เด็กเล็ก ตกหล่นเยียวยาโควิด-19 ปลุก “เงินอุดหนุนถ้วนหน้า” สร้างหลักประกัน 4.2 ล้านคน

คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายฯ จี้รัฐอัดงบ 1.6 หมื่นล้าน จัดเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า พร้อมจับตาสภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี ’65 ปลายเดือนนี้ บทพิสูจน์พรรคการเมือง หลังขายฝันตอนหาเสียง

สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะ คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า เปิดเผยกับ The Active  ว่า โควิด-19 รอบนี้ยิ่งทำให้เห็นภาพคนจนเพิ่มมากขึ้น แต่ที่ดูจะเจ็บปวดมากที่สุด คือ ครอบครัวที่มีลูกเล็ก เพราะเด็กเล็ก 0 – 6 ปี ที่มีมากกว่า 4 ล้านคน เป็นกลุ่มเดียวในประเทศไทยที่ยังไม่มีสวัสดิการเงินอุดหนุนถ้วนหน้า และเมื่อต้องเจอวิกฤตเวลานี้ ก็มีเพียงความช่วยเหลือเฉพาะหน้าเท่านั้น

“ตอนนี้ปิดศูนย์เด็กทั้งหมด พ่อแม่หนัก ไม่มีคนเลี้ยงดูลูก กรุณาเยียวยาพิเศษได้ไหม เพื่อช่วยเด็กให้ได้มากที่สุด ครอบครัวที่มีลูกเล็ก จะยากขึ้นอีก 2 เท่าตัวในสภาพที่พ่อแม่ตกงาน เด็กเล็ก เป็นกลุ่มเดียวในประเทศไทยที่ยังไม่มีสวัสดิการเงินอุดหนุนถ้วนหน้า รัฐอย่าละเลยพ่อแม่ที่มีลูกเขาเดือดร้อนมากกว่าคนปกติ”

แนะ อัดงบฯ เพิ่ม 1.6 หมื่นล้าน อุดหนุนเด็กถ้วนหน้า

ขณะที่การระบาดโควิด-19 รอบที่ผ่าน ๆ มา รัฐบาลพยายามใช้วิธี “พิสูจน์ความจน” แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ มีเด็กมากมายตกหล่น ประกอบกับคนจนใหม่ที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนรัฐเยียวยาไม่ทัน จึงเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ปัญหานี้ต้องแก้ไขด้วยการให้เงินอุดหนุนถ้วนหน้าเด็กเล็ก 0 – 6 ปี  ซึ่งจะใช้เงินเพิ่มจากเดิมเพียง 1 เท่าตัว คือประมาณ 1.5 – 1.6 หมื่นล้านบาท ก็จะช่วยเหลือเด็กทั้งหมดที่มีอยู่ราว 4.2 ล้านคน เพื่อลดความยุ่งยากของระบบงานที่ตกหล่น และบรรเทาสถานการณ์วิกฤตให้กับกลุ่มคนเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลง และภาวะตกงานเฉียบพลัน

“หลักการสำคัญของข้อเสนอนี้ คือ ให้เงินอุดหนุนเด็ก 0-6 ปีแบบถ้วนหน้า เดือนละ 600 บาท จากเดิมที่ให้เฉพาะกับครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งครอบคลุมเด็กประมาณ 1.9 ล้านคน เป็นเงินราว ๆ 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นแบบถ้วนหน้า จะครอบคลุมเด็กรวม ๆ 4.2 ล้านคน โดยเพิ่มงบฯ อีกประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าเชื่อมั่นว่า สามารถจัดสรรได้ และเป็นประเด็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำ เพราะชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กรอไม่ได้”

ส่วนสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทั้ง 3 รอบ สุนี ยอมรับว่า ยังไม่เห็นรัฐแถลงมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเด็กเล็กอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการลงทะเบียนรับสิทธิ์ต่าง ๆ จนทำให้ตั้งข้อสังเกตว่า เด็กเล็กไม่มีสิทธิ์โหวตลงคะแนนเสียงทางการเมืองหรือไม่ พวกเขาจึงไม่ได้รับสิทธิการช่วยเหลือเรื่องนี้ โดยที่รัฐบาลอาจกำลังสับสนเมื่อใช้หลักการคัดคนจน แทนที่จะให้เงินอุดหนุนถ้วนหน้าทุกกลุ่ม จนเด็กเล็กกลายเป็นกลุ่มที่ตกหล่นจากการเยียวยามาทุกรอบ

สุนี ไชยรส คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กศูนย์ถ้วนหน้า

ทวงสัญญาพรรคการเมืองขายฝัน “สวัสดิการประชาชน”

คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กศูนย์ถ้วนหน้า ยืนยันด้วยว่า สิ่งที่ออกมาเรียกร้องถือเป็นเจตนารมณ์ที่แทบทุกพรรคการเมืองเคยนำเสนอมาก่อนการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงต้องรักษาสัญญา และเดินหน้าตามมติหลักการถ้วนหน้า ซึ่งความคืบหน้าล่าสุด คือ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) มีมติเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 63 เห็นชอบขยายการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 คือ เดือนในตุลาคมนี้ โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ แต่จนถึงตอนนี้ พม.ยังไม่ได้นำเสนอเข้า ครม.


จึงต้องจับตาดูการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ วาระ 1 วันที่ 27-28 พ.ค.นี้ ว่า ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ล้วนเคยหาเสียงด้วยเรื่องเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า จะมีปฏิกริยาอย่างไรกับสัญญา และนโยบายที่เคยขายฝันเรื่องรัฐสวัสดิการไว้กับประชาชน และไม่ผิดต่อมติ กดยช. ที่เห็นชอบให้สังคมไทยมีสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับเด็กเล็ก 0-6 ปี มาแล้ว

“รัฐนึกว่าอยากจะช่วยคนจน แต่อยากจะละเลยคนกลุ่มนี้ พ่อแม่เดือดร้อน มากเหลือเกินสถานการณ์โควิด พ่อแม่ที่มีลูกเขาเดือดร้อนมากกว่าคนปกติ ตอนนี้ปิดศูนย์เด็กเล็กทั้งหมด พ่อแม่หนัก ไม่มีคนเลี้ยงดูลูก กรุณาเยียวยาพิเศษได้ไหม ไม่ใช่เยียวยาเฉพาะคนที่ลงทะเบียน เพื่อช่วยเด็กให้ได้มากที่สุด เพราะครอบครัวที่มีลูกเล็ก จะยากขึ้นอีก 2 เท่าตัวในสภาพที่พ่อแม่ตกงาน”


สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเวลานี้ เครือข่ายที่ทำงานด้านเด็ก 50-60 องค์กร เตรียมระดมทุนช่วยเหลือ และเสนอให้มีการจ่ายเยียวยาพิเศษแบบถ้วนหน้าเป็นรายเดือนเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ไปก่อน ทั้งที่หน่วยงานรัฐควรจะมีบทบาทมากกว่าที่เป็นอยู่ พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การทำงานของรัฐบาล และฝ่ายการเมืองในภาวะวิกฤต มักจะเชิญสมาคมหอการค้า ภาคธุรกิจร่วมพูดคุยแก้ปัญหาเชิงเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสถานการณ์โควิดหลายระลอกที่ผ่านมา ก็เห็นแล้วว่าไม่ใช่เพียงผลกระทบในมิติทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาในมิติทางสังคมซึ่งภาครัฐ ไม่เคยเชิญหน่วยงานด้านสังคม เข้าไปร่วมหารือเพื่อหาทางออก จึงอยากชวนให้รัฐบาลเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อทำให้รัฐเข้าใจ และฟังเสียงความต้องการของภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน