ผู้ว่าฯ สมุทรสาครติดโควิด-19 บทพิสูจน์แนวปฏิบัติคนทำงาน

ย้อนไทม์ไลน์ปฏิบัติงานของ ‘วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี’ หลังพบระบาดรอบใหม่เริ่มที่สมุทรสาคร ใคร เสี่ยงระดับไหน ในขั้นตอนควบคุมโรค

“ป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ แม้จะต้องทำงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยง แต่ก็อาจมีบ้างเล็กน้อย”

คือ คำให้สัมภาษณ์ของ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ต่อผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2563 ก่อนกลายเป็น 1 ในผู้ติดเชื้อรายล่าสุดของจังหวัดสมุทรสาคร วันนี้ (28 ธ.ค.) สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงของบุคลากร ทั้งฝ่ายปกครองและสาธารณสุข ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ แม้จะยืนยันว่าป้องกันตัวเองอย่างดี แต่ทุกอย่างย่อมมีช่องโหว่

คำถามก็คือ “การติดเชื้อของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครเกิดจากอะไร?” ข้อมูลของกรมควบคุมโรค ระบุ ความเสี่ยงในการติดเชื้อเกิดจากสัมผัสใกล้ชิด ในระยะ 1-2 เมตร กับบุคคลที่มีเชื้อโควิด-19 ผ่านละอองฝอยจากระบบหายใจ เมื่อผู้ที่ติดเชื้อไอ จาม หรือพูดคุย นอกจากนี้ ยังสามารถรับเชื้อได้โดยการสัมผัสพื้นผิวหรือวัตถุที่มีเชื้อไวรัสอยู่ และไปสัมผัสปาก จมูก หรือตาได้

The Active ชวนย้อนดูไทม์ไลน์ของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นับตั้งแต่การแถลงสถานการณ์โควิด-19 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร ว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 516 คน ครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2563

20 ธ.ค.
เดินทางไปลงคะแนนในการเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิก อบจ. สมุทรสาคร ที่โรงเรียนเอกชัย ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร

21 ธ.ค.
ลงพื้นที่ บริเวณ ตลาดกลางกุ้ง ถ.พระราม 2 อ.เมืองสมุทรสาคร เชิญชวนให้ประชาชนช่วยกันบริจาคสิ่งของช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ ภายในเต็นท์ที่จัดเตรียมไว้

22 ธ.ค.
แถลงข่าว ที่ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดสมุทรสาคร โดยเป็นการแถลงร่วมกับ พ.ต.อ. อภิชาติ วรรณภักดิ์ ผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร และ นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผอ.โรงพยาบาลสมุทรสาคร

23 ธ.ค.
รถพระราชทาน เก็บตัวอย่างชีวนิรภัย จำนวน 4 คัน ออกให้บริการที่ชุมชนมหาชัยนิเวศน์ 2,500 คน ขณะเดียวกัน ขึ้นป้ายพร้อมข้อความว่า วัคซีนรอปีหน้า หน้ากากผ้าใช้ได้เลย ใส่หน้ากากกันเหอะ ให้กราบก็ยอม

24 ธ.ค.
ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร

ภาพ : ข่าวสด

25 ธ.ค.
ออกคำสั่งใช้สนามกีฬาจังหวัด เป็น “โรงพยาบาลสนาม” เร่งจัดตั้งให้เสร็จใน 2 วัน คาดรองรับได้ 500 เตียง

26 ธ.ค.
ถ่ายทอดสดผ่านทาง เฟซบุ๊ก COVID-19 สมุทรสาคร ประเด็นที่มีการถกเถียงกันถึงเรื่องการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในจังหวัดสมุทรสาคร

ภาพ : COVID – 19 สมุทรสาคร

27 ธ.ค.
ลงพื้นที่ พร้อมกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง ตรวจมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 จ.สมุทรสาคร

28 ธ.ค.
ยืนยัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ติดโควิด-19

จากไทม์ไลน์ที่รวบรวมจากรายงานข่าวต่าง ๆ พอจะอนุมานได้ว่า การติดเชื้อของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับพื้นที่เสี่ยง ที่เป็นศูนย์กลางการระบาดรอบใหม่ บริเวณตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร แต่ยังคงต้องรอผลการสอบสวนโรคที่ชัดเจน

ภาพจาก ประชาสัมพันธ์ จังหวัดสมุทรสาคร (27 ธ.ค. 2563)

อย่างไรก็ตาม ภาพข่าวที่ปรากฏเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. เห็นได้ว่ามีบางช่วงที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ถอดหน้ากากอนามัยและมีเจ้าหน้าที่ยืนอยู่โดยรอบ โดยไม่เว้นระยะห่างทางสังคม 1-2 เมตร เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ผู้เสี่ยงสัมผัสติดเชื้อพบว่ามีหลายคน รวมถึง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้บริหารของกระทรวงฯ หลายคน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ที่ลงพื้นทีพร้อมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า มีการตรวจหาเชื้อแล้วเช่นกัน และผลตรวจของผู้บริหารทุกคนเป็นลบ

ส่วนการกักตัวจะพิจารณาตามความเสี่ยง ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงคือ มีการไอจามใส่กัน, พูดคุยใกล้ชิดไม่เกิน 1 เมตร โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า หรืออยู่ในสถานที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น รถตู้ ห้องประชุม ในระยะ 5 เมตร เกินกว่า 15 นาที โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า จะต้องกักตัว 14 วัน

“จากกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครติดเชื้อ เป็นบทเรียนว่า เรามีโอกาสติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว จากผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย สิ่งที่ต้องชื่นชม คือ ท่านใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ร่วมประชุม อันนี้ลดความเสี่ยงไปเยอะ เพราะถ้าไม่ใส่เลย ทุกคนจะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงหมด ถือเป็นต้นแบบที่ดี ส่วนผู้สื่อข่าวที่ทำข่าววันนั้น ก็ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ ข้อแนะนำคือ สังเกตอาการตัวเอง ไม่คลุกคลีกับคนหมู่มาก เดี่ยวเราจะนัดกันไปตรวจเชื้อที่สถาบันบำราศนราดูร”

ส่วนรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถือว่าเข้าตามเกณฑ์ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ได้แยกกักตัว 14 วัน ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ไม่มีการปกปิดข้อมูล เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและการควบคุมป้องกันโรค


ไทยค้นหาผู้ติดเชื้อเจออย่างไร เพื่อคุมการระบาดโควิด-19

ก่อนหน้านี้ ช่วงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 คนแรก หลังปลอดเชื้อ 100 วัน จากกรณีผู้ติดเชื้ออาชีพดีเจ The Active รวบรวมข้อมูลจากทีมสอบสวนโรค ถึงแนวทางการแยกผู้สัมผัสใกล้ชิดออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อติดตามหาผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ รวมทั้งหาต้นตอของการระบาด ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติที่สำคัญเพื่อสอบสวนและควบคุมโรคระบาด

กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มเสี่ยงสูง ต้องเคยอยู่บ้านหลังเดียวกัน​ ทำงานด้วยกัน พูดคุยกันโดยไม่ป้องกันเกิน 5 นาที หรือ อยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่เกิน 1 เมตร นานกว่า 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน​ ​ เข้าเกณฑ์ต้องกักตัว 14 วัน และตรวจ SWAB

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มเสี่ยงต่ำ พบเจอกันแต่มีการใส่หน้ากากอนามัย (mask) ป้องกัน​ เช่น​ การนั่งเครื่องบินหากมีผู้ติดเชื้อ แต่ไม่มีใครพูดคุยกันแล้วสวมใส่หน้ากากตลอดเวลาก็จะถือว่าเสี่ยงต่ำ เข้าเกณฑ์ต้องกักตัว 14 วัน และตรวจ SWAB

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มเสี่ยงต่ำมาก อาจจะอยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่อาจจะไม่เจอกัน ไม่ต้องกักตัว 14 วัน แต่ควร ตรวจ SWAB เพื่อยืนยันว่าไม่พบเชื้อ

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS