กรมชลฯ เร่งระบายน้ำเพิ่ม ไล่น้ำเค็ม

น้ำทะเลหนุนสูง ทำแม่น้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน เค็มเกินค่ามาตรฐาน กระทบพื้นที่เกษตร 2 พันไร่ กรมชลฯ เร่งระบายน้ำเพิ่ม ไล่น้ำเค็ม

วันนี้ (1 ก.พ. 2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมชลประทาน เพิ่มการระบายน้ำเพื่อเจือจางความเค็ม และช่วยลดผลกระทบต่อเกษตรกร หลังเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาและเพาะปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น

จากการติดตามการตรวจวัดค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2564 เวลา 20.00 น. มีค่าความเค็มอยู่ที่ 2.50 กรัมต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง (บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี) และการเพาะปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น

กรมชลประทาน จึงได้เพิ่มการระบายน้ำเขื่อนพระรามหก จากเดิมระบาย 20 ลบ.ม. ต่อวินาที เป็น 25 ลบ.ม. ต่อวินาที ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) และจะทยอยปรับการระบายเพิ่มขึ้นเป็น 30 ลบ.ม. ต่อวินาที ไปจนถึงวันที่ 2 ก.พ. เพื่อประหยัดน้ำต้นทุน โดยเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จาก 35 ลบ.ม. ต่อวินาที เป็น 45 ลบ.ม. ต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.–2 ก.พ. เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตอนบน

รวมทั้ง ขอความร่วมมือประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทุกแห่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจรดอ่าวไทย ให้งดการรับน้ำหรือสูบน้ำในระยะนี้ เพื่อให้การควบคุมค่าความเค็มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดและมีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม พร้อมสั่งการให้โครงการชลประทานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด

ด้าน ณรงค์ สำลีรัตน์ ประธานแปลงใหญ่ไม้ประดับอำภอพระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งจะต้องวัดค่าความเค็มก่อนนำน้ำมารดในแปลงแปลงไม้ประดับ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาแม้ช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายนจะเป็นช่วงน้ำเค็มรุก แต่จะมีน้ำจืดตอนบนลงมาช่วยดันน้ำเค็มออกไป ต่างกับปีนี้ที่เกษตรกรต้องใช้วิธีสำรองน้ำประปาในถังขนาดใหญ่เพื่อใช้สำหรับรดแปลงไม่ประดับ

ขณะที่น้ำเค็มที่รุกเข้ามาในคลองได้ส่งผลให้ต้นมะม่วงซึ่งเป็นพืชยืนต้นรากยาวของ สมศักดิ์ สำลีรัตน์ ปราชญเกษตร จ.สมุทรปราการ เสียหายบางส่วน เช่นเดียวกับสวนผสมผสานแบบเศษฐกิจพอเพียงกว่า 1 ไร่ ก็ต้องเผชิญสภาพไม้ยืนต้นเหี่ยวเฉาไปบางส่วน ขณะที่พืชสวนบางต้นก็ไม่เจริญเติบโต แม้จะแก้ปัญหาด้วยการยอมจ่ายค่าน้ำประปาในราคาสูงขึ้น

ทั้งนี้ เกษตรกรกว่า 1 พันครอบครัวบริเวณคุ้งบางกระเจ้าประมาณ 2 พันไร่ ใน 6 ตำบล เริ่มได้รับผลกระทบน้ำเค็มรุกตั้งแต่หมดฤดูฝนปีที่แล้ว โดยน้ำที่จะใช้รดพืชต้องมีความเค็มไม่เกิน 1.2 กรัมต่อลิตร แต่ขณะนี้น้ำในคุ้งบางกระเจ้ามีความเค็มเกิน 10 กรัมต่อลิตร

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์