“สมาคมฟ้าสีรุ้ง” ร้องผู้บริหารสื่อช่องดัง เหตุนักข่าวในสังกัด คุกคาม LGBTQ+

ยื่นหนังสือถึง “ไทยรัฐทีวี” ชี้ เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย ถึงเวลาปฏิรูปกระบวนการทางกฎหมาย ให้ความรู้กับคนในสังคม เข้าใจ  Hate Crimes

เมื่อวันที่ (12 ก.พ. 2564) สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย พร้อมผู้เสียหาย เข้ายื่นหนังสือถึงผู้บริหารไทยรัฐทีวี เพื่อตรวจสอบจริยธรรมของนักข่าวในสังกัด ที่ใช้ถ้อยคำ การแสดงออกในลักษณะข่มขู่ คุกคาม และแสดงความเกลียดชังผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

นาดา ไชยจิตย์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และเป็นหนึ่งในผู้เสียหาย ระบุว่า ที่ตนเองเข้ายื่นหนังสือถึงผู้บริหารไทยรัฐทีวีในวันนี้ เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 ตนเองได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหาย แจ้งว่าได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนจากความจริง โดยนักข่าวที่อ้างว่าเป็นผู้สื่อข่าวภูมิภาคของไทยรัฐทีวี เมื่อรวบรวมหลักฐานที่เป็นการแชท และคลิปเสียง จึงพาผู้เสียหายเข้าแจ้งความ และต่อตำรวจ สำนักงานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน

แต่ที่ผ่านมาตนและผู้เสียหายยังถูกนักข่าวคนดังกล่าว คุกคามด้วยการโทรศัพท์ และช่องทางออนไลน์มาโดยตลอด และได้พยายามติดต่อ พร้อมส่งหลักฐานมายังผู้บริหารของไทยรัฐทีวี เพื่อให้ตรวจสอบจริยธรรมของนักข่าวคนดังกล่าว แต่ได้รับคำตอบว่าจะตรวจสอบให้ ซึ่งตนเองเห็นว่าเหตุการณ์ค่อนข้างผ่านมานานแล้ว และทุกวันนี้ยังคงใช้ชีวิตด้วยความกังวล และหวาดกลัว จึงรวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือด้วยตัวเองถึงผู้บริหารในวันนี้

“วันนี้เรามายืนหนังสือถึงผู้บริหาร และแสดงออกว่า การคุกคาม หรือก่ออาชญากรรมด้วยความเกลียดชังไม่ควรเกิดขึ้นกับใครในสังคม กรณีของนักข่าวคนนี้ มีถ้อยคำชัดเจนว่าเกลียดกะเทย อยากให้หมดไปจากโลกนี้ แม้ยังไม่ถึงขั้นทำร้ายร่างกาย แต่ก็ทำให้การออกไปใช้ชีวิตทุกวันนี้เป็นไปด้วยความหวาดกลัว เป็นการอาฆาตมาดร้ายต่อบุคคลที่ไม่เคยรู้จักกัน แต่เพราะมีอคติที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจ อย่างกรณีของชายที่ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตที่อเมริกา เพราะเหยียดเชื้อชาติ เราไม่รู้เลยวันไหนจะเกิดขึ้นกับเรา”

ในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นาดา ยังเสนอ ว่า อยากให้ไทยมีกฎหมายที่ว่าด้วยการก่ออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate Crimes) หลักการก็ คือ เพิ่มโทษจากกฏหมายเดิมที่มีอยู่ เพื่อยับยั้งทัศนคติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่แตกต่าง ทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒธรรม สีผิว เพศ ฯลฯ ตั้งแต่การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จนถึงการทำร้ายร่างกาย เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันโดยมีความแตกต่างหลากหลาย พร้อมกับให้ความรู้กับคนในสังคม และผู้บังคับใช้กฎหมาย เพราะไทยยังมีความเข้าใจ  Hate Crimes น้อยมาก แม้กระทั่งตำรวจที่รับแจ้งความในกรณีของตนเอง ยังไม่เข้าใจว่าการเกลียดกระเทย จะนำไปสู่การทำร้ายร่างกายได้อย่างไร

ด้านตัวแทนไทยรัฐทีวี ที่ออกมารับหนังสือ ยืนยันว่าจะเร่งตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้ พร้อมขอบคุณสังคมที่ช่วยกันตรวจสอบ ติดตาม ไม่ปล่อยให้เรื่องเงียบ พร้อมยืนยันว่าไทยรัฐ ไม่มีนโยบายปิดกั้นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะในสังกัด ก็มีผู้สื่อข่าว ซึ่งเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ อยู่เช่นกัน

ขณะที่บรรยากาศวันนี้ มีทั้งบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่ม “เฟมินิสต์ปลดแอก” มาร่วมให้กำลังใจ และเรียกร้องให้ทุกคนเคารพความแตกต่างหลากหลาย และหยุดส่งต่อความเกลียดชังในสังคม โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถือเป็นเดือนแห่งการยุติความรุนแรงต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน