พรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน ระดมหาทางออก ชี้ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่มีแบ่งฝ่าย ย้ำ เสนอรัฐบาลแล้ว รอพิจารณา ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ ตามขั้นตอน
วันนี้ (14 ธ.ค. 2563) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า จัดเสวนา “บทบาทของพรรคการเมืองที่มีต่อการยกระดับคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย” มีตัวแทนพรรคการเมือง ซึ่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล
โดยร่วมกับนักวิชาการโครงการผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาใหญ่ รัฐบาลไม่ได้เพิกเฉย เห็นจากมีการยื่นญัตติด่วนและตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขณะเดียวกันพรรคภูมิใจไทย ก็ได้ยื่น พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ขณะนี้ อยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์ ในเว็บไซต์รัฐสภาไทย กฎหมายฉบับนี้จะถูกตีตกหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
“ภูมิใจไทยยื่นหลายเดือนแล้ว มีกฎหมายของภาคประชาชนเช่นกัน และต้องผ่านกระบวนการพิจารณาเหมือนกัน มีช่องทางให้หลายฝ่ายสามารถยื่นเสนอกฎหมายได้ แต่กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาส่วนใหญ่มักมาจากรัฐบาล”
ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ เห็นด้วยว่าการมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหามลพิษโดยตรงเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่ากฎหมายหลายฉบับที่มีอยู่แล้ว มีปัญหาที่การบังคับใช้ จะทำอย่างไรให้การบังคับใช้กฎหมายจริงจัง หากมีฏหมายฉบับใหม่ออกมา
ด้าน นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เห็นด้วยว่ามีกฎหมายสิ่งแวดล้อมอยู่หลายฉบับ แต่ควรมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในหลักการที่ยังขาดอยู่ เพราะหากรอกฎหมายใหม่อาจใช้เวลานาน ไม่ทันต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เราเจออยู่ตอนนี้ทุกปี ขณะที่ความคิดเห็นและข้อมูลจากกรรมาธิการฯ มีการยื่นต่อรัฐบาลไปแล้ว ถึง 3 ฉบับ ครอบคลุมมาตรการระยะสั้น ระยะกลางและระยาว
ด้าน จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เน้นย้ำการแก้ไขปัญหาฝุ่น ส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกษตรกร เน้นนโยบายพลังงานสะอาด และเห็นว่าการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาแม้จะมีกลไกการทำงานอยู่ แต่ขาดการนำไปสู่รูปธรรมของการปฏิบัติและการร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกฝ่าย
ขณะที่ พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าจะแก้ปัญหาฝุ่นต้องแก้ปัญหาความยากจน เพราะตราบใดที่เกษตรกรไม่สามารถรับมือเรื่องปากท้องได้ เขาก็จะไม่สามารถรับมือกับเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ การเผาของเกษตรกรขึ้นอยู่กับความจำเป็นที่เขาไม่ใช่ผู้กำหนด แต่ระบบเกษตรถูกกำหนดโดยทุน เทคโนโลยีก็เข้ามาเพื่อตอบสนองกลุ่มทุน
“เกษตรกรขายข้าวให้โรงงานผลิตไบโอแก๊ส รัฐบาลสนับสนุนเงินโรงงาน โรงงานได้ทั้งผลผลิต ได้ฟางฟรี ๆ ขณะที่เกษตรกรได้แค่ราคาจากผลผลิตเท่าเดิม ไม่เคยคิดคำนวณมูลค่าจากสิ่งที่โรงงานได้จากเกษตรกรเลย”
แบ่งปันบทเรียน ‘สหรัฐฯ’ ตั้งองค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อม มาเกินครึ่งทศวรรษ
ก่อนเริ่มเวทีเสวนา Evan Fox ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาฝุ่นของประเทศสหรัฐอเมริกาในอดีต และความเคลื่อนไหวของประชาชนในการเรียกร้องให้รัฐบาลมีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
โดยระบุว่า เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ประเทศสหรัฐฯ ได้มีการตั้งองค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency -EPA) หรือ “อีพีเอ” เป็นหน่วยงานระดับประเทศ มีหน้าที่ดูแลปกป้องสุขภาพ ปกป้องสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ มีอำนาจตามกฎหมาย ทำให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นภายในประเทศได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า ระบุว่า กฎหมายของไทยด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุม และไม่มีอำนาจ มีความซ้ำซ้อนของระบบสั่งการข้ามกระทรวง ซึ่งเป็นปัญหาหลักให้การติดตามมาตรการที่เป็นรูปธรรม ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ และการมีองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม จะทำให้ข้อมูลและการติดตามการแก้ไขปัญหาในระยะยาวเห็นผล ไม่ใช่แค่มลพิษทางอากาศ แต่รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหมด