15​ ม.ค. นี้ ​กทม. เตรียมรับมือ “ฝุ่นพิษจิ๋ว”

ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศฯ ระบุ เหนือ-อีสาน​ บางจังหวัดพบเกินค่ามาตรฐานแล้ว กรมอนามัย แนะ หน้ากากต้องกันได้ทั้งฝุ่น​และโควิด-19

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 นพ.ดนัย​ ธีวันดา​ รองอธิบดีกรมอนามัย​ เปิดเผยในงานแถลงข่าวของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ​ด้านผลกระทบต่อสุขภาพ (ศกพ.ส)​ ว่า​ ปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก​ ไม่เกิน 2.5 ไมครอน​ หรือ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ​ชั่วโมง​ ตั้งแต่ช่วงต้นปี​ 2564 พบว่า​ ​ภาพรวมส่วนใหญ่ อยู่ในระดับไม่เกินค่ามาตรฐาน ยกเว้นในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล​ ​รวมถึงภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ​ บางจังหวัดที่พบเกินค่ามาตรฐาน คือ​ เชียงใหม่​ ลำปาง​ พะเยา​ ตาก​ พิษณุโลก​ กำแพงเพชร และหนองคาย​ โดยค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา​ แต่เมื่อเทียบสถานการณ์ PM 2.5​ ในช่วงเดือน ธ.ค. 2562 – 9 ม.ค.​ 2563 กับเดือนธ.ค. 2563 – 9 ม.ค. 2564 พบว่า​ ค่าเฉลี่ย PM 2.5​ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลดลงถึงร้อยละ 42 ทั้งจากปริมาณการจราจรและจุดความร้อนในประเทศลดลง

ด้านผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ข้อมูลจากการสำรวจของกรมอนามัย โดยประชาชนเฝ้าระวังอาการตนเอง​ ในช่วงวันที่ 1-9 ม.ค. ​2564​ ยังพบผลกระทบต่อสุขภาพ กว่าร้อยละ 48 แต่ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา​ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นอาการคัดจมูก มีน้ำมูก​ ร้อยละ 25.4 แสบจมูก ร้อยละ 22 แสบตา​ คันตา​ ตาแดง ​ร้อยละ 19.1 โดยกลุ่มวัยทำงานอายุ 25-34 ปี พบมากที่สุด ถึงร้อยละ 38.3 นอกจากนี้ ยังพบว่าคนที่มีโรคประจำตัว มีอาการมากกว่าคนที่ไม่มีโรคประจำตัว​ ​ ทั้งนี้ พฤติกรรมการใส่หน้ากากอนามัยมีแนวโน้มดีขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 ​ถึงร้อยละ 75.8 กรมอนามัย แนะนำการเลือกหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพ

หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน​ ต้องสะอาด ไม่มีสี กลิ่น ผิดปกติ​ เหมาะสมกับลักษณะกิจกรรม และพอดีกับใบหน้า

นักวิชาการ แนะ ช่วงฝุ่นหนาแน่น ควรใช้หน้ากาก N95 ไม่มีวาล์ว เพื่อป้องกันโควิด-19 ได้ด้ว​ย

ด้าน รศ.พานิช​ อินต๊ะ​ วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ระบุว่า​ หน้ากากที่กันโควิด-19 และฝุ่น PM 2.5​ ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติและพื้นที่ที่นำไปใช้ ​หากเป็นพื้นที่เสี่ยงกับปริมาณฝุ่นที่หนาแน่น ควรใช้หน้ากาก N95 ชนิดไม่มีวาล์ว เพื่อป้องกันโควิด-19 ได้ด้ว​ย

หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงโควิด​-19 ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หน้ากากทางการแพทย์ (​Surgical mask) หน้ากากกรองอากาศ​ประเภท​ N95 ชนิด หน้ากากทางการแพทย์​ จะปลอดภัยที่สุด​ หากเป็นบุคคลทั่วไป​ ไม่มีอาการและไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง​ สามารถใช้หน้ากากผ้าได้​ แต่ควรเลือกที่มี 2 ​ชั้นขึ้นไป​ ชั้นแรก​ สะท้อนน้ำ​ และชั้นที่ 2​ เป็นผ้า​ที่มีคุณสมบัติกรองอนุภาคฝุ่น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา​ คาดการณ์ว่า​ ช่วงวันที่ 15​ ม.ค. เป็นต้นไป​ กรุงเทพฯ ​จะมีปริมาณฝุ่นสะสมหนาแน่นอีกครั้​ง​ เนื่องจากลมนิ่ง​ แต่หากมาตรการปิดคุมพื้นที่​บังคับต่อเนื่อง และการเผาในภาคการเกษตรลดลง ​ก็จะส่งผลให้สถานการณ์ไม่รุนแรงมาก

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส