จุดความร้อน ภาคเหนือ ยังสูง 1,056 จุด มากสุด ในป่าอนุรักษ์ 749 จุด

ค่าฝุ่น PM 2.5 เหนือพุ่ง เกินมาตรฐาน 14 จุด สูงสุด ที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย 114 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

วันนี้ (4 มี.ค. 2564) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียม Suomi NPP ของระบบ VIIRS ของวันที่ 3 มี.ค. 2564 พบจุดความร้อนรวมทั้งประเทศ 1,411 จุด โดยเฉพาะที่ภาคเหนือพบจุดความร้อนมากถึง 1,056 จุด โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดอันดับหนึ่งได้แก่ จ.แม่ฮ่อนสอน 330 จุด รองลงมา จ.ตาก 164 จุด และ จ.กาญจนบุรี 154 จุด ตามลำดับ ซึ่งพบมากสุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 749 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 374 จุด พื้นที่เกษตร 139 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 89 จุด พื้นที่เขต สปก. 55 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 5 จุด

ภาพ FB : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

GISTDA ระบุว่าด้วยว่า จุดความร้อนมีปริมาณลดลงจากวันที่ผ่านมา แต่ยังคงมีการกระจุกตัวอยู่ที่บริเวณภาคเหนือ และภาคกลางอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จุดความร้อนเริ่มลดลง ซึ่งเป็นผลจากลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมประเทศไทยและทำให้ในหลายพื้นที่มีฝนตก และส่งผลให้การสะสมของฝุ่นละอองและหมอกควันลดลงด้วย

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านยังคงเห็นจุดความร้อนอย่างต่อเนื่อง โดยเมียนมามาเป็นอันดับหนึ่งมีจุดความร้อนสูงถึง 7,966 จุด รองลงมา คือ กัมพูชา 1,463 จุด ส่งผลให้พื้นที่จังหวัดใกล้เคียงในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองและหมอกควันที่อาจลอยข้ามแดนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ วันนี้ (4 มี.ค. 2564) ตรวจพบค่าระหว่าง 17 – 162 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐานที่บริเวณ ต.ช้างเผือก และ ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง, ต.บ้านดง และ ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย, ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน, ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน, ต.นาจักร อ.เมือง จ.แพร่, ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา, ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย, ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก, ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, รพ.เทพรัตนฯ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

โดยพื้นที่ที่พบค่าฝุ่น PM 2.5 สูงที่สุดของภาคเหนือคือ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย สูงถึง 114 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว