ภาคประชาชนที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน หนุนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก เสริมด้วยโรงไฟฟ้าฐานจากก๊าซธรรมชาติ ขณะที่กลุ่มสนับสนุนถ่านหิน เชื่อกลไก SEA ช่วยลดความขัดแย้ง แต่ไม่รับประกันข้อสรุปจากเวทีจะเห็นด้วยหรือไม่
วันนี้ (2 มี.ค.64) ศ.จำลอง โพธิ์บุญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ กล่าวว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการครั้งนี้ จัดเป็นครั้งที่ 4 และเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อให้ได้ข้อสรุปด้วยการทำแบบประเมินทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย 4 ทางเลือก คือ 1. ไม่พัฒนาพลังงานหมุนเวียน 2. พัฒนาพลังงานหมุนเวียนโดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าฐานใหม่ 3. พัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้มีสัดส่วนมากกว่าและเสริมด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซ และ 4. ใช้พลังงานก๊าซหรือถ่านหิน แล้วเสริมด้วยพลังงานหมุนเวียน
หลังได้ข้อสรุปจากการทำแบบประเมินเชิงปริมาณ จะนำมารับฟังความคิดเห็นอีกครั้งก่อนนำเสนอกระทรวงพลังงาน ตามกรอบข้อตกลง หรือ MOU ที่ได้ลงนามไว้ ตั้งแต่ช่วงปี 2562 ที่ ศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ข้อท้าทายคือการจัดการความคิดเห็นของกลุ่มที่เห็นต่างคนละจุดยืน ให้สานเสวนาพูดคุยกันได้ บนหลักการเหตุและผล ซึ่งอาจต้องใช้เวลา โดยการประเมินเชิงยุทธศาสตร์SEA นั้น ต่างจากการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ที่ใช้คนเป็นจำนวนมาก ๆ ร่วมทำประชาพิจารณ์ และอาจมีการกีดกันผู้เห็นต่างเข้าร่วมเวที
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานะหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้าร่วมโครงการศึกษาการประเมิน SEA ครั้งนี้ กล่าวว่า ภาคประชาชนที่เดินหน้าคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ยังคงสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก แต่หากให้หาจุดสมดุลของความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งต้องยอมรับว่าประเมินในอนาคตอีก 18 ปีข้างหน้าภาคใต้จะเกิดปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าฐาน และมีพลังงานที่เสถียร เชื้อเพลิงที่ยอมรับได้ และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด คือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งหากเดินควบคู่กันไปกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน จะเป็นแนวทางที่ยอมรับได้ ในส่วนของการสร้างโรงไฟฟ้าฐาน โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติควรมีเงื่อนไขว่าไม่ควรเกิน 1000 เมกะวัตต์
ด้าน พณวรรธน์ พงศ์ประยูร เลขาธิการเครือข่ายพัฒนาเทพาอย่างยั่งยืน ในฐานะกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ กล่าวว่า หากมีข้อสรุปออกมาก็อาจมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่การได้เข้าร่วมโครงการนี้ถือว่าเป็นการสานเสวนา ที่ให้ข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน โดยแต่ละฝ่ายจะต้องวางจุดยืนเดิมของตัวเองเพื่อหาจุดสมดุล ซึ่งตนยอมรับว่ามีจุดยืนสนับสนุนเชื้อเพลิงจากถ่านหิน หลังประเมินข้อดีข้อเสียทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางพลังงาน คงขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐ ว่าจะเดินหน้าอย่างไร ทั้งนี้ยังเชื่อในระบอบประชาธิปไตยคือเสียงส่วนมาก ควรมีการออกความเห็น เพื่อชี้ขาดแต่ก็เคารพเสียงส่วนน้อยไปด้วยพร้อมกัน เป็นทางออกที่ดีที่สุด