เรียกร้องรัฐ หยุดคำสั่งปิดตลาด สร้างตลาดปลอดภัย ทางรอดสู้โควิด-19

ภาคประชาสังคม ชี้ บางตลาดปิดนานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว กระทบผู้ค้า เกษตรกร ผู้บริโภค ผู้มีรายได้น้อย แนะ จัดสรรงบฯ ช่วยเหลือผู้ค้าที่ถูกสั่งปิด

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 ที่ เดอะ ฮอลล์ กรุงเทพ (The HALLS Bangkok) เวทีเสวนา “รักษาตลาด รักษาทุกชีวิต สู้โควิด-19 รอบใหม่”  จัดโดยมูลนิธิชีววิถี ร่วมกับ ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.)  

วิฑูรย์  เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เริ่มต้นนำเสนอภาพรวมและสถานการณ์ตลาดในประเทศไทย โดยพบว่าปัจจุบัน มี จำนวนตลาดนัด จากข้อมูลการสำรวจ ของกรมอนามัยในปี 2552 จากแบบสำรวจที่ตอบกลับโดยองค์กรท้องถิ่น มีตลาดประเภทที่ 2 คือ ตลาดที่ไม่มีโครงสร้างอาคารและดำเนินกิจการชั่วคราว หรือเป็นครั้งเป็นคราว หรือตามวันที่กำหนด จำนวน 2,993 แห่ง, ตลาดในพื้นที่เขตบริการสุขภาพที่ 7 และ 8 คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น บึงกาฬ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี มีจำนวนตลาดนัด อย่างน้อย 518 แห่

ส่วนตลาดสด จากการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า ทั่วประเทศมีตลาดสด 1,580 แห่ง ขณะที่จำนวนตลาดในกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2557 มีจำนวน 351 แห่ง

เขายังระบุอีกว่า จากสถานการณ์โควิด-19 รอบใหม่ ส่งผลกระทบรุนแรงทั้งเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง สะเทือนไปถึงคนมีรายได้น้อย รายได้ไม่แน่นอน คนค้าขายหาเช้ากินค่ำ เพราะตลาดสดและตลาดนัดทยอยถูกสั่งปิดรวม 33 จังหวัด มากถึง 73 แห่ง และกลับมาเปิดใหม่ได้ 30 แห่ง ยังปิดอยู่ 43 แห่ง 

ไม่รวมตลาดนัด ที่พบว่ามีการสั่งปิดอยู่อีก 145 แห่ง แบ่งเป็นปิด 1 วัน จำนวน 3 แห่ง, ปิด 2-5 วัน จำนวน 25 แห่ง, ปิด 1 สัปดาห์ จำนวน 2 แห่ง, ปิด 12-16 วัน จำนวน 17 แห่ง, ปิด 12-16 วัน จำนวน 17 แห่ง , ปิดมากกว่า 20 วัน จำนวน 5 แห่ง และมากสุด ปิดแบบไม่มีกำหนดถึง 25 แห่ง โดยสิ่งนี้ทำให้เกิดความสับสน ไม่ชัดเจนในมาตรการ ปิด-เปิด การฟื้นความเชื่อมั่นและช่วยเหลือเยียวยา 

“การปิดตลาดไม่ได้ส่งผลต่อผู้ค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเกษตรกรรายย่อย แรงงาน และผู้บริโภคที่เกี่ยวข้อง จากข้อมูลที่มีการสำรวจพบว่า ตลาด 1 แห่ง มีผู้ใช้บริการและผู้เกี่ยวข้องในตลาด ประมาณ 15,000-20,000 คน พวกเขาประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหนักหนาสาหัสมาแล้ว ตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดรอบแรก ตอนนี้ต้องมาถูกซ้ำเติมจากมาตรการที่ลักลั่น เหวี่ยงแห และไม่เอื้อเฟื้อต่อคนเล็กคนน้อย ความเดือดร้อนดังไม่ถึงหูผู้มีอำนาจ ไม่ฟังคำท้วงติงและข้อเสนอแนะ” 

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก กล่าวว่า การสั่งปิดตลาด มีผลกระทบวงกว้าง ชาวตลาดที่ยึดอาชีพค้าขายเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะมีรายได้เป็นรายวัน เมื่อหยุดขาย รายได้ก็หยุดไปด้วยหลายคนจึงหาทางออกด้วยการขายริมฟุตบาทแทน 

โดยระบุว่าเสียงสะท้อนจากคนทำอาชีพค้าขายหลายคน มองว่ารัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด สั่งปิดตลาด แต่ห้างกลับเปิด แสดงถึงความเหลื่อมล้ำ เลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน ทั้งนี้ หลายตลาดพยายามจัดการตนเอง ควบคุมทางเข้าออก ตั้งจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิ เพื่อรักษาระดับมาตรฐานและรักษาการประกอบอาชีพที่เป็นรายได้หลักไว้ เพราะมองว่าการควบคุมการระบาดของโรค ควบคุมผู้ค้าและผู้ซื้อง่ายกว่า เช่น ทำตามมาตรการของรัฐ สวมหน้ากากอนามัย มีฉากปิดกั้น ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและจำกัดปริมาณผู้ใช้บริการได้ แต่ทำไมบางจังหวัดถึงสั่งปิดตลาด ทั้งที่ทุกพื้นที่มีความเสี่ยงเหมือนกัน

“รัฐต้องให้ความเท่าเทียมกันระหว่างตลาดกับห้าง ควรมีมาตรการส่งเสริมมากกว่าบังคับ ตลาดไหนที่มีความสามารถในการจัดการควบคุมโรคระบาดได้อย่างเพียงพอ ไม่ควรสั่งปิด ถ้าสั่งปิดต้องมีเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจนต่อสาธารณะอย่างไรก็ตามตลาด คือ ท่อน้ำเลี้ยงสำคัญของคนจำนวนมาก รัฐควรใช้โอกาสนี้เพื่อยกระดับคุณภาพของตลาดมากกว่าสั่งปิด ฝ่ายนโยบายส่งเสริม ไม่ใช่จำกัดทางทำมาหากินของประชาชน ในยุคที่ผู้คนเผชิญความยากลำบาก”

ด้าน อมรรัตน์  อ่อนนุช ผู้จัดการตลาดอ่อนนุช กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบแรก พ่อค้า-แม่ค้า ในตลาดได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เนื่องจากขณะนั้นพื้นที่เสี่ยงอยู่ในห้าง สนามมวย ผับบาร์ รวมถึงสถานที่ที่อากาศไม่ถ่ายเทตลาด จึงไม่ถูกสั่งปิด ทั้งนี้ เห็นว่าหลังการระบาดโควิด-19 ทุกตลาดมีการตื่นตัวของการวางมาตรการป้องกันโรคที่ดีขึ้นต่อเนื่อง 

โดยยกตัวอย่างตลาดอ่อนนุช มองถึงการสร้างมาตรฐานในด้านสุขาภิบาลตามประกาศของกรุงเทพมหานคร และคำแนะนำของสำนักงานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ ได้ปรับปรุงพื้นที่ตั้งจุดคัดกรอง กั้นทางเข้า-ออกตลาดให้เหลือเพียงทางเดียว พร้อมติดตั้งอ่างล้างมือเท้าเหยียบให้ประชาชนใช้บริการ มีการทำความสะอาดตลาดอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ ในส่วนของพ่อค้าและแม่ค้า ได้ขอความร่วมมือให้สวมหน้ากากทุกคน พร้อมกับติดตั้งฉากปิดกั้นหน้าร้านเป็นการทำงานร่วมกันกับสำนักงานเขต ฝ่ายสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในช่วงนั้นลูกค้ายังไม่มีความเชื่อมั่น และไม่กล้าใช้บริการรถสาธารณะในการเดินทางมาจ่ายตลาด ทางตลาดจึงคิดไอเดีย บริการ Drive Thru และ Delivery เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ที่สำคัญเป็นการเพิ่มยอดขายให้ผู้ค้าอีกช่องทางหนึ่งด้วย

“แต่ต้องเข้าใจว่าการระบาดเชื้อโควิดรอบ 2 เป็นสิ่งที่ระบาดมาจากพื้นที่อื่น แต่ทันทีเมื่อทราบข่าวการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ในตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ทางตลาดอ่อนนุชรีบสำรวจข้อมูลผู้ขายอาหารทะเลที่เดินทางไปรับสินค้าในจังหวัดดังกล่าว และขอความร่วมมือให้ไปตรวจคัดกรองโรคและกักตัว 14 วัน โดยด่วน ผู้ค้าให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี”

เธอกล่าวอีกว่า ส่วนที่พบผลตรวจเป็นบวก 2 คน ใน 1 แผงค้า  ตลาดจึงรีบปิดโซนจุดเสี่ยง ทำการพ่นฆ่าเชื้อและรายงานไปยังเขตทันที เพื่อขออนุญาตปิดตลาดทำความสะอาด พ่นฆ่าเชื้อ หลังจากนั้นได้หารือกับเจ้าหน้าที่เขตวัฒนาและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อตรวจคัดกรองเดินหน้ามาตรการในการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ จนเกิดความมั่นใจในการปลอดภัย 

รวมถึงการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า เนื่องจากมีการแชร์ข่าวออนไลน์จำนวนมาก หลังพบผู้ติดเชื้อในตลาด ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นและตื่นตระหนก สิ่งแรกที่จะต้องทำ คือ การสร้างขวัญและกำลังใจพ่อค้า-แม่ค้าในตลาด ให้ต่อสู้และเชื่อมั่นกับมาตรการทางด้านสุขาภิบาลของตลาด 

ในส่วนของลูกค้า ทตลาดได้เปิดเฟซบุ๊กเพจให้ลูกค้าที่มีไข้ หรือมีไทม์ไลน์ตรงกับช่วงที่พบผู้ที่ติดเชื้อในตลาด เข้ามาลงชื่อตรวจคัดกรองโควิด-19 ฟรี และสื่อสารให้เข้าใจถึงการยกระดับมาตรฐานการทำความสะอาดอย่างเข้มงวด รวมถึงการส่งรูปและรายงาน การวัดไข้พ่อค้า-แม่ค้า การทำความสะอาดตลาดให้ กทม. อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งสิ่งสำคัญคือตลาดต้องไม่ปกปิดข้อมูล ต้องประชาสัมพันธ์ให้ข่าวสารอย่างจริงใจ อย่าปล่อยให้ข่าวลือความระแวงทำงานจากความไม่ชัดเจนของตลาด

“การได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงการทำตามมาตรการของภาครัฐ ทำให้ตลาดอ่อนนุชไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม และไม่ถูกสั่งปิด การรับผิดชอบตัวเราเอง และเรียนรู้กฎของการอยู่ร่วมกันในช่วงการแพร่ระบาดของโรค จะทำให้เราอยู่รอดในทุกสถานการณ์ ส่วนตลาดที่ถูกสั่งปิด เห็นว่าภาครัฐควรมีเกณฑ์การพิจารณาให้ชัดเจนกว่านี้ เช่น หากตลาดมีผู้ติดเชื้อ ต้องหาวิธีลดการแพร่เชื้อ ส่วนตลาดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ ควรคำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องของผู้ค้าขายมากกว่า ที่สำคัญต้องพิจารณาให้รอบด้านว่าควรสั่งปิดตลาดหรือไม่”

ทั้งนี้ ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน และมูลนิธิชีววิถี ได้จัดทำข้อเสนอและเรียกร้องไปยังรัฐบาล 5 ข้อ ประกอบด้วย  1. รัฐบาลต้องมีจุดยืนในการปกป้องรักษาตลาดไว้ให้เป็นแหล่งอาหารสำคัญของประชาชน ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย ส่งเสริมตลาด รวมถึงบรรดารถเร่หรือรถพุ่มพวง ไม่เลือกปฏิบัติ เพ่งเล็งเฉพาะตลาด แต่ปล่อยวางโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อติดแอร์ ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าและจะกลายเป็นการขยายความเหลื่อมล้ำซ้ำเติมปัญหา

2. จัดระเบียบตลาดให้ถูกสุขอนามัย ลดความเสี่ยงทุกรูปแบบ ควรสร้างการมีส่วนร่วมสนับสนุนให้มีการทำแผนจัดการลดความเสี่ยง กำหนดข้อตกลง โดยให้ทางตลาดเสนอแผนเพื่อพิจารณาเป็นหลักประกันร่วมกัน ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการสั่งปิดอย่างเดียว 

3. กำหนดการช่วยเหลือเยียวยาพ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการ กรณีตลาดที่ถูกสั่งปิด และควรจัดสรรงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาช่วยคนเล็กคนน้อยให้เข้าถึงแห่ลงทุนในการทำมาค้าขายในยามวิกฤตนี้ 

4. กรณีตลาดที่เปิดซื้อขายตามปกติ ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด อาทิ จำกัดทางเข้าออก คัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ กำหนดจุดล้างมือ สวมหน้ากากทุกคน รักษาระยะห่างระหว่างกัน และจัดบิ๊กคลีนนิ่งฆ่าเชื่อทุกสัปดาห์ เป็นต้น 

5. กรณีมีคำสั่งปิดตลาด ต้องมีฐานอ้างอิงที่ชัดเจนว่าปิดเพราะอะไร และตลาดต้องทำตามมาตรฐานและเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน อาทิ กำหนดระยะเวลาปิดชัดเจนกี่วัน กันเป็นพื้นที่ห้ามเข้าออก ทำการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ตรวจหาเชื้อผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดเพื่อเข้าสู่การกักตัว รักษา เป็นต้น ข้อสำคัญต้องมีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางไม่ปกปิดข้อมูล ในช่วงปิดตลาดจำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรฐานสาธารณสุข  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย  

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ