เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2564 โครงการประกวดแนวความคิดในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ “หัวลำโพง: พื้นที่ ความหมาย และคุณค่าที่แปรเปลี่ยน” เพื่อร่วมเสนอความคิดเห็นต่อการปรับปรุงพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ให้สอดรับกับความต้องการของประชาชน และสร้างประโยชน์ทางสังคมที่หลากหลาย พร้อม ๆ กับการอนุรักษ์พื้นที่มรดกทางสถาปัตยกรรมไทย
รศ.อภิรดี เกษมศุข อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มองว่า งานด้านสถาปัตยกรรมมิใช่เพียงเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่คือการออกแบบพฤติกรรมของผู้ใช้งานด้วย สำหรับสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นพื้นที่เชื่อมโยงผู้คนและสถานที่ต่าง ๆ ด้วยกันในทางกายภาพ ทั้งทางเรือ คือใกล้กับคลองผดุงกรุงเกษม จุดเชื่อมต่อทางรถ ด้วยเส้นทางคมนาคมที่กระจายผู้คนไปในหลายพื้นที่ เช่น อยู่ใกล้กับย่านทรงวาด เยาวราช สำเพ็ง แต่กลับพบว่าจุดที่ทางรถไฟผ่าน กลับทำให้เกิดการแบ่งพื้นที่ และบริเวณใกล้สถานี มีจุดที่เป็นชุมชนแออัด จึงจำเป็นที่การพัฒนาจะต้องคิดถึงในเชิงกายภาพด้วย และอีกสิ่งคือ เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สถานีรถไฟหัวลำโพงถูกลดความสำคัญลง จะทำอย่างไรให้ผู้คนเดินทางมาที่นี่ เพื่อรักษาความมีชีวิตชีวาคู่กับการพัฒนาอาคารสถานี
สถานีรถไฟหัวลำโพงมีความเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือ Public Space อยู่ในตัวเอง ด้วยการใช้งานของพื้นที่ในลักษณะผสมผสาน แต่คนไม่รู้ว่า มาแล้วจะไปไหนต่อ นอกจากการปรับปรุงอาคารที่ทรงคุณค่า จึงต้องมองถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้น และการวางแผนให้เป็นจุดเชื่อมเส้นทางสัญจร ซึ่งคิดว่าเป็นบทบาทใหม่ของการรถไฟ ที่มากกว่ากิจการเดินรถในแบบเดิม นั่นคือการพัฒนาพื้นที่เพื่อประโยชน์ที่หลากหลายในสังคมด้วย
ผศ.พีรศรี โพวาทอง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สถานีหัวลำโพงคือสถาปัตยกรรมสะท้อนประวัติศาสตร์ สามารถบอกเรื่องราวในอดีตได้เป็นอย่างดี และมีคุณค่าเชิงสังคม ซึ่งสถานีหัวลำโพงคือ ระบบการคมนาคมที่สำคัญของประเทศเชื่อมการเดินทางของผู้คนจากเหนือ-ใต้ให้มาพบกัน อำนวยการขนส่งจดหมายไปรษณีย์ไปในที่ต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค ทำให้ผู้คนเดินทางและสื่อสารกันง่ายขึ้น จนอาจเรียกได้ว่า “รถไฟย่อโลก” กระทั่ง พ.ศ. 2506 เกิดนโยบายส่งเสริมคมนาคมทางหลวง และประมาณปี พ.ศ. 2510 ผู้คนก็เปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับการเดินทางบนนถนนมากขึ้น
หากจะทำให้การรถไฟหันมาให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงพื้นที่ในเชิงอนุรักษ์ และสอดรับกับความต้องการของคนเมือง คือต้องมองให้เห็นว่า การสร้างบทบาทใหม่ของสถานีหัวลำโพง สามารถสร้างเงินได้ เพราะปัจจุบัน การรถไฟอาจจะมีปัญหาทางการเงินอยู่
ด้าน วสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกกรมศิลปากร และประธานกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามฯ มองว่า มรดกทางสถาปัตยกรรมนั้นไม่ได้วัดกันที่อายุอานามของสถานที่นั้นเพียงอย่างเดียว แต่ผูกโยงไว้กับความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่ใช้ชีวิตร่วมด้วย
ซึ่งสมาคมสถาปนิกสยาม เคยมอบรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2545 ให้กับสถานีรถไฟหัวลำโพง ด้วยหวังว่าจะเกิดการพัฒนาและอนุรักษ์สถานีเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็มีการศึกษา ทำข้อมูล และผลักดันให้ที่นี่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรด้วย
คาดว่าช่วงปลายปีนี้จะมีมติจากกรมศิลปากร ในเรื่องการประกาศให้สถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่กฎหมายที่ห้ามทำอะไรกับสถานที่แห่งนี้ อยากให้ทุกคนกล้าที่จะคิดถึงการพัฒนาใหม่ ๆ ที่ไม่ทำลายคุณค่าเดิม แต่ให้ประโยชน์มากขึ้น เชื่อว่าการมีส่วนร่วมในการพัฒนา จากหลายฝ่าย ที่ไม่ใช่แค่นักสถาปนิกอย่างเดียว จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้
On The Road สถานีต่อไป หัวลำโพง
สถานีต่อไป หัวลำโพง เปิด(ร่าง)แผนปรับปรุงหัวลำโพง
แนวทางการพัฒนาสถานีหัวลำโพง