คาด เดือน ก.พ. 64 น้ำทะเลหนุนสูงต่อเนื่อง

ทำน้ำประปาเค็ม ‘กรมอนามัย’ แนะ กลุ่มผู้ป่วยโรคไต – ความดันโลหิตสูง ควรงด หรือ เปลี่ยนไปดื่มน้ำ ที่ผ่านการกรองด้วยระบบ RO

เมื่อวันที่​ 3​ ก.พ.​ 2564​ รักษ์ศักดิ์ สุริยหาร รองผู้ว่าการด้านการผลิตและส่งน้ำ การประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 มีปริมาณน้ำจากเขื่อนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อรสชาติน้ำประปาในบางพื้นที่ บางช่วงเวลา โดยเฉพาะเมื่อน้ำทะเลหนุนสูง และจากการติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่า ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ น้ำทะเลจะหนุนสูงกว่าปกติและส่งผลให้น้ำประปาบางช่วงเวลาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีรสชาติเปลี่ยนแปลงไป แต่น้ำประปายังคงสะอาดปลอดภัยตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO)

รองผู้ว่าการ กปน. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กปน. ได้ตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์น้ำ” เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยมีมาตรการรองรับสถานการณ์ ดังนี้

  1. บริหารจัดการการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ด้วยความรัดกุม โดยสูบน้ำที่มีลิ่มความเค็มสูงเข้ามาในคลองประปาให้น้อยที่สุด ซึ่งความสามารถในการหลบเลี่ยงทำได้สูงสุดเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น เพื่อให้ทุกพื้นที่ให้บริการของ กปน. ทั้งกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ มีน้ำประปาใช้อย่างไม่ขาดแคลน
  2. ร่วมมือกับกรมชลประทาน และสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ในการร่วมปฏิบัติการกระแทกน้ำ (Water Hammer of Chao Phraya River Flow Operation : กระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา) เพื่อผลักดันน้ำเค็มให้ไกลจากบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล ช่วยบรรเทาสถานการณ์น้ำทะเลหนุน โดยได้ดำเนินการไปแล้ว 2 ครั้ง ระหว่างวันที่ 13-16 ม.ค. 2564 และ 28-31 ม.ค. 2564
  3. เปิดจุดบริการน้ำประปาดื่มได้ให้บริการฟรี ให้ประชาชนสามารถนำภาชนะมารับน้ำประปาได้ ดังนี้
  • สำนักงานประปาสาขาสุวรรณภูมิ สำนักงานประปาสาขามีนบุรี สำนักงานประปาสาขาสมุทรปราการ สำนักงานประปาสาขาบางเขน สำนักงานประปาสาขาสุขุมวิทและสำนักงานประปาขาพระโขนง สำนักงานประปาสาขาพญาไท สำนักงานประปาสาขาแม้นศรี สำนักงานประปาสาขาลาดพร้าว สำนักงานประปาสาขาประชาชื่น สำนักงานประปาสาขาทุ่งมหาเมฆ สำนักงานประปาสาขานนทบุรี สำนักงานประปาสาขาบางกอกน้อย และจุดให้บริการที่ ชุมชนซอยสามัคคี 30 เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.00 – 20.00 น.
  • สำนักงานใหญ่ กปน. ฝ่ายมาตรวัดน้ำ สถานีสูบจ่ายน้ำคลองเตย สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง สถานีสูบจ่ายน้ำบางพลี และสถานีสูบจ่ายน้ำมีนบุรี เปิดให้บริการในวันและเวลาราชการ เวลา 08.30 – 16.30 น.
  1. แจ้งข้อมูลคาดการณ์คุณภาพน้ำประปารายวัน ผ่านทาง facebook / twitter /IG / Line : MWAthailand /แอปพลิเคชัน MWA onMobile และ www.mwa.co.th เพื่อให้ประชาชนสามารถสำรองน้ำในช่วงปกติ (ค่าคลอไรด์ไม่เกิน 250 มก./ล.) ไว้สำหรับการบริโภค และขอให้กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันสูง โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคบางช่วงเวลา

นอกจากนี้ กปน. ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 โดยขยายกำลังการผลิตน้ำของโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในอนาคต การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจากโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ เชื่อมฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเพิ่มอีกหนึ่งเส้นทาง รองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

กรมอนามัย แนะ ปชช. ไม่ควรต้มน้ำดื่มแก้ปัญหาน้ำเค็ม

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุถึง กรณีในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ที่ประสบปัญหาน้ำประปามีรสชาติกร่อย ว่า ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์จากทางการประปานครหลวง ส่วนผลกระทบต่อร่างกาย เบื้องต้นคนปกติต้องการ โซเดียม ประมาณ 2,000 มิลลิกรัม ถ้าดูในเรื่องของมาตรฐานการผลิตน้ำประปา ต้องมีโซเดียมอยู่ที่ประมาณ 100-150 มิลลิกรัมต่อลิตร ไม่มีข้อแนะนำให้ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว ซึ่งแก้วนึงประมาณ 250 ซีซีเท่ากับว่า 8 แก้วประมาณ 2 ลิตร ว่าเราบริโภคน้ำประปาตามที่ผลิตออกมาร่างกายจะได้เกลือหรือโซเดียม 200-300 มิลลิกรัม  ซึ่งถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับปริมาณเกลือที่ เราได้รับในแต่ละวันจากการบริโภคอาหารอื่น ๆ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย

สำหรับประชาชน การบริโภคน้ำประปาในช่วงนี้ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพียงแต่ว่าช่วงไหนถ้าได้ติดตามข้อมูลว่าน้ำทะเลหนุนสูง ก็ควร งด เลี่ยงในการใช้น้ำอุปโภคบริโภค

แต่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ไวต่อการได้รับโซเดียมในจำนวนมากที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพนั้น เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคไต โรคความดันโลหิตสูง กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ มีข้อแนะนำ ให้ควรงด หรือ เปลี่ยนไปบริโภคน้ำ ที่ผ่านการกรองด้วยระบบ RO

กรณีที่ประชาชนแก้ปัญหาน้ำเค็มด้วยการนำน้ำมาต้ม นั้น ทางอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า เมื่อนำน้ำไปต้มแล้ว น้ำก็จะระเหยกลายเป็นไอ แต่เกลือไม่ได้หายไปไหน สมมุติว่า ถ้ามี โซเดียม คลอไรด์ แร่ธาตุต่าง ๆ อยู่ในน้ำ จะทำให้ปริมาณน้ำน้อยลง สัดส่วน ในตัวแร่ธาตุ เช่น โซเดียมก็จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้น คือ ทำให้น้ำเค็มขึ้น ถึงไม่แนะนำให้นำน้ำไปต้ม  ซึ่งคำแนะนำ คือ ให้ใช้เครื่องกรองน้ำระบบ RO เพราะในปัจจุบันเครื่องกรองน้ำระบบนี้มีราคาถูกลง สามารถนำไปใช้ในครัวเรือนได้ หรือตัวตู้หยอดน้ำเหรียญต่าง ๆ หรือกระบวนการน้ำดื่มที่ผ่านมาตรฐานจาก อย. ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตน้ำด้วยระบบ RO

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS