นักวิจัย ม.นเรศวร เปิดผลตรวจสอบการปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ หลังสิ้นสุดดูดตะกอนฟื้นฟูระยะแรก 1,000 วัน “ตะกั่ว” ยังปนเปื้อนสูง ค่าตะกั่วในผัก-ปลาเกินค่ามาตรฐาน เตรียมยื่นศาลใช้กลไกบังคับคดี
ภายหลังทีมนักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และ ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนตะกั่ว หมู่บ้านคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ร่วมกับ กรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อช่วงปลายปี 2563 เพื่อติดตามการฟื้นฟูลำห้วย ตามที่ กรมควบคุมมลพิษ ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เข้าดำเนินการ ด้วยงบประมาณกว่า 454 ล้านบาท ในระยะเวลา 1,000 วัน ด้วยวิธีดูดตะกอนดินในลำห้วย
ก่อนหน้านี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้กำหนดค่าเป้าหมายการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ (เบื้องต้น) ต้องมีตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยไม่เกิน 1,800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในขณะที่ค่าเป้าหมายจากนักวิชาการในกรรมการไตรภาคีฯ กำหนดไว้ที่ 563 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ก่อน-หลังฟื้นฟู ค่าตะกั่วยังสูงเท่าเดิม
แต่จากการลงพื้นที่หมู่บ้านคลิตี้ครั้งล่าสุด เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วย หลังสิ้นสุดการฟื้นฟูรอบแรก โดยเก็บตัวอย่างน้ำ และตะกอนดินในลำห้วยคลิตี้ไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการ พบข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะเมื่อนำค่าที่ได้ ไปเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยที่เคยตรวจวัดช่วงก่อน และระหว่างการฟื้นฟู ในปี 2561 พบว่าหลายจุด ค่าการปนเปื้อนไม่ลดลง และยังคงปริมาณการปนเปื้อนสูงเช่นเดิม
เช่น พื้นที่ต้นน้ำบ้านคลิตี้บน หรือ จุด KC2 จากความเข้มข้นของตะกั่วในตะกอนท้องน้ำ ปริมาณ 44,500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในปี 2561 แต่หลังการฟื้นฟูพบความเข้มข้นของตะกั่วอยู่ที่ 65,291 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในปี 2563
ขณะที่จุดเหนือฝาย หรือ KC5 พบค่าความเข้มข้นตะกั่วในตะกอนท้องน้ำ ปริมาณ 1,190 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในปี 2561 หลังการฟื้นฟูกลับเพิ่มเป็น 4,946 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในปี 2563 เช่นเดียวกับค่าเฉลี่ยหลายจุด ที่ยังพบการปนเปื้อนของตะกั่วในปริมาณสูงระหว่าง 3,000 – 7,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จะสังเกตได้ว่าแทบทุกจุดค่าความเข้มข้นของตะกั่วที่ปนเปื้อนในลำห้วยสูงเกินกว่าค่าเป้าหมายที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดเอาไว้ ว่าหลังการฟื้นฟูต้องมีค่าตะกั่วปนเปื้อนไม่เกิน 1,800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
“ปลา” ปนเปื้อนตะกั่วสูงเกินค่ามาตรฐาน
ทีมนักวิจัย ยังได้เก็บตัวอย่างปลาในลำห้วยไปตรวจสอบ และพบค่าความเข้มข้นตะกั่วในปลาเกินค่ามาตรฐาน เช่น ในเนื้อปลา พบค่าความเข้มข้นตะกั่วสูงสุดอยู่ที่ 1.6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.93 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ในพุงปลา พบค่าความเข้มข้นตะกั่วสูงสุดที่ 18.20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.18 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ในไส้ปลา พบค่าความเข้มข้นตะกั่วสูงสุดที่ 56.70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 26.98 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ในเหงือกปลา พบค่าความเข้มข้นตะกั่วสูงสุดที่ 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.36 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
และ ในก้างปลา พบค่าความเข้มข้นตะกั่วสูงสุดที่ 27.30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 14.96 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
โดยที่ค่ามาตรฐานของสารตะกั่วในเนื้อปลา กำหนดไว้อยู่ที่ 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (น้ำหนักเปียก) เท่านั้น
พบตะกั่วปนเปื้อนใน “ผัก” หลายชนิด
นอกจากนี้นักวิจัยยังได้เก็บตัวอย่างพืชผักในพื้นที่บริเวณลำห้วยคลิตี้ไปตรวจสอบ ก็พบปริมาณตะกั่วปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานเช่นกัน ประกอบด้วย ผักกวางตุ้ง พบใบมีค่าตะกั่วปนเปื้อน 11 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ก้าน 5.94 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ราก 16.80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ผักกูด พบใบมีค่าตะกั่วปนเปื้อน 41.70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ต้น 18.30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ผักบุ้ง พบใบมีค่าตะกั่วปนเปื้อน 1.35 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ลำต้น 0.61 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ราก 1.29 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
สำหรับค่ามาตรฐานของสารตะกั่วในผักใบ กำหนดไว้ที่ 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเท่านั้น
ตั้งคำถามฟื้นฟูขาดประสิทธิภาพ ใครรับผิดชอบ
ผศ.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ในฐานะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วฯ ระบุว่า การตรวจพบค่าความเข้มข้นของตะกั่ว ที่ยังปนเปื้อน ทั้งในลำห้วยคลิตี้ ในสิ่งมีชีวิต และพืชผัก ปริมาณสูง กำลังสะท้อนถึงประสิทธิภาพการฟื้นฟู ที่สำคัญคือความเข้มข้นของตะกั่วในสิ่งแวดล้อมที่ยังเกิดขึ้น น่าจะมีส่วนเชื่อมโยงกับผลการตรวจหาตะกั่วในเลือดเด็ก เมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปี 2562 ซึ่งตามข้อมูลที่รายงานโดยสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี พบค่าสารตะกั่วในเลือดเด็กยังสูงเกินค่ามาตรฐานถึง 59.3 % ทั้งที่ค่าการปนเปื้อนสารตะกั่วในเลือดเด็กที่ยอมรับได้ต้องไม่สูงเกิน 5 % หรืออยู่ที่ไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร
“ทราบข่าวมาว่าการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยวิธีดูดตะกอนเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา คำถามคือในช่วงเวลาเกือบ 2 เดือนก่อนหน้านั้น ที่นักวิจัยไปเก็บตัวอย่างในพื้นที่จนนำมาสู่ผลตรวจสอบในวันนี้ ที่พบว่าค่าการปนเปื้อนของตะกั่วยังสูงอยู่ แล้วแบบนี้กรมควบคุมมลพิษจะรับผิดชอบอย่างไร เพราะคำสั่งศาลปกครองก็ระบุชัดเจนว่าต้องฟื้นฟูลำห้วยให้กลับคืนสู่ค่ามาตรฐานให้ได้มากที่สุด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะบอกว่าการปนเปื้อนผ่านเกณฑ์ได้หรือไม่ เพราะหลายจุดยังเกินค่าเป้าหมายที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดขึ้นเองหลายเท่า และเมื่อการฟื้นฟูไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ ทั้งที่ใช้งบประมาณไปเกือบ 500 ล้านบาท ใครต้องรับผิดชอบ ดังนั้น ผลการตรวจสอบที่ได้ครั้งนี้ นักวิชาการในกรรมการไตรภาคีฯ จะนำไปยื่นเป็นหลักฐานต่อศาลปกครอง และผู้บังคับคดี เพื่อให้มีแนวทางตรวจสอบการฟื้นฟูโดยกรมควบคุมมลพิษ และมีมาตรการเพื่อทำให้การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เป็นไปตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัดต่อไป”
กรณีตะกอนหางแร่ตะกั่วจากโรงแต่งแร่ ไหลปนเปื้อนลงสู่ลำห้วยคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เกินค่ามาตรฐานในปริมาณที่สูง ส่งผลให้ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ที่ใช้น้ำในลำห้วย ได้รับสารพิษตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ นำมาสู่การฟ้องร้องทั้งคดีแพ่งที่ฟ้องต่อ บริษัท ตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ ประเทศไทย จำกัด กับพวก และคดีปกครอง ฟ้องต่อกรมควบคุมมลพิษ จนในปี 2556 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และในปี 2560 ศาลฎีกา (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) มีคำพิพากษาให้ บริษัท ตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ฯ กับพวก ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ จนกว่าลำห้วยคลิตี้จะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษ ว่าจ้าง บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีนฯ เข้าดำเนินการฟื้นฟูระยะแรก ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2560 ใช้งบฯ 454 ล้านบาท จนตอนนี้สิ้นสุดระยะเวลาโครงการเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ เพิ่งได้รับอนุมัติงบฯ อีกกว่า 205 ล้านบาท สำหรับการดำเนินโครงการฟื้นฟูระยะที่ 2