‘ก้าวไกล’ เสนอแก้ 5 ร่างกฎหมาย รวม ม.112 ‘หมอวรงค์’ ยื่น 1 แสนชื่อ ค้านแก้

วันนี้ (10 ก.พ.) ที่รัฐสภา มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 โดย “ก้าวไกล” เสนอ ร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพฯ 5 ฉบับ รวมแก้ ม.112 ส่วน “ไทยภักดี” ค้านแก้

วันนี้ (10 ก.พ. 2564) นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี ยื่นหนังสือถึงประธานวุฒิสภา เพื่อคัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พร้อมแนบรายชื่อผู้คัดค้านจำนวนทั้งหมด 101,568 รายชื่อ เนื่องจากเห็นว่ามาตรา 112 ไม่ได้จำกัดเสรีภาพการแสดงออก

“กฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้ไปจำกัดสิทธิ เสรีภาพ หรือการแสดงออกใด ๆ ของประชาชนที่สุจริต ยกเว้นการกระทำที่ส่อเจตนา ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันนี้ มีนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง มีเจตนาร้ายต่อสถาบันเบื้องสูง ต้องการล้มล้างสถาบัน แต่ใช้คำกล่าวที่เลี่ยงว่า ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์”

การยื่นหนังสือดังกล่าว มี ศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา เป็นตัวแทนรับหนังสือจากกลุ่มไทยภักดี

“ก้าวไกล” ยื่นร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพฯ 5 ฉบับ รวมแก้ ม.112

ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยื่นเสนอชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ รวมถึงร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อประธานรัฐสภา โดยระบุว่า เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง พร้อมยืนยัน ยังยึดมั่นและธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์

“พรรคก้าวไกลมีจุดยืนในการสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งหลักการที่สำคัญที่สุด คือ การทำให้สถาบันเป็นที่เคารพสักการะ ปลอดจากคำติฉินนินทา และคำวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ของสาธารณชน ซึ่งหนทางเดียวที่จะทำเช่นนั้นได้ คือ การดึงสถาบันฯ ให้พ้นจากการเมือง ทุกคนมีหน้าที่ต้องช่วยกันป้องกัน ไม่ให้กลุ่มบุคคลใดเข้าไปฉกฉวย หยิบยก แอบอ้างความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ แต่นำไปใช้โจมตีอีกฝ่าย โดยเฉพาะการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการฟ้องร้องปิดปาก”

ส่วนกรณี ส.ส.พรรคก้าวไกล 9 คน ที่ไม่ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติ พิธา กล่าวว่า ถือเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคที่ต้องยอมรับซึ่งกันและกัน หลายคนอาจชอบหรือไม่ชอบ แต่ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลยังมีความเป็นเอกภาพ

เปิดรายละเอียด ร่างกฎหมาย 5 ฉบับของพรรคก้าวไกล

ด้าน ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงสาระสำคัญที่แก้ไข โดยใน ร่างฉบับที่ 1 ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเพื่อแก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งหมด ทั้งที่เป็นการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป การดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ศาล รวมถึงความผิดดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาต มาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์

การแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ มีสาระสำคัญ คือ เพื่อประกันเสรีภาพในการแสดงออกโดยให้ได้สัดส่วนกับการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

โดยแบ่งได้เป็น 3 ส่วน ส่วนแรก ยกเลิกโทษจำคุก ให้คงเหลือแต่โทษปรับในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลทั่วไป (ป.อาญา ม.326, 328, 393) ในฐานความผิดดูหมิ่นเจ้าพนักงานมาตรา 136 และดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา มาตรา 198

ชัยธวัช ระบุว่า เนื่องจากตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลปัจจุบัน การลงโทษจำคุกในทางอาญาซึ่งควรนำมาใช้กับการกระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงเท่านั้น ถือเป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสมสำหรับกรณีหมิ่นประมาท และไม่ได้สัดส่วนระหว่างการประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลอื่น ผู้กระทำผิดจึงได้รับโทษรุนแรงกว่าสภาพความผิด นอกจากนี้การกำหนดบทลงโทษจำคุกในความผิดฐานหมิ่นประมาทยังกระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน

ส่วนที่สอง ย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 112 ไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่ คือ ลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อให้มีความเหมาะสมทั้งในแง่โครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ การยกเว้นความผิด การยกเว้นโทษ และผู้ร้องทุกข์

โดยในส่วนนี้มีประเด็นพิจารณา ดังนี้ เพื่อคุ้มครองพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ พระราชินี รัชทายาท และรวมถึงเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการ ให้เหนือกว่าประชาชนทั่วไป จึงกำหนดอัตราโทษให้ยังมีโทษจำคุก แต่ลดอัตราโทษลงมา ไม่ให้รุนแรงจนเกินไป ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำไว้ รวมทั้งสามารถพิจารณาลงโทษปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อให้ได้สัดส่วนกับสภาพความผิด โดยจะระบุบัญญัติว่า “ผู้ใด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

และเพื่อให้มีบทยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ จึงบัญญัติให้ “ผู้ให้ติ ชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้น ไม่มีความผิด ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้น เป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามมิให้ ถ้าเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์และการพิสูจน์นั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน”

และเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลทั่วไป นำหลักฐานความผิดนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งผู้อื่น หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงกำหนดให้ สำนักพระราชวัง เป็นผู้ร้องทุกข์ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดลักษณะนี้ โดยห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย นาม หรือข้อความใด อันแสดงหรืออนุมานได้ว่า พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ทั้งนี้ กำหนดให้ความผิดในลักษณะนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้

ส่วนที่สาม  เป็นการย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาต มาดร้าย ราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท ประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่ราชอาณาจักร ตามมาตรา 133 และ 134 ไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่ คือ ลักษณะความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศของประมุขแห่งรัฐ หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ เพื่อให้มีความเหมาะสมทั้งในแง่โครงสร้างของบทบัญญัติและอัตราโทษ โดยยกเลิกโทษจำคุก คงเหลือไว้แต่โทษปรับ

ร่างฉบับที่ 2 ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายในการเอาผิดต่ออาชญากรรมบนคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่การนำไปใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์

สาระสำคัญ คือ การแก้ไขในมาตรา 14 กำหนดความผิดให้ชัดเจนขึ้นว่า ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ทำปลอมขึ้นทั้งหมด หรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ โดยระวางโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยยกเลิกฐานความผิดตามอนุมาตราอื่นในมาตรา 14 เดิมที่ไม่ชัดเจน เช่น ความผิดที่บอกว่าก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หรือซ้ำซ้อนกับฐานความผิดที่มีอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา เช่น ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

รวมทั้งเสนอแก้บทบัญญัติโทษตามมาตรา 16 วรรค 1 ให้ยกเลิกโทษจำคุก คงเหลือเพียงโทษปรับ และแก้ไขมาตรา 20 โดยให้การพิจารณาสั่งระงับการเผยแพร่หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ให้เป็นอำนาจของศาล แต่จะสั่งระงับการเผยแพร่ได้ภายในเวลาไม่เกิน 365 วัน ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่การพิจารณาคดีควรจะแล้วเสร็จ

ร่างฉบับที่ 3 และร่างฉบับที่ 4 ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแก้ไขวิธีพิจารณาความอาญาและความแพ่ง โดยทั้ง 2 ฉบับเป็นกลไกคุ้มครองประชาชนจากการฟ้องคดีปิดปาก

ทั้ง 2 ร่าง ผู้ศึกษาและจัดทำร่าง คือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เพื่อสร้างกลไกคุ้มครองประชาชนจากการถูกฟ้องคดีปิดปากโดยหน่วยงานรัฐหรือเอกชน สาระสำคัญคือ การนิยามว่าคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะคืออะไรไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และกำหนดกระบวนการให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถยื่นคำร้องต่ออัยการหรือศาล ให้พิจารณาได้ว่า คดีนั้นเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะหรือไม่ หากเป็น ให้อัยการสั่งไม่ฟ้องหรือยกฟ้อง

และ ร่างฉบับที่ 5 ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมมวลกฎหมายอาญาเพื่อให้ประชาชนสามารถเอาผิดเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม ที่กระทำการบิดเบือนกฎหมายต่อประชาชน เพิ่ม มาตรา 201/1 เพื่อกำหนดบทลงโทษพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวนที่ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยไม่ชอบ กระทำการบิดเบือนกฎหมายในระหว่างทำการสอบสวน เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุก 1-5 ปี

ชัยธวัช ยืนยันว่าการที่พรรคก้าวไกลเสนอกฎหมาย ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการล้มล้างการปกครอง และไม่ได้ถือเป็นการยกเลิกกลไกคุ้มครองพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ เพียงแต่เป็นการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย

ส่วนที่มีกลุ่มไทยภักดีมายื่นคัดค้าน เป็นเรื่องปกติ ที่เป็นสิทธิจะเห็นด้วยหรือไม่ และยอมรับว่ากฎหมายนี้ไม่ถูกใจกลุ่มคนที่อยากให้ยกเลิกมาตรา 112 ด้วยเช่นกัน พร้อมยืนยันว่า ไม่กังวลหากถูกยุบพรรค เพราะการยุบพรรคเกิดขึ้นได้ก็แก้ไขกันไป แต่ยืนยันว่าเป็นการปกป้องเสรีภาพของประชาชนที่ถูกคุมคาม ทั้งนี้หลังกฎหมายเข้าสภาฯ คงต้องพูดคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างมีวุฒิภาวะอีกครั้ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว