ค้าน กนช. ปลุกผีเขื่อนปากชม จ.เลย

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง ตั้งข้อสังเกต หารือกับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ เรียกร้องรัฐใช้เงินแก้วิกฤตโควิด-19 ปัญหาสำคัญก่อน

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ออกแถลงการณ์คัดค้านมติที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 4/2563 ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) โดยเฉพาะแผนหลักการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง และมีทิศทางการพัฒนาและแนวทางการขับเคลื่อน 4 ระยะ ได้แก่ 1) การก่อสร้างประตูระบายน้ำลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง 2) การพัฒนาใช้น้ำโขงและลำน้ำข้างเคียง 3) การพัฒนา โครงการ โขง เลย ชี มูล และ 4) การพัฒนาเขื่อนปากชม

แถลงการณ์ระบุว่า แม่น้ำโขงมีความสำคัญต่อชีวิตผู้คนและชุมชนลุ่มน้ำโขงคลอบคลุม 6 ประเทศ คือ จีน เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และยังเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว ครอบคลุม 7 จังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และนครพนม ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง

แต่ขณะนี้แม่น้ำโขงกำลังเผชิญกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่หลายโครงการ ทั้งโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล กับโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักที่ทำเขื่อนกั้นบริเวณปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย รวมทั้งโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสานะคามจะก่อสร้างเขื่อนกั้นบนแม่น้ำโขงในเขตประเทศลาว ที่ตั้งอยู่ห่างจาก อ.เชียงคาน เพียงแค่ 1.4 กิโลเมตร ตลอดจนโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากชม อ.ปากชม จ.เลย ที่มีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าและยกระดับน้ำโขงให้สูงขึ้นเพื่อสูบน้ำโขงเข้าอุโมงค์ผันน้ำเข้าโครงการ โขง เลย ชี มูล และส่งน้ำไปยังเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ในภาคอีสาน

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายภาคประชาชน ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์การพัฒนาในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนปากชม ณ บ้านคกเว้า ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย จึงมีข้อสังเกตว่า กนช. ได้มีการปรึกษาหารือกับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ เพราะการก่อสร้างเขื่อนปากชมจะต้องสร้างในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำโขงคือเขตแดนประเทศไทยและเขตแดนลาว จะยึดหลักแนวเขตแดนระหว่างประเทศอย่างไร และการลงทุนจะมีแนวทางอย่างไรเพราะประเทศไทยและลาว มีข้อกฏหมายที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการแบ่งปันผลประโยชน์ หรือแม้แต่การบริหารจัดการน้ำในลำน้ำโขง

นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายการจัดการน้ำที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาในภาคอีสาน โดยเสนอให้ทำการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ทางเลือกการจัดการน้ำที่เหมาะสมกับภูมินิเวศลุ่มน้ำต่าง ๆ ในลุ่มน้ำโขง ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนอย่างแท้จริง

การใช้งบประมาณหลายพันล้านบาทเพื่อผลักดันโครงการ โขง เลย ชี มูล และโครงการเขื่อนปากชม รัฐบาลจะต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ภายนอกประเทศอย่างแน่นอน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิค -19) จะเป็นการซ้ำเติมคนทุกข์ยาก ถ้ารัฐบาลไม่จัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาสุขภาพที่เป็นธรรม ดังนั้นการใช้งบประมาณของประเทศที่ต้องดูแลสุขภาพของประชาชนจึงมีความสำคัญกว่าการพัฒนาโครงการ โขง เลย ชี มูล และโครงการเขื่อนปากชม ที่ไม่มีความหวังและจะต้องถูกคัดค้านจากประชาชนอย่างแน่นอน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว