ขยายเตียงไอซียู รับผู้ป่วยหนักเพิ่ม​ หลังพบติดเชื้อ​ลงปอดเร็วขึ้น​

กระทรวงสาธารณสุข จับมือเครือข่ายบริหารจัดการเตียง ยันมีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยโควิด-19 รวม 9 พันกว่าเตียง พร้อมขยายเตียงไอซียู เพิ่ม​ 50-100% รับผู้ป่วยหนัก กทม.

เมื่อวันที่​ 19​ เม.ย.​ 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แถลงข่าวการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด 19

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดระบบทางด่วนให้ รพ.เอกชน ขออนุมัติขยายเตียงได้คล่องตัวขึ้น ทำให้เพิ่มเตียงได้มาก และจัดหาโรงแรมมาเป็น Hospitel โดยมีที่ผ่านการรับรอง 34 แห่ง รวม 7,200 กว่าเตียง มีผู้ป่วยพักแล้ว 2 พันกว่าราย ส่วนกรณีคลินิกเอกชนที่ตรวจหาเชื้อโควิด เมื่อพบเชื้อให้ผู้ป่วยไปหาสถานพยาบาลเอง ได้ออกประกาศให้คลินิกแล็บต้องให้คำแนะนำและประสานจัดหาเตียง ส่งต่อผู้ป่วยไปสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนเพื่อรักษาทันที ถ้าไม่ดำเนินการถือว่าผิดกฎหมาย และหากทำผิดซ้ำอาจพิจารณาให้หยุดบริการหรือสั่งปิดได้

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การติดเชื้อระลอกนี้พบผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวค่อนข้างมาก แต่มีโอกาสอาการเปลี่ยนแปลงเป็นสีเหลืองและสีแดงได้ จึงต้องเตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ซึ่งโรงพยาบาลตติยภูมิทุกเครือข่ายได้ร่วมกันขยายเตียงไอซียูเพิ่ม 50-100 เปอร์เซ็นต์ อาจลดบริการบางส่วนเพื่อนำเตียงไอซียูและบุคลากรมาเสริม ส่วนแผนขั้นต่อไปหากมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น อาจจัดตั้งไอซียูสนาม ซึ่งจัดเตรียมได้ทันที เนื่องจากได้เตรียมการไว้ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ประชาชนไม่ต้องกังวลใจ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลทุกเครือข่ายเตรียมพร้อมดูแลอย่างเต็มที่ สิ่งที่สำคัญต้องขอความร่วมมือประชาชนเข้มมาตรการป้องกันตนเอง ยกการ์ดสูง เพื่อสู้กับโควิด 19 ให้ผ่านไปอีกครั้ง

ด้าน นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุกใน กทม. เข้าสู่ระบบการจัดหาเตียงเฉลี่ยวันละ 120-140 ราย โดยกลุ่มสีเขียวจะรับไว้ดูแลที่โรงพยาบาลสนามเป็นหลักภายใต้มาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันมี 1,656 เตียง ใช้ไปแล้ว 1,275 เตียง โดยวันที่ 20 เมษายน จะเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่ม 1,100 เตียง และเปิดเพิ่มที่นนทบุรีและนครปฐมอีก 170 เตียง รวมแล้วจะมีเตียง 2,926 เตียง นอกจากนี้ เตรียมประสาน Hospitel เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ตกค้างที่บ้านด้วย สำหรับการรับส่งผู้ป่วยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้สำนักเทศกิจ 50 เขตร่วมกับ สพฉ. นำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาให้มากและเร็วที่สุดคาดว่า 1-2 วันจะแก้ปัญหาได้

พบผู้ติดเชื้อลงปอดเร็วมากขึ้น ต้องนำส่งกลับมารักษาในรพ.หลัก

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนได้ดำเนินการรองรับภาวะวิกฤตที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ได้ให้เครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนเปิด Hospitel ที่ผ่านการรับรองจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และขยายเตียงในโรงพยาบาล เนื่องจากที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนมีคนไข้ค้างประมาณ 250-300 คน พบผู้ติดเชื้อเพิ่มทุกวัน แต่ละคนต้องดูแลรักษา 14 วัน และระยะหลังพบผู้ติดเชื้อลงปอดเร็วมากขึ้น ต้องนำส่งกลับมารักษาในโรงพยาบาล จึงจำเป็นต้องใช้เตียงเพิ่มมากขึ้น โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งจึงขยายเตียงรองรับ เช่น กลุ่มโรงพยาบาล BCH เดิมมีเตียงโควิด 19 ในเครือไม่เกิน 300 เตียง ปัจจุบันขยายเป็น 665 เตียง และขอความร่วมมือเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนใน กทม. กระตุ้นให้โรงพยาบาลที่รับการตรวจหาเชื้อมีการขยาย Hospitel รองรับภายในเครือข่าย เพื่อไม่ให้คนไข้เดือดร้อน โดยกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผ่านวิกฤตไปด้วยกัน

ยันวัคซีนไทยไม่ล่าช้า เป็นไปตามแผน

นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่ากรณี​ บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด 19 ช่วงวันที่ 1-18 เม.ย. 2564 พบ 146 ราย สาเหตุการติดเชื้อจากภายนอกโรงพยาบาล 62 ราย คิดเป็นร้อยละ 42.5 ติดเชื้อในโรงพยาบาล 55 ราย คิดเป็นร้อยละ 37.7 ในจำนวนนี้ ติดเชื้อขณะดูแลรักษาผู้ป่วยยืนยัน 33 ราย ติดจากเพื่อนร่วมงาน 22 ราย และ อีก 29 รายอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค โดยพบการติดเชื้อใน 35 จังหวัด มากที่สุดในกทม. 38 ราย สุพรรณบุรี 11 ราย ชลบุรี 8 ราย ราชบุรี 8 ราย รวมทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ถูกกักตัวอีกจำนวนมาก

สำหรับจำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสมวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 18 เมษายน 2564 รวม 618,583 ราย เป็นผู้ได้รับเข็มแรก 535,925 ราย และได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 82,658 ราย โดยการฉีดวัคซีนไม่ได้ล่าช้า มีการบริหารจัดการเป็นไปตามแผน นอกจากนี้ในระยะที่พบการระบาดในจังหวัดสมุทรสาคร ยังได้จัดหาวัคซีนมาเพิ่มเพื่อใช้ในสถานการณ์เร่งด่วน ได้แก่ วัคซีนของซิโนแวค 2 ล้านโดส ทยอยส่งมา 2 แสนโดส และ 8 แสนโดส ซึ่งฉีดครบภายในเดือนมีนาคม อีก 1 ล้านโดสได้รับเมื่อวันที่ 10 เมษายน กระจายไปจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เน้นฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงฉีดบุคลากรภาครัฐด่านหน้า ประชาชนที่มีโรคประจำตัว และสำรองใช้ควบคุมการระบาด ทั้งนี้ระยะต่อไปประชาชนจะได้รับวัคซีนหลักคือ แอสตร้าเซนเนก้าในเดือนมิถุนายน

ส่วนที่มีข้อสงสัยว่าการฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เกิดการระบาดเป็นการเสียเปล่าหรือไม่ นพ.เฉวตสรร อธิบายว่า ไม่เสียเปล่าอย่างแน่นอน เนื่องจากในพื้นที่นั้นไม่ได้ติดเชื้อทุกคน การฉีดวัคซีนย่อมกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน สำหรับการที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์วัคซีนแล้วทำให้ได้วัคซีนล่าช้า เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากวัคซีนที่จะได้รับเป็นวัคซีนที่จะผลิตจากอินเดีย ซึ่งขณะนี้ระงับการส่งออก การที่ไทยตัดสินใจเจรจาโดยตรงกับแอสตราเซเนกา ทำให้เราได้วัคซีนตามแผน และที่สำคัญจะทำให้มีโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศ สร้างความมั่นคงด้านวัคซีน

ทั้งนี้ ประชาชนที่สมัครใจจะรับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาที่จะมาในเดือนมิถุนายนนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดให้ลงทะเบียนใน Line Official Account หมอพร้อม หรือทางแอปพลิเคชัน หมอพร้อม ในเดือนพฤษภาคม รวมทั้งแจ้งความจำนงได้ที่ อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ สำหรับผู้ที่ป่วยที่มีโรคประจำตัว โรงพยาบาลที่ให้การรักษาจะติดตามมารับการฉีด

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS