โคแฟค ชี้ รัฐและสังคม ต้องเลือกใช้เครื่องมือกระตุ้นสื่อ หาทางออกวิกฤตข่าวสารวัคซีน

นักกฎหมาย ย้ำ เสรีภาพสื่อ เป็นหน้ากากป้องกันไวรัสให้สังคม ห่วง ใช้กฎหมายส่งผลสื่อไม่กล้าตรวจสอบรัฐ เวที COFACT ชี้ สื่อหลักถูกคาดหวังในภาวะวิกฤต เมื่อผิดพลาดจึงกระทบความเชื่อมั่น แนะ สร้างกลไกตรวจสอบกันเองไม่ให้ผิดซ้ำ

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2564 โครงการโคแฟค (Collaborative Fact Checking) จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “รัฐ – สื่อ – สังคม : ใครคือทางออกวิกฤตข่าวสารเรื่องวัคซีน” เพื่อพูดคุยถึงการทำงานของสื่อมวลชนในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 และการหาทางออกจากปัญหาข่าวสารเรื่องวัคซีน

กฤตนัน ดิษฐบรรจง กลุ่มส่องสื่อ (ประเทศไทย) ระบุว่า ที่ผ่านมาสื่อหลายแห่ง มีการให้ข้อมูลผิดพลาดเกี่ยวกับสถานการณ์ของโควิด-19 อย่างกรณีไทยพีบีเอส หรือช่อง 3 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในการนำเสนอข่าวสาร เพราะบทบาทของสื่อมวลชนก็พยายามนำเสนอเนื้อหาเพื่อท้วงติงการทำงานของรัฐบาล

กฤตนัน เห็นว่า ปัญหาเริ่มต้น คือ การที่ภาครัฐไม่มีความชัดเจนเรื่องข้อมูลตั้งแต่แรก ดังนั้น เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 ที่รัฐจำเป็นต้องควบคุมการระบาด จึงป้องกันไม่ให้สื่อเข้าไปรายงานข่าวใกล้ชิด ซึ่งอาจไม่เป็นผลดี เพราะสื่อไม่ได้ตั้งคำถามเพิ่มเติมได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้ข้อมูลบางอย่างไม่ชัดเจน ขณะที่การรีบนำเสนอข้อมูลในฝั่งของสื่อเอง ก็มีปัจจัยที่ต้องการให้ประชาชนสนใจ จึงต้องเลือกพาดหัวข่าวให้เกิดประเด็น ส่งผลให้เกิดปัญหาที่ทำให้สื่อสารข้อมูลผิดไป

เจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ ผู้ก่อตั้ง ยามเฝ้าจอ กล่าวว่า กรณีไทยพีบีเอสที่คนดูจะจดจำภาพในฐานะสื่อหลัก ทำให้คนดูคาดหวังเนื้อหาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย เพราะสุดท้ายก็คือภาพลักษณ์ของไทยพีบีเอสที่คนจดจำ แต่เมื่อผิดพลาดจึงสร้างความผิดหวังให้คนดูมากเช่นกัน ส่วนกรณี วราวิทย์ ฉิมมณี ผู้ประกาศข่าว ที่ออกมาขอโทษหลังเผยแพร่ข้อมูลผิดพลาด แม้การขอโทษจะเป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อ คือ จะมีกระบวนการตรวจสอบอย่างไร ไม่ให้มีความผิดพลาดอีก รวมทั้งกรณีของช่อง 3 ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้สื่อจะนำเสนอข้อมูลผิดพลาด เห็นว่า ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องฟ้องร้องหรือใช้กฎหมาย แต่ประเด็นสำคัญ คือ จะอยู่ร่วมกันอย่างไร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า บางคนมองสื่อเป็นผู้ร้าย แต่ขณะเดียวกันก็มีคำถามว่าประชาชนสามารถเชื่อข้อมูลภาครัฐอย่างเดียวได้หรือไม่ ดังนั้น การไม่มีสื่อน่าจะทำให้สังคมวุ่นวายมากกว่า

กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ ที่ปรึกษาโคแฟค (COFACT) ประเทศไทย เห็นว่า การเซ็นเซอร์สื่อ ไม่เป็นผลดีต่อการคืนความเชื่อมั่นกลับไปที่รัฐ ที่อเมริกาพบว่า การดึงข้อมูลที่ไม่ดีออกไป กลับดึงข้อมูลที่ดีออกไปด้วย และเห็นว่าภาครัฐต้องให้ข้อมูลที่มีข้อเท็จจริง และทำให้เป็นระบบกับทุกสื่อ รวมทั้งต้องเปิดเผย ใจกว้าง และไม่ใช้อำนาจ

สื่อต้องกำกับดูแลกันเอง ก่อน รัฐหรือผู้มีอำนาจเข้าแทรกแซง

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า ประชาชนมีความเข้าใจอยู่แล้ว ว่าการนำเสนอข่าวนั้นมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ และสื่อก็ต้องถูกเรียกร้องให้รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม สื่อต้องถูกตรวจสอบโดยประชาชนเช่นกัน เพราะเสรีภาพสื่อนั้น คือ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล เพราะต้องตรวจสอบว่าข้อมูลที่รัฐให้มาถูกต้องหรือไม่ เพื่อท้วงติงและร่วมกันหาทางออก

ฐิติรัตน์ เห็นว่า ไม่ว่าสถานการณ์ไหน สื่อควรถูกกำกับดูแลโดยสังคม เพื่อให้สื่อสามารถดำรงความเป็นอิสระในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพราะหากยอมให้ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าหรือรัฐสามารถลงโทษโดยใช้เครื่องมือทางกฎหมาย แล้วจะคาดหวังให้สื่อกล้าตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้อย่างไร

ดังนั้น การใช้อำนาจทางกฎหมายโดยเฉพาะการฟ้องร้องให้เป็นคดีอาญา แม้จะมีเป้าประสงค์เพื่อที่จะกระตุ้นให้สื่อมีความรับผิดชอบ แต่ผลที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแค่เรื่องความรับผิดชอบ แต่ก็ทำให้สื่อเกิดความกังวลหวาดกลัวไม่กล้าตรวจสอบรัฐ รวมไปถึงความไม่ชัดเจนว่าเบื้องหลังการตรวจสอบสื่อในแต่ละกรณีนั้น มาจากเหตุผลความถูกต้องของเนื้อหาอย่างเดียวหรือไม่

“รัฐและสังคม ต้องเลือกใช้เครื่องมือให้ถูกต้องในการกระตุ้นให้สื่อต่าง ๆ นำเสนอข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วนรอบด้าน และตระหนักถึงผลกระทบของมัน”

ขณะเดียวกัน สื่อก็ต้องพยายามกำกับดูแลกันเอง เพราะหากทำไม่ได้ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐหรือผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า ก็จะพยายามเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อ เธอมองว่าปัจจุบันสังคมไทยยังไม่ถึงขั้นปฏิเสธสื่อ ยังหวังและต้องการฟังข้อมูลจากสื่อมวลชนอยู่ กล่าวโดยสรุปคือ ขณะนี้มีทั้งจุดที่สื่อทำได้ดี และจุดที่ต้องปรับปรุงและแก้ไข

ส่วนรัฐ ในฐานะผู้มีหน้าที่หลักในการในการเปิดเผยข้อมูลก็ต้องรับผิดชอบในหน้าที่นี้ด้วย โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินขณะนี้ ก็ยิ่งต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าปกติ

 “Emergency ไม่ได้หมายถึงจะสามารถ Low accountability แต่ยิ่งเป็น Emergency ก็ยิ่งต้องมี accountability เพราะในสถานการณ์ฉุกเฉินจะเป็นช่วงเวลาที่รัฐมีอำนาจมาก ซึ่งก็ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นมากที่ภาคประชาสังคมและสื่อจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ”

ฐิติรัตน์ เห็นว่า ที่ผ่านมาหลังเกิดการระบาดโควิด-19 มีรายงานว่าสื่อมวลชนทั่วโลกหลายแห่งถูกฟ้องร้องจากการเปิดเผยข้อมูล ทำให้มีการพูดว่า ในสถานการณ์นี้รัฐต้องยืนยันว่า สื่อต้องมีความอิสระและเสรีภาพในการนำเสนอข่าว

นอกจากนี้ ยังมีการเปรียบเทียบว่า Infodemic (ภัยพิบัติจากข้อมูลข่าวสารผิดเพี้ยนอันเกิดขึ้นคู่กับภัยโรคระบาดที่กระจายไปทั่ว) ซึ่งสื่อที่มีอิสระและเสรีภาพในการนำเสนอข่าว และมีความรับผิดชอบนั้น จะเป็นหน้ากากป้องกันไวรัสให้กับสังคม เราจึงต้องเรียกร้องให้สื่อเป็นหน้ากากที่มีประสิทธิภาพ แต่ไม่ใช่ไปลงโทษคนที่ขายหน้ากาก

วิจัยชี้ การใช้กฎหมายกับสื่อ ไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด

ฐิติรัตน์ เห็นว่า ต้องตั้งต้นที่หลักการใช้อำนาจของรัฐ คือถ้ารัฐจะจำกัดเสรีภาพ สิ่งที่รัฐต้องพิสูจน์ให้ได้คือ การจำกัดเสรีภาพนั้นเป็นไปตามกฎหมาย และต้องทำให้บรรลุผลก็คือ ให้คนเชื่อข้อมูลที่รัฐอยากให้เชื่อและเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามว่าการที่รัฐใช้ยาแรงหรือกฎหมายอาญาไปลงโทษสื่อนั้น ทำให้คนเชื่อรัฐหรือยิ่งทำให้คนยิ่งระแวงว่า รัฐต้องการปกปิดข้อมูลอะไรหรือไม่

นอกจากนี้ มีรายงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ว่า การใช้กฎหมายโดยรัฐต่อสื่อ ไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่ควรเป็นรัฐที่ทำให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน ให้ประชาชนเชื่อใจในสิ่งที่รัฐพูด โดยย้ำว่า ความโปร่งใสสร้างความเชื่อใจได้มากกว่าการบอกว่าประชาชนควรเชื่ออะไรหรือไม่ควรเชื่ออะไร

รัฐ สื่อมวลชน สังคม ต้องร่วมมือกันพาพ้นวิกฤต

ผศ.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ เลขาธิการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา ระบุว่า ต้องยอมรับร่วมกันว่า ขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่รุนแรงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีข้อถกเถียงเรื่องวัคซีน ประเด็นสำคัญจึงอยู่ทั้งรัฐ สื่อมวลชน และสังคม ควรมีบทบาทอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมายังเล่นบทบาทของตนได้ยังไม่ดีเท่าที่ควร

ในส่วนของรัฐสำคัญ คือ ต้องสื่อสารให้ชัดเจน ตรงไปตรงมา และต้องใจกว้างในการอธิบายบนฐานคิดการให้คุณค่าของมนุษย์ทุกคน ส่วนสื่อมวลชน เห็นว่าในสถานการณ์แบบนี้ สื่อที่ทำหน้าที่ ต้องรอบคอบ รัดกุม และไม่ผิดพลาดจนเกิดความเสียหาย การจะจัดการกับสื่อที่ผิดพลาดโดยใช้กฎหมาย คิดว่า ผู้มีอำนาจทำพลาด ซึ่งสิ่งที่ควรทำคือ การบอกว่าสื่อทำผิดพลาดตรงไหน แล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร หรือมีความต่างของข้อมูลอย่างไร ส่วนสังคมก็ต้องร่วมตรวจสอบ

“จากโจทย์ว่า ใครต้องหาทางออกเรื่องวัคซีน คิดว่าทั้ง 3 ภาคส่วนต้องหาทางออกร่วมกัน สถานการณ์โควิดส่งผลกระทบทั้งต่อชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ถ้าทั้ง 3 ภาคส่วนไม่สามารถพาให้สังคมไทยผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ น่าเป็นห่วงในสังคมในอนาคต”

ผศ.เอื้อจิต ยังบอกอีกว่า รัฐต้องทำทุกอย่างเพื่อปกป้องประชาชน ไม่ใช่ดูแลตัวเอง ไม่ใช่ออกมาพูดตำหนิประชาชน ขณะที่สื่อเองก็ต้องมีความรอบคอบ และนำเสนอข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้าน แม้จุดยืนที่สำคัญที่สุดของสื่อมวลชน คือการให้คนไปฉีดวัคซีน แต่ไม่ได้หมายความว่า สื่อห้ามนำเสนอข้อมูลอื่น ๆ ด้วย สื่อสามารถนำเสนอได้ด้วยความรับผิดชอบ ส่วนภาคสังคมที่แบ่งเป็นหลายความคิดเห็นก็ไม่ควรมีอคติในการรับข้อมูล

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว