“คุ้ยอาหารจากกองขยะ” วิกฤตเด็กยากจนยุคโควิด-19 วอนรัฐ “ปากท้อง-สมองรอไม่ได้”

นักโภชนาการ ห่วงเด็กชุมชนเมือง พัฒนาการช้า เติบโตไม่สมวัย หลังศูนย์เด็กเล็ก แหล่งเข้าถึงอาหารครบ 5 หมู่ ปิดเทอมยาวจากมาตรการคุมโรค ขณะที่ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ เผยผลพวงโควิด-19 ลามลูกหลานครอบครัวเปราะบางทั่วประเทศ กว่า 275,000 คน เรียกร้องรัฐจัดสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า หลักประกันเผชิญวิกฤต  


ศีลดา รังสิกรรพุม หรือ ครูต้อ ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฯ เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดรอบนี้ กำลังส่งผลกระทบต่อเด็ก และเยาวชนที่ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ที่อยู่ภายในชุมชนแออัดทั่วประเทศ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ ตกอยู่บนความเสี่ยง คือ มาตรการควบคุมโรคส่งให้มูลนิธิฯ ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน ต้องปิดยาว เพื่อควบคุมการระบาด แม้ยอมรับว่าจำเป็นในสถานการณ์แบบนี้ แต่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในเรื่องนี้มากนัก เฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนเปราะบางในชุมชนแออัด

จากข้อมูลระบุว่า มีเด็กในชุมชนเมือง ชุมชนแออัด ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี ทั่วประเทศกว่า 275,000  คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ มีเด็กอยู่ในการดูแลของหน่วยงานสังกัด กทม. และมูลนิธิ รวม ๆ กว่า 25,000 คน ประกอบด้วย มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ 350 คน, เครือข่ายบ้านร่วมพัฒนาเด็ก 70 แห่งในชุมชนแออัด 2,500 คน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กทม. 292 แห่ง อีก 22,713 คน


ที่เหลือส่วนใหญ่อีกกว่า 250,000 คน อยู่ในการดูแลจากภาครัฐ  ประกอบด้วย สถานรับเลี้ยงเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 1,443 แห่ง 87,205 คน, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) 3,950 แห่ง 162,772 คน ที่ดูแลเด็กทั่วประเทศ แต่กลับพบเด็ก ๆ จำนวนมากยังตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงเรื่องปากท้อง สุขภาพ และความปลอดภัย ทั้งที่รัฐควรมีกลไกและศักยภาพรับมือกับเรื่องนี้ได้ดีกว่านี้ นี่จึงทำให้มูลนิธิ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในภาวะที่เด็ก ๆ ตกอยู่บนความเสี่ยง


สำหรับ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ได้เข้ามาดูแล ให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า เช่น การแก้ปัญหาด้านปากท้อง และการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ในพื้นที่ชุมชนเมืองกรุงเทพฯ 4 ชุมชน ประกอบด้วย บ้านสมวัย (ชุมชนคลองเตย), บ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่ (ชุมชนเสือใหญ่ประชาอุทิศ), บ้านแห่งความหวัง (ชุมชนอ่อนนุช 88 แยก 10) และบ้านศรีนครินทร์ (ชุมชนกองขยะหนองแขม) พบว่ามีเด็กอายุระหว่าง 3 เดือน ถึง 5 ปี ซึ่งอยู่กลุ่มครอบครัวยากจน เปราะบาง และลูกหลานแรงงานข้ามชาติกว่า 350 คน


เด็ก ๆ ที่อยู่ในความดูแลของบ้านเด็กอ่อนทั้ง  4 แห่ง ประสบความยากลำบาก เนื่องจากภายในครอบครัวและในชุมชนบางแห่งเสี่ยงต่อการระบาดโควิด-19 บางชุมชนพบผู้ติดเชื้อแล้ว แต่สภาพที่ต้องอยู่กันอย่างแออัด พ่อแม่ของเด็กบางคนตกงาน การจ้างงานมีน้อย ปากท้องของครอบครัวจึงกระทบมาสู่เด็ก ๆ โดยตรง จากเด็กที่เคยอยู่กับบ้านเด็กอ่อน ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก มีอาหารกินครบ 3 มื้อตามหลักโภชนาการ แต่เมื่อเกิดโควิดระบาด เด็ก ๆ ต้องกลับมาอยู่บ้านในครอบครัวที่ไม่มีรายได้ จึงได้รับอาหารไม่เพียงพอ บางมื้อต้องอด ขาดแคลนนมผง นมกล่อง สิ่งของเครื่องใช้จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเด็ก ๆ

“คิดว่าวิกฤตจะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนวันที่ศูนย์รับเลี้ยงปิด ตอนนี้สถานการณ์น่าเป็นห่วง พวกเราให้ความร่วมมือกับมาตรการภาครัฐ แต่เด็กก็ต้องรอดด้วย ต้องมีอาหารกิน ตอนนี้จุดแจกอาหารหายไป ไม่เหมือนการระบาดรอบแรก ๆ ชาวบ้านก็ไม่รู้จะไปพึ่งพาอาหารที่ไหน บางคนไปขอข้าวจากวัด บางครอบครัวใช้ชีวิต หารายได้จากกองขยะ เด็ก ๆ ถึงกับต้องคุ้ยหาเก็บเศษอาหารจากกองขยะมาล้าง มันเป็นความจนอีกชั้นหนึ่งไปเลย แต่ไม่รู้ว่าเรื่องแบบนี้รัฐบาล จะมีมาตรการช่วยเหลือเด็ก ๆ หรือไม่ ตอนนี้ผู้ปกครองบอกว่ากลัวอดตาย มากกว่าโควิด-19”


ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ บอกด้วยว่า แม้บางครอบครัวพ่อแม่ยังคงมีงานทำ แต่ก็เป็นรายได้รายวัน ถ้าในช่วงปกติก็จะฝากลูกไว้กับศูนย์เด็กเล็ก ค่ากินค่าอยู่ประหยัด แต่เมื่อปิดศูนย์เด็กเล็ก บางครอบครัวต้องออกไปทำงาน ก็ปล่อยให้เด็กอยู่บ้านตามลำพัง หรือแม่บางคน ก็ต้องจ้างคนเลี้ยงลูก ซึ่งพบว่าเพิ่มภาระอย่างมาก อย่างแม่ที่ทำงานได้ค่าจ้างรายวัน 400 บาท ต้องมาจ่ายค่าจ้างเลี้ยงเด็กอีกวันละ 200 บาท กลายเป็นผลกระทบตามมาเรื่องความเป็นอยู่ ปากท้องของคนในครอบครัว

“มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการนำเงินบริจาค และสิ่งของที่มีผู้นำมาสนับสนุนการช่วยเหลือเด็กและครอบครัวยากจนเปราะบาง จัดเป็นถุงยังชีพสำหรับเด็กเล็ก ที่มีทั้ง นมผม นมกล่อง อุปกรณ์เครื่องใช้ในการดูแลเด็ก อุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 มอบให้ครอบครัวที่ดูแลอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จนกว่าจะสามารถเปิดศูนย์รับเลี้ยงเด็กได้ตามปกติ เพราะเราเชื่อว่าพัฒนาการและสมองของเด็กรอการเจริญเติบโตไม่ได้ หากปล่อยทิ้งช่วงไปกับวิกฤตที่เกิดขึ้น โดยที่ไม่มีใครเหลียวแล จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของเด็ก ๆ ในระยะยาว”

ดร.สง่า ดามาพงษ์ ร่วมบริจาคสิ่งของให้กับมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ ระบุภายหลังนำเงินและสิ่งของ อาทิ นมกล่อง ข้าวสาร อาหารสำเร็จรูป ที่ได้ระดมความช่วยเหลือ มาบริจาคที่มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ว่า โควิด-19 ระลอกใหม่ซ้ำเติมปัญหาด้านโภชนาการเด็กที่มีอยู่เดิม โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต หากรับประทานอาหารผิดหลักโภชนาการ เพียง 2-3 เดือน จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองและร่างกายระยะยาว

“คนในวงการโภชนาการ มองว่าการระบาดระลอกนี้ เด็กก่อนวัยเรียนในครอบครัวยากจนที่สายป่านชีวิตสั้นน่าเป็นห่วงที่สุด เด็กกลุ่มนี้จะกินอาหารครบ 5 หมู่ได้อย่างไร ในขณะที่ผู้ปกครองก็ตกอยู่ในสภาวะยากลำบาก”



ดร.สง่า
บอกอีกว่า การแก้ปัญหาด้านสุขภาพและโภชนาการเด็ก ควรวางแผนเป็น 3 ระยะ คือระยะสั้น ระดมความช่วยเหลือจากสังคม เช่น การบริจาค เพื่อให้เด็กยากจนมีชีวิตต่อไปได้ ระยะกลาง เป็นหน้าที่ภาครัฐต้องดูแลให้พ่อแม่ของเด็กกลุ่มเปราะบางมีงานทำ เช่น การจัดทำโครงการพิเศษ ส่วนระยะยาว ต้องมีแผนรองรับวิกฤตเรื่องความมั่นคงทางอาหาร


สอดคล้องกับข้อเสนอจาก ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ที่เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ซึ่งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอาจช่วยลดภาระให้กับครอบครัวของเด็ก เช่น การมีศูนย์กลางรับสิ่งของจำเป็นสำหรับเด็ก อย่าง นมผง อาหาร หนังสือนิทาน ชุดของเล่นเพื่อเสริมพัฒนา อีกทั้งจำเป็นต้องเยียวยาครอบครัวที่มีเด็กเล็กเดือนละ 1,000 บาท ในช่วงนี้  

จากนั้นรัฐอาจต้องกลับมาพิจารณาการสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องเงินอุดหนุนเด็กตั้งแต่แรกเกิดแบบถ้วนหน้า เพื่อสร้างหลักประกันด้านคุณภาพชีวิต ปากท้อง ไม่ให้เด็กต้องตกอยู่บนความเสี่ยงเมื่อเกิดวิกฤต

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม