น จะทำให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขาหรือไม่ และการสื่อสารของรัฐบาลต่อมาตรการฉีดวัคซีนในหลายครั้ง ไม่ได้สื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน สร้างความสับสนต่อประชาชน โดยเฉพาะเรื่องระบบการกระจายวัคซีน การจัดหาวัคซีนทำได้อย่างเพียงพอหรือไม่ และการไม่มีตัวเลือกของชนิดวัคซีน
เครือข่ายสลัม 4 ภาค และ เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. รัฐบาลต้องชี้แจงระบบการแจกจ่ายวัคซีนแบบโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจนทั้งในภาพรวมประเทศ และในระดับพื้นที่แต่ละจังหวัด เพื่อป้องกันการทุจริตนำโควต้าวัคซีนไปใช้ในประเด็นทางการเมือง เพื่อหาเสียงล่วงหน้า
2. รัฐบาลต้องมีเวทีสาธารณะ ให้ประชาชนซักถามการบริหารวัคซีน รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีน ชนิดต่าง ๆ โดยเปิดกว้างให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ , นักวิชาการ , เครือข่ายภาคประชาชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
3. รัฐบาลต้องรับฟังข้อเสนอที่ประชาชนสะท้อน เพื่อให้การบริหารมีประสิทธิภาพ และนำไปปฏิบัติ
4. ขอให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มเงินเยียวยา ในรูปแบบที่โอนตรงไปให้ประชาชน จำนวน 3,000 บาทต่อเดือน
5. สำหรับการแปรญัตติ งบประมาณ ปี 2565 ที่กำลังจะเปิดสภาฯ อภิปรายนั้น ต้องปรับลดค่าใช้จ่ายด้านที่ไม่จำเป็น เช่น งบประมาณซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร และนำไปเพิ่มในส่วนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อลดการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่น นำไปซื้อวัคซีนตัวอื่นที่ได้รับการรับรองจาก WHO ทุกชนิด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน
6. ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 หน่วยงานรัฐ ควรหยุดดำเนินคดี ไล่รื้อ ชาวชุมชน เพราะจะซ้ำเติมประชาชน ที่ยากลำบากไม่มีที่อยู่อาศัย ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน เสี่ยงต้องการแพร่ระบาด