“ผู้บริโภค” เตรียมฟ้องมติให้ควบรวม เทสโก และ ซีพี

ชี้ ส่งผลก่ออำนาจเหนือตลาดมากกว่า 83.97% กระทบผู้บริโภค ขัด พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2560

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายผู้บริโภค ร่วมแถลงข่าว (24 ก.พ. 2564) เตรียมฟ้อง คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในวันที่ 15 มี.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล กรณีที่อนุญาตให้ควบรวมบริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ซีพี รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด มิชอบด้วยกฎหมาย พร้อมเชิญชวนผู้บริโภค เกษตรกร และนักธุรกิจร่วมเป็นโจทก์ฟ้องให้มากที่สุด

กชนุช แสงแถลง  ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผลของการควบรวมนี้ก่อให้เกิดการมีอำนาจเหนือตลาดของกลุ่มเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง มากกว่า 83.97% เนื่องจากกลุ่มเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทซีพีออล จำกัด และบริษัทสยามแมคโคร จำกัด ที่มีส่วนแบ่งในตลาดสูงสุด จึงเป็นมติที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่กำหนดไม่ให้ภาคธุรกิจใดมีอำนาจเหนือตลาดเกินกว่า 50% ในกิจการที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท และขัดต่อสิทธิผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 

“หลายพื้นที่ที่มีการระบาดโควิด-19 รุนแรง จะมีการปิดตลาด ปิดร้านอาหารตามกำหนดเวลา ประชาชนไม่มีทางเลือกนอกจากเข้าร้านค้าส่ง คือห้างแมคโคร แทนตลาด เข้าร้านสะดวกซื้อ ซึ่งขณะนี้มีอย่างน้อย 5 จังหวัด  ที่มีเพียงร้านสะดวกซื้อของ 7-11 และ เทสโก้โลตัส เท่านั้น จึงเห็นได้ว่า จังหวัดเหล่านี้เกิดการผูกขาด 100% ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในภาวะวิกฤต”

ด้าน ปรีดา เตียสุวรรณ์ อดีตประธานคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการค้าที่เป็นธรรมและการคุ้มครองผู้บริโภค (พศ. 2551-2552) กล่าวว่า อำนาจเหนือตลาดเกิดขึ้นที่จุด 50% ของส่วนแบ่งในตลาด ผู้มีอำนาจสามารถที่จะกำหนดให้ผู้ผลิตขายสินค้าแก่กลุ่มของตนในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง และตั้งราคาขายในตลาดต่ำกว่าคู่แข่ง จึงก่อให้เกิดการผูกขาดในสินค้านั้นๆ

ปรีดา กล่าวด้วยว่า สินค้าอุปโภคบริโภค ถือว่าเป็นสินค้ายุทธปัจจัยที่ประชาชนจะต้องใช้ทุกวัน เมื่อการผูกขาดเกิดขึ้นย่อมต้องกระทบต่อเสถียรภาพของผู้บริโภค และกระทบต่อความมั่นคง ซึ่งหากสินค้านั้นถูกขึ้นราคาอย่างไม่มีเหตุผล หรือจะมีการกักตุน ก็อาจจะลงท้ายด้วยการก่อการประท้วงและจลาจลได้ รวมถึงสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของบริษัทที่ประสงค์เข้ามาเป็นคู่แข่ง ขัดต่อการส่งเสริมศักยภาพการเติบโตของผู้ลงทุนหน้าใหม่ หรือ Start Up ตามนโยบายรัฐบาล ไม่เป็นไปตามกลไกการค้าเสรี

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวเสริมว่า มตินี้มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ทำให้ภาคการเกษตรผู้ผลิตอาหารต้องพึ่งพาและอยู่ภายใต้อำนาจการกำหนดชนิดของสินค้าเกษตร และราคาของบริษัทเดียวที่มีอำนาจเหนือตลาดมากกว่า 80%  โดยเฉพาะเมื่อประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพง

“ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น กล้วยหอม มีราคาใกล้เคียงกันหรือสูงกว่าในประเทศในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ประชาชนมีรายได้ต่ำกว่า 5-11 เท่า การมีอำนาจเหนือตลาด หรือการผูกขาดของบริษัทใดๆ ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งก็ตาม จะเป็นอุปสรรคในการนำพาประเทศฝ่าวิกฤตไปได้ยากลำบาก”

ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ทนายความในคดีนี้ เห็นว่า มติครั้งนี้จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานและการบังคับใช้กฎหมายทางเศรษฐกิจ รวมถึงการตีความทางกฎหมายที่ฉ้อฉล เพราะจะตีความว่า การมีอำนาจเหนือตลาดกว่า 80% “ไม่ถือว่าเป็นการผูกขาด” ซึ่งอาจจะนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบการผูกขาดลักษณะเดียวกันในธุรกิจด้านอื่นๆ ของประเทศต่อไปในอนาคต ทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก และผู้บริโภคได้รับผลกระทบในท้ายที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว