เสนอรัฐตั้งคณะกรรมการ รับมืออาหารวิกฤต

ภาคประชาชนเสนอใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งคณะกรรมการว่าด้วยความมั่นคงทางอาหาร หวั่นโควิด-19 กระทบคนจน คนตกงาน ผู้มีรายได้น้อย รวมกว่า 7 ล้านคน

เมื่อสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมโรค คือ เรื่องการดำรงชีพ ปากท้อง หรือ ความมั่นคงทางอาหาร เพราะหากย้อนไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนักในรอบแรก ส่งผลให้ผู้ที่พอมีเงินออมหรือมีรายได้ กักตุนอาหารจนขาดแคลน ส่วนผู้มีรายได้น้อย หรือตกงาน ก็ประสบปัญหาในการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ 

ข้อมูลของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบตัวเลขคนยากจนก่อนการระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 ว่ามีถึง 4.3 ล้านคน ขณะที่หลังการระบาดของโควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินตัวเลขคนตกงาน ว่ามีเกือบ 8 แสนคน และมีคนที่มีโอกาสได้ทำงาน แต่ทำงานน้อยลงสัปดาห์ละไม่เกิน 10 ชั่วโมง ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ลดลง  อีกประมาณกว่า 2 ล้านคน เท่ากับว่าคนจน คนตกงาน คนรายได้น้อย รวมกันตอนนี้ประมาณ 7 ล้านคน หรือคิดเป็น 10 % ของประชากรทั้งหมด 

เมื่อรายได้ลดลง ย่อมกระทบต่อปากท้อง การเข้าถึงอาหาร เพราะกว่าครึ่งของรายได้ที่หนึ่งครัวเรือนหามาได้ คือ ค่าอาหารเกือบร้อยละ 50 

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี บอกว่าบทเรียนที่ผ่านมากว่า 1 ปี หากดูมาตรการที่รัฐทำที่ผ่านมา ก็พอเห็นแค่มาตรการระยะสั้น อย่างเงินช่วยเหลือเยียวยา 5,000 บาท ที่มองแล้วไม่ใช่ความยั่งยืน และมีการประเมินว่ารอบใหม่ รัฐจะใช้รูปแบบเช่นเดิมนี้ไม่ได้อีกแล้ว หรือได้ไม่เต็มที่ เพราะรัฐกู้เงินเต็มเพดาน ส่วนการเสนอโครงการงบฟื้นฟูเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 ก็แทบจะไม่เห็นโครงการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อรับมือวิกฤตโรคระบาดแต่อย่างใด

จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลมอบหมายสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำแผนพัฒนาระบบอาหารให้พร้อมรับภาวะวิกฤต ที่ครอบคลุมทุกมิติ

ทั้งด้านการผลิตหรือสร้างพื้นที่ทางอาหารเพื่อความมั่นคง ด้านการสำรองอาหาร ด้านการกระจาย แลกเปลี่ยน และแบ่งปันอาหาร การพัฒนาระบบดูแลประชากรเปราะบาง และประชาชนที่ขาดความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต  และการพัฒนาระบบจัดการร่วมกันเพื่อความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต

ซึ่งแผนดังกล่าว จะทำให้แต่ละกระทรวง รู้และเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเองที่ต้องดำเนินการในเรื่องนี้ รวมถึงภาคประชาสังคม และเอกชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่น การจัดหาพื้นที่ว่างเปล่า รกร้าง หรือพื้นที่จำเป็นต้องสงวน เพื่อใช้ประโยชน์ในการสร้างพื้นที่ทางอาหาร การผลิตเมล็ดพันธุ์แจกจ่าย อบรมให้ประชาชนมีองค์ความรู้ในการปลูกและเลี้ยงสัตว์ และการจัดระบบเชื่อมโยงการกระจาย แลกเปลี่ยน แบ่งปันอาหารระหว่างกันของแต่ละชุมชนท้องถิ่น 

โดยเห็นว่า แผนดังกล่าวจะต้องเป็นแผนเร่งด่วนดำเนินการใน 1 ปี ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ เครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามและขับเคลื่อนเรื่องความมั่นคงทางอาหารมาอย่างต่อเนื่อง ก็เสนอว่า รัฐบาลควรประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการตั้งคณะกรรมการว่าด้วยเรื่องความมั่นคงทางอาหารเพื่อเดินหน้าเรื่องกล่าว

“เราเสียเวลามา 1 ปี เพราะการระบาดโควิดเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แล้วมีการล็อกดาวน์ในเดือนมีนาคม จากนั้นก็เป็นช่วงยากลำบากของประชาชนจำนวนมาก ตอนนี้ผ่านมาครบปี คือ ถ้าเราเริ่มวางแผนตั้งแต่เกิดการระบาด หรือตอนช่วงล็อกดาวน์ ตอนนี้คงมีแผนที่ว่ากันแล้ว มีมาตรการ พันธกิจของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ตอนนี้เราไม่มีอะไรเลย ดังนั้น การมีแผนมาตรการ มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน จึงต้องทำใน 1 ปี เป็นอย่างช้า เร็วที่สุด 3 เดือน ควรทำออกมาได้แล้ว เพื่อรับมือการระบาดรอบใหม่”

ข้อเรียกร้องถัดมา เมื่อมีแผนชาติแล้ว ส่วนที่สอง คือ เสนอให้จัดทำแผนพัฒนาระบบอาหารให้พร้อมรับภาวะวิกฤตในระดับท้องถิ่นตามบริบทพื้นที่ ส่วนที่สาม เสนอให้สภาผู้แทนราษฏร ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาการรับมือด้านอาหารในภาวะวิกฤต

และ ส่วนที่สี่ สภาฯ ต้องทำหน้าที่ผลักดันสิทธิในอาหารให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  เพราะสิทธิในอาหาร หรือสิทธิในการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการในทุกสถานการณ์ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนในประเทศ ที่ต้องได้รับการปกป้อง ดูแล คุ้มครอง โดยเป็นหน้าที่รัฐและทุกภาคส่วน ต้องดำเนินร่วมกัน เป็นหลักการสากลที่ 23 ประเทศ บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่สำหรับไทยกลับยังไม่มีเรื่องนี้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ