นักเศรษฐศาสตร์ ชี้การช่วยเหลือแบบเจาะกลุ่มมีข้อจำกัด ระยะเร่งด่วน ควรทำแบบถ้วนหน้า


ผลกระทบไม่ได้จำกัดอยู่แค่สมุทรสาคร การช่วยเหลือแบบเจาะกลุ่มจึงมีข้อจำกัด ระยะเร่งด่วนควรทำแบบถ้วนหน้า แล้วกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น




ในปี 2563 วิกฤตการโควิด-19 ที่รัฐบาลกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แต่ยังไม่เต็มเพดานนั้น ขณะนี้ ครม.อนุมัติงบไปแล้ว และเบิกจ่ายไปกว่า 4 แสนล้านบาท ใช้ใน 3 แผนงาน คือ แผนงานด้านสาธารณสุข ด้านเยียวยาประชาชน และฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้มีวงเงินเหลืออยู่อีก 5 แสนกว่าล้านบาท นอกจากนี้ก็ยังมีงบประมาณกลางที่สำรองจ่ายฉุกเฉินของปีงบประมาณ 2564 และงบบรรเทาผลกระทบโควิด-19 รวมแล้วอีกกว่า 6 แสนล้านบาท

เดชรัต สุขกำเนิด นักเศรษฐศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การใช้งบประมาณในปี 2564 เพิ่งจะผ่านไปเพียง 1 ไตรมาส น่าจะปรับเปลี่ยน-โยกงบมาใช้ประโยชน์จัดสรรเยียวยาประชาชน โดยเสนอให้ช่วยเหลืออย่างครอบคลุมถ้วนหน้าก่อน แล้วจึงค่อยเจาะกลุ่ม เพื่อไม่ให้ซ้ำรอย โครงการเราไม่ทิ้งกันในรอบแรก ที่ทำให้การช่วยเหลือล่าช้า โดยสรุปแบ่งการจัดสรรเยียวยาเป็น 3 ระยะ

ระยะเร่งด่วน เสนอให้เยียวยาถ้วนหน้า แต่ทำในวงเงินจำกัด เช่น จ่ายเงิน 3 พันบาทถ้วนหน้า กำหนดระยะเวลา 2 เดือน ก็จะใช้งบประมาณราว 4 แสนล้านบาท โดยกรณีนี้ อาจจะยกเว้นข้าราชการที่มีเงินเดือนอยู่แล้ว โดยการช่วยเหลือเบื้องต้นในระยะเวลา 2 เดือน ก็น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว ไม่ตกลงไปเยอะเหมือนปลายปี 2563

ระยะกลาง กรณีที่การแพร่ระบาดลดลง ต้องเจาะกลุ่มพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนัก เช่น การประมง-แปรรูปในจังหวัดสมุทรสาคร / การท่องเที่ยวในจังหวัดระยอง / ตลาดหลายแห่งที่ถูกปิด โดยนำสิ่งที่ชะงักอยู่กลับคืนมา

จุดสำคัญของระยะกลางไม่ต้องใช้เงินเยอะ
แต่สำคัญ คือ ต้องให้อำนาจการตัดสินใจไปอยู่ที่ท้องถิ่น



ระยะยาว ต้องเยียวยาผู้ที่ตกงานถาวรให้กลับมาทำงานได้ เพราะสิ่งที่น่าสนใจในการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 คือ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีที่แล้ว แต่สิ่งที่ไม่ฟื้นด้วยคือ การจ้างงาน คนตกงานยังคงตัวเลขเดิม 1-2 ล้านคน และคาดว่าจะตกงานถาวรในระยะยาวจึงจำเป็นต้องมีมาตรการ มีงานใหม่ที่เป็นหลักประกันในการประกอบอาชีพ

ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอให้ ถือโอกาสนี้ ปรับสวัสดิการผู้สูงอายุ / เด็กเล็ก / และกลุ่มเปราะบาง เป็นแบบถ้วนหน้า แล้วค่อย ๆ ขยายฐานเพื่อรองรับวิกฤตไปพร้อมกัน โดยย้ำต้องสร้างความเข้าใจกับรัฐ และประชาชนว่า หากมีผลกระทบก็จำเป็นต้องเยียวยาช่วยเหลือไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะใช้คำว่า Lockdown หรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน