คลองโอ่งอ่าง โอกาส “เมืองสร้างสรรค์” เปิดประตูพื้นที่สาธารณะในเมือง

“สุชัชวีร์” นายกสภาวิศวกร และอธิการบดี สจล. วิเคราะห์โอกาสและแนวทางการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ในเมืองไทย หลังได้รับรางวัล 2020 Asia Townscape Award

หลังได้รับรางวัล 2020 Asia Townscape Award จากโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) ทำให้ “คลองโอ่งอ่าง” ย่านสะพานเหล็ก กรุงเทพฯ เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Creative City อย่างเต็มตัว เพราะการเป็น Creative City “พี่เอ้” หรือ “ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” นายกสภาวิศวกร และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิเคราะห์โอกาส และแนวทางการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ในเมืองไทย

นโยบายส่งเสริมการสร้างเมือง Creative

ในต่างประเทศเรื่องของศิลปะวัฒนธรรมเป็นเรื่องของประชาชนจริง ๆ ลองสังเกตหอศิลป์ในนิวยอร์ก ชิคาโก ฟิลาเดเฟีย ในอเมริกานั้น มักเป็นเอกชนทำกัน เป็นเรื่องที่คนเมืองรู้สึกว่าต้องทำ เพราะนี่มันเมืองของเรา บ้านของเรา เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ ๆ ทางด้านศิลปะวัฒนธรรม และความเป็นเมืองทางกายภาพด้วย

สมมติว่าคนมีสตางค์ มีที่ดิน อาจก่อสร้างโรงแรม คอนโด ตึก หรือสร้างห้างสรรพสินค้า ก็จะได้รายได้มากกว่า น้อยคนนักที่คิดจะสร้างพิพิธภัณฑ์ แต่ในต่างประเทศเขามีนโยบายจูงใจ เช่น ถ้าเอกชน หรือ อภิมหาเศรษฐี นำพื้นที่ของตัวเองมาสร้างพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งการเรียนรู้เป็นประโยชน์ให้กับคนเมือง จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการการเสียภาษี เพราะภาษีของต่างประเทศก้าวกระโดดมาก แต่ถ้าเกิดสร้างพื้นที่เพื่อการศึกษา พิพิธภัณฑ์ หอศิลปวัฒนธรรมก็จะลดอัตราภาษีให้ แถมยังมีชื่อเป็นเกียรติให้แก่ผู้สร้างอีกด้วย

เพราะศิลปะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง สังเกตเมืองที่ร่ำรวย ก็จะร่ำรวยศิลปะไปด้วย เช่น ประเทศฝรั่งเศส สำหรับประเทศไทยอาจจะมีมุมมองว่าศิลปะเป็นเรื่องที่หวงแหน แต่สำหรับต่างประเทศมองว่าจะต้องเผยแพร่ด้วย ในต่างประเทศพิพิธภัณฑ์จะอยู่ในเมือง แม้แต่เมืองเล็ก ๆ ก็จะมีพิพิธภัณฑ์หรือในมหาวิทยาลัยก็มีพิพิธภัณฑ์ประจำสถาบัน เพราะถือเป็นเรื่องที่สำคัญจริง ๆ แต่ประเทศไทยของเรายังไม่ค่อยมี

พื้นที่สร้างสรรค์ จะถูกยกย่องได้หรือไม่ ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยเหตุผลประการเดียวคือทุกคนได้ประโยชน์ถ้าเกิดทำแล้วได้ประโยชน์เช่น ชาวบ้านหรือคนทั่วไปได้เงินมากขึ้นทำแล้วมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น หากบรรลุเป้าหมายแบบนี้ทำอะไรก็สำเร็จเป้าหมาย ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินทองอย่างเดียวเท่านั้น อาจเป็นความภาคภูมิใจของเมือง อาจเป็นพื้นที่สาธารณะมากยิ่งขึ้นก็เป็นแรงจูงใจให้คนแต่ละเมืองผลักดันเรื่องที่ไม่เคยเป็นไปได้ให้เกิดขึ้นได้

เริ่มสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้

หากรัฐลงทุนแต่ไม่มีคนมา เพราะคนอยากไปเดินห้างมากกว่า งั้นรัฐก็บอกว่า เอาเงินนี้ไปทำอย่างอื่นดีกว่าไหม แสดงว่าเรื่องของการรักในศิลปะการสร้างสรรค์มันต้องเริ่มมาตั้งแต่เด็ก ๆ

เพราะอย่างนั้นมันจึงต้องมาอยู่ในเรื่องการเรียนการสอนการศึกษาตั้งแต่เด็กอนุบาลต้องสอนให้เขามีความรักความชื่นชอบในศิลปะและการเรียนรู้ หากว่าเป็นแบบนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว มีพิพิธภัณ์ตรงไหนก็จะมีคนไป จึงต้องมีสองทาง รัฐก็พยายามสร้างพื้นที่เรียนรู้ พ่อแม่ก็พยายามสนับสนุนให้ลูกสนใจเรื่องเหล่านี้มากกว่าการเล่นโทรศัพท์

ดีกว่าแค่สร้างสรรค์ คือ การเป็นพื้นที่สาธารณะ ‘Public Space’

เมืองควรจะเป็นเมืองที่คนมีพื้นที่สาธารณะใกล้ตัวเองมากที่สุด เหมือนกับในกรุงโตเกียวที่แม้ว่าประชากรจะหนาแน่นมากกว่ากรุงเทพฯ หลายเท่า แต่เรารู้สึกว่ามีพื้นที่สาธารณะมากเช่นกัน คือจะไม่มีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเลย ซอกตึกต่าง ๆ ขนาดนิดเดียว เขาก็จัดเป็นสวนให้คนนั่งได้ไม่ต้องไปเข้าร้านกาแฟ ไม่ต้องไปเสียเงินค่ากาแฟ เรียกว่า pocket park หรือสวนสาธารณะฉบับกระเป๋า ซึ่งในกรุงโตเกียวมีมากกว่า 1000 แห่ง

สังเกตไหม พื้นที่ที่เริ่มเจริญแล้วจะออกกฎหมายเก็บภาษีที่ดินหลายคนก็ไปแกล้งปลูกกล้วยแล้วก็มีลวดหนามมากั้น แต่ถ้าเกิดเอาใหม่รัฐบาลออกนโยบายว่าถ้าคุณปลูกกล้วย ก็ยังเก็บภาษีอยู่ แต่ถ้าคุณทำเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนเข้าไปวิ่งได้ ภาษีไม่ต้องเก็บเลยเอาไหม ซึ่งในกรุงเทพฯ มีพื้นที่รกร้างจำนวนมากหลาย 1,000 ไร่ถูกทิ้งไว้เป็นที่ทิ้งขยะบ้างไร้ประโยชน์

Creative Space คือพื้นที่ที่มีอะไรสร้างสรรค์ มีอะไรใหม่ ๆ เห็นแล้วว้าว เห็นแล้วน่าสนใจ แต่ถ้าว้าวแต่เป็นของคนใดคนหนึ่งมันก็แล้วไงต่อ หรือต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าไป หรือหากเราอยากได้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เราต้องเข้าไปทานข้าวในร้านอาหารที่หรู มันก็ว้าว สวย แต่มันไม่ใช่สำหรับทุกคน ถ้าเกิดพื้นที่ creative และเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนเป็นพื้นที่สาธารณะ อันนี้คือสิ่งที่เป็นเป้าหมายของเมือง เมืองที่ดีเขาบอกเลยว่าพื้นที่ที่ดีที่สุด จะต้องเป็นพื้นที่ของประชาชน


Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้