“ล็อกดาวน์ทิพย์” ยอดติดเชื้อไม่ลด “กรมควบคุมโรค” หวัง ปชช.ให้ความร่วมมือ

“ศ. นพ.วีระศักดิ์” ประเมินจำนวนผู้ติดเชื้อยังพีคต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ชี้ รัฐล็อกดาวน์กลางวันมาถูกทาง “ผอ.กองระบาด” หวังอีก 2 เดือนกทม. เหลือผู้ติดเชื้อไม่เกิน 1,000 คน/วัน 

การห้ามคนออกจากบ้านช่วงกลางคืนอาจไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่มากเท่าไร เพราะเคลื่อนย้ายกันน้อยอยู่แล้ว 

แต่การห้ามคนออกจากบ้านช่วงกลางวันเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับวิถีชีวิตปกติ จึงเป็นเรื่องยากเมื่อขอร้องให้มีการ “ล็อกดาวน์กลางวัน” 

แต่สิ่งนี้กลับเป็นหัวใจสำคัญของการล็อกดาวน์ครั้งนี้ ที่ต้องเข้มข้นไม่ต่างจากล็อกดาวน์กลางคืน เพราะสถานการณ์ต่างไปจากการระบาดทุกระลอก เนื่องจากเชื้อกลายพันธุ์ติดต่อกันง่ายขึ้น และพบการติดเชื้อในครอบครัวสูง 

“ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์” ประธานหลักสูตรสาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ประเมินว่าใน 1 สัปดาห์หลังล็อกดาวน์ (21 ก.ค. 2564) ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่ “นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์” ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า หากการล็อกดาวน์ได้ผลจะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงภายใน 1-2 เดือน โดยตั้งเป้าให้ยอดผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครลดลง อยู่ในระดับที่ความสามารถของระบบสาธารณสุขจะรองรับได้ นั่นคือไม่เกิน 1,000 คนต่อวัน ซึ่งปัจจุบันผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกรุงเทพมหานคร มีสูงถึงวันละ 2-3 พันคน​ แต่การล็อกดาวน์ครั้งนี้ จะได้ผลหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือของประชาชน ที่จะอยู่บ้าน ให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม “ศ.นพ.วีระศักดิ์” มองว่า มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐที่ออกมาขึ้นอยู่กับการยอมรับของประชาชน เพราะหากเข้มงวดเกินไปประชาชนอาจไม่ยอมรับแล้วก็ทำให้ล็อกดาวน์ไม่สำเร็จ ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าที่ไม่ให้ใช้พื้นที่ทำครัว จึงไม่สามารถดิลิเวอรีได้ กรณีนี้ต้องระวัง เนื่องจากล็อกดาวน์แล้ว ประชาชนก็ยังบริโภคอาหารตามปกติ เพียงแต่ช่วงเวลานี้ให้บริการดิลิเวอรีแทน ซึ่งการส่งอาหารทำได้แต่ไม่ให้ส่งข้ามเขตเท่านั้นเอง

แม้ ศบค.​ จะปิดหลายกิจการเพื่อลดการเดินทางของประชาชน แต่การทำงานของบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ต้องดำเนินต่อไป ท่ามกลางการขอความร่วมมือว่าห้ามออกจากบ้านในช่วงเวลากลางวัน ยกเว้น การออกไปหาสิ่งของเพื่อบริโภค และไปเพื่อพบแพทย์ ฉีดวัคซีน แต่ถึงอย่างนั้น ถนนหลายสายในกรุงเทพ ฯ ก็ยังมีรถวิ่งขวักไขว่ 

บรรยากาศถนนงามวงศ์วาน บริเวณแยกแคราย รถยังหนาแน่น แม้เข้าสู่การล็อกดาวน์วันที่ 2 (21 ก.ค. 64)

การล็อกดาวน์แบบขอความร่วมมือ ทุกวันนี้จึงนับว่ามีความเสี่ยง ที่หากผู้ติดเชื้อไม่ลดลง อนาคต “รัฐ” อาจจำเป็นต้องใช้หน่วยงานความมั่นคง บังคับใช้กฎหมาย แทนการขอความร่วมมือ

นักระบาดวิทยาย้ำตลอดว่า “ล็อกดาวน์กลางวัน” มีความสำคัญ เพราะมนุษย์มีการสัมผัสกันในตอนกลางวันมากกว่าตอนกลางคืน ประชากรส่วนใหญ่มีกิจกรรมในตอนกลางวัน กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลายมีส่วนที่จะเพิ่มการติดเชื้อ ขณะนี้รัฐบาลถือว่าทำถูกทาง แต่ว่าต้องระวังว่าอย่าไปทำในสิ่งที่ไม่ค่อยมีเหตุผลและประชาชนยอมรับไม่ได้

แนะรัฐ สำรองคนในกิจการสาธารณูปโภค ช่วงระบาดหนัก 

“ศ.นพ.วีระศักดิ์” เสนอว่า ในขณะที่สถานการณ์ระบาดยังควบคุมไม่ได้ และอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ รัฐต้องดูแลระบบสาธารณูปโภคให้รัดกุม พนักงานที่ทำงานด้านสาธารณูปโภค จำพวก ไฟฟ้า ประปา จัดการขยะ ทั้งหลายต้องดูแลให้ดีเป็นพิเศษ และต้องเตรียมกำลังคนสำรอง เพราะถ้าขาดบุคลากรเหล่านี้ผลิตไฟฟ้าใช้ น้ำประปาไม่ไหล หรือการกำจัดขยะไม่ทำงาน จะส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก 

“รัฐบาลต้องสำรองคนไว้เลยเผื่อมีการติดเชื้อ อย่าให้ระบบนี้เป็นอัมพาตจะมีคนเป็นแสนเป็นล้านที่เดือดร้อน” 

ประธานหลักสูตรสาขาระบาดวิทยา ม.อ.

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงมากขึ้น และรัฐยังไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงพอกับทุกคน ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการล็อกดาวน์ ที่จะคุมผู้ติดเชื้อให้คงที่ หรือเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้มีเวลาจัดการกับผู้ติดเชื้อที่อยู่ในชุมชนแออัด หรือกลุ่มเปราะบาง เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียไปมากกว่านี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS