ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่าง รธน. – สิทธิเลือกตั้ง อบจ. ติดสถานการณ์เด่น ส่วน รัฐสภาไม่รับร่างฯ ประชาชนและสลายชุมนุม เป็นเหตุการณ์ด้อย
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) แถลงเปิด “รายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน 10 เด่น (ก้าวหน้า) 10 ด้อย (ถดถอย) ประจำปี พ.ศ.2563” เพื่อทบทวนและติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย และนำไปสู่การพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาต่อไป
โดยการพิจารณาประเด็น 10 ก้าวหน้า อยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และปรากฏผลต่อการสร้างบรรทัดฐานต่อเนื่องระยะยาว ในขณะที่ประเด็น 10 ถดถอย พิจารณาจากการดำเนินการของภาครัฐ และองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อเนื่อง ต่อประชาชนด้วยการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ การออกกฎหมาย หรือระเบียบที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน
10 ประเด็นก้าวหน้า
1) ประชาชน 100,732 รายชื่อ เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
2) “กลุ่มนักเรียนเลว” เสนอการปฏิรูปการศึกษา
3) ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 2 ฉบับ ให้ลงโทษผู้ไม่มารายงานตัวขัดต่อรัฐธรรมนูญ
4) การตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยศาล กรณีศาลยกคำร้องการฝากขัง และให้ออกหมายเรียกก่อนออกหมายจับ
5) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายต่อสภาผู้แทนราษฎร
6) ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 เรื่องการทำแท้ง ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 และ 28 โดยเห็นสมควรให้มีมาตรการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน
7) การพยายามผลักดันร่างกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ของเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์พยายามผลักดันการจัดทำร่างกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อยกระดับแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล
8) ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาการขึ้นทะเบียนพรุแม่ลำพึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับชาติ เป็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ
9) สิทธิประชาชนในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
10) การจัดตั้ง “สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย” เพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภค คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2563
10 ประเด็นถดถอย
1) รัฐสภาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้าชื่อ (สิทธิประชาชนเสนอกฎหมาย)
2) การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 ต.ค. กรณีการชุมนุมของคณะราษฎร ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล
3) การลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น และการชุมนุมของประชาชนหลายกลุ่มที่เกิดขึ้นตลอดปี 2563 ทั้งการคุกคาม การสลายการชุมนุม การฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม
4) กรณีอุ้มหาย วันเฉลิม และความรับผิดชอบของรัฐไทยในการสืบสวนสอบสวน ปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย
5) กระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉลบิดเบือนการใช้อำนาจและเลือกปฏิบัติ ในคดีบอส อยู่วิทยา
6) ความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียน การทำร้ายร่างกายและการล่วงละเมิดทางเพศเด็กนักเรียน
7) การยกเลิกการจัดการที่ดินรูปแบบโฉนดชุมชน
8) การสรรหาและเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดใหม่ ที่ใช้เวลานาน 3 ปี และกลไกการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่มีประสิทธิภาพ
9) ปฏิบัติการด้านข่าวสารของรัฐและเอกชน (IO) ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
10) มาตรการการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด 19 ที่ผู้เดือดร้อนที่แท้จริงจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิการเยียวยา