“กรีนพีซ” เปิดผลวิเคราะห์มลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดน ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงยังวิกฤต

พบ 1 ใน 3 ของพื้นที่เผาไหม้อยู่ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดระดับอุตสาหกรรม สะท้อนความล้มเหลวเป้าหมาย “อาเซียนปลอดหมอกควัน” ภายในปี พ.ศ. 2563

กรีนพีซ เผยรายงานผลความสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน เนื่องในโอกาสที่วันที่ 24 ก.พ. ของทุกปีถือเป็นวัน “ปลอดควันพิษจากไฟป่า”

โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมที่ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวโพด จุดความร้อน และร่องรอยพื้นที่เผาไหม้จากภาพถ่ายดาวเทียมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คือ ภาคเหนือตอนบนของไทย พื้นที่ตอนบนของ สปป.ลาว และรัฐฉานของเมียนมา ระหว่างปี พ.ศ.2558-2562

พบว่า มีพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดในอนุภาคภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอยู่โดยเฉลี่ย 1 ใน 3 (30%) ของพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนที่เกิดขึ้นทั้งหมด

รายงานยังระบุถึง ภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ปลูกข้าวโพดและจุดความร้อนในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พบว่า จุดความร้อนที่ตรวจพบและอยู่ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดนั้น พบมากที่สุดในเดือนเมษายนเกือบทุกปี ซึ่งสอดคล้องกับจุดความร้อนที่เริ่มมีมากตั้งแต่ช่วงต้นปี และสะสมมากที่สุดประมาณช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงกลางเดือนเมษายนของทั้ง 3 ประเทศ

ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลความเข้มข้นของ PM2.5 รายเดือนในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ระหว่างปี พ.ศ. 2562-2563 พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2563 แบบแผนการกระจายตัวของฝุ่น PM2.5 ที่มีความเข้มข้นเกินค่าเฉลี่ยรายเดือนตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (มากกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ครอบคลุมพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงรวม 112.6 ล้านไร่  โดยกระจายครอบคลุมตอนเหนือของ สปป.ลาว มากที่สุด 56.07 ล้านไร่ รองลงมาคือภาคเหนือตอนบนของไทย 39.3 ล้านไร่ และรัฐฉานของเมียนมา 17.2 ล้านไร่

ในช่วงปี พ.ศ. 2563 ยังพบร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสูงที่สุดในเดือนมีนาคมรวมกันเป็น 7,004,171 ไร่ รองลงมาคือเดือนกุมภาพันธ์จำนวน 6,524,028 ไร่ และเดือนเมษายนจำนวน 5,344,935 ไร่ ขณะที่ร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ฉลี่ยรายปีทั้งหมด 3,594,992 ไร่ ในช่วงปี 2563 อยู่ในเขตรัฐฉานของเมียนมา 2,001,539 ไร่ ตอนบนของ สปป.ลาว 986,761ไร่  และภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย 606,692 ไร่ ตามลำดับ

ส่วนจุดความร้อนที่พบในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งหมดในปี 2563 มีปริมาณสูงที่สุดในเดือนมีนาคมจำนวน 75,115 จุด และรวมตลอดทั้งปีมีจำนวน 131,498 จุด โดยอยู่ในรัฐฉานของเมียนมามากที่สุด 66,855 จุด หรือร้อยละ 50.84 ของจุดความร้อนทั้งหมด รองลงมา คือ ตอนเหนือของ สปป.ลาว 34,890 จุด หรือร้อยละ 26.53 ของจุดความร้อนทั้งหมด และภาคเหนือตอนบนของไทย 29,753 จุด หรือร้อยละ 22.63 ของจุดความร้อนทั้งหมด

กรีนพีซ ระบุด้วยว่า จากข้อค้นพบสำคัญจากการวิเคราะห์ความเข้มข้นของ PM2.5 รายเดือนในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ยังแสดงให้เห็นว่าปัญหามลพิษข้ามพรมแดน PM2.5 ไม่ได้ลดความรุนแรงลง และจำเป็นต้องมีการทบทวนความล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมาย ภูมิภาคอาเซียนปลอดหมอกควันภายในปี พ.ศ. 2563 (Haze-free ASEAN by 2020) และมีมาตรการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมขั้นต่อไปภายใต้ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) 

ประกอบกับนโยบายมาตรการทางกฎหมายจากภาครัฐที่เอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการก่อให้เกิดหมอกควันพิษตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต  หากยังขาดมาตรการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหามลพิษทางอากาศที่ภาคเหนือตอนบนของไทยที่มีสาเหตุหลักจากการเผาวัสดุจากการทำเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรม ก็จะยังคงมีแนวโน้มที่จะคุกคามสุขภาพของประชาชนต่อไปทุกปี

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว