นักเรียนแต่งไปรเวท ถูกพาเข้าห้องปกครอง

หลังร่วมกิจกรรม #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ ด้าน “ณัฏฐพล” รมว.ศธ. แจง คกก.กำลังพิจารณาข้อเรียกร้อง แต่ผลสรุปอาจไม่ถูกใจทุกฝ่าย

วันนี้ (1 ธ.ค. 2563) ตามที่มีการนัดหมายจัดกิจกรรม #1ธันวาคมบอกลาเครื่องแบบ The Active สำรวจพบหลายโรงเรียนที่มีนักเรียนแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน ถูกฝ่ายปกครองเรียกคุย

เริ่มต้นที่โรงเรียนมัธยมชื่อดังแห่งหนึ่งย่านบางรัก พบเด็กนักเรียนประมาณ 30 คน แต่งชุดไปรเวทรวมกลุ่มด้านข้างโรงเรียน พร้อมนัดแนะจะดื้อแพ่ง หรืออารยะขัดขืน หากถูกกักตัวที่ห้องปกครอง

หนึ่งในนักเรียนที่ไม่ได้แต่งเครื่องแบบนักเรียนในวันนี้ กล่าวกับทีมข่าวก่อนเดินเข้าโรงเรียนว่า เหตุผลที่แต่งกายชุดไปรเวทมาโรงเรียน เพราะไม่อยากให้ครูตัดสินนักเรียนจากการแต่งกาย เพราะการแต่งกายแบบใดไม่สามารถบอกได้ว่านักเรียนคนนั้นเก่งหรือไม่ และอยากให้ครูใช้เวลาไปกับการพัฒนาการสอนให้ดีขึ้นมากกว่า

อย่างไรก็ตาม นักเรียนทั้งกลุ่มถูกครูพาเข้าไปพูดคุยในห้องปกครองทันทีที่เดินเข้าภายในรั้วโรงเรียน โดยโรงเรียนไม่ให้สัมภาษณ์และไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวบันทึกภาพภายในโรงเรียน

ขณะที่นักเรียนที่ถูกนำตัวเข้าห้องปกครอง ได้ใช้ทวิตเตอร์สื่อสารบรรยากาศภายในห้องปกครอง พร้อมระบุว่า ครูได้แยกเด็กคุยตามชั้นเรียนเพื่อสอบถามถึงความต้องการ และให้ลงลายมือชื่อในเอกสารฉบับหนึ่ง เพื่อยืนยันว่า มาโรงเรียน โดยก่อนหน้านี้ได้แจ้งต่อเด็กว่าจะโทรเรียกผู้ปกครองเด็กมาพบ

ส่วนที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) มีเด็กนักเรียนประมาณ 20 คน แต่งชุดไปรเวทมาโรงเรียน พร้อมชูป้ายข้อความแสดงสิทธิและยกเลิกการแต่งเครื่องแบบ เข้ารั้วโรงเรียน โดยระหว่างที่ประตูโรงเรียนปิดในเวลา 07.20 น. แต่ทางโรงเรียนได้แยกนักเรียนกลุ่มที่แต่งชุดไปรเวท ไม่ให้เข้าไปรวมแถวกับนักเรียนที่เข้าเเถวทำกิจกรรมหน้าเสาธง เพื่อเจรจาพูดคุยทำความเข้าใจก่อน

ส่วนนักเรียนที่แต่งไปรเวทมา ระบุว่า แม้จะรู้ว่าขัดกับระเบียบ และอาจไม่ได้เข้าชั้นเรียนโดยง่าย แต่พวกเขา ยืนยันจะใช้การแต่งกายบอกลาเครื่องแบบ เพื่อแสดงอารยะขัดขืนต่อกฎระเบียบในรั้วโรงเรียน โดยระหว่างการพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนและตัวแทนผู้ปกครอง นักเรียนได้ตั้งคำถาม และเห็นแย้งกับการแต่งเครื่องแบบมาโรงเรียนในหลายประเด็น

วิสิทธิ์ ใจเถิง ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหาเสนี) ระบุว่า ที่นี่เป็นโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ยังต้องยึดกฎหมายและระเบียบเครื่องแบบนักเรียนเป็นหลัก โดยนักเรียนที่ฝ่าฝืนต้องเรียกมาทำความเข้าใจ ยืนยันไม่ใช่การลงโทษ

“ณัฏฐพล” แจง คกก.กำลังพิจารณา แต่ผลสรุปอาจไม่ถูกใจทุกฝ่าย

ด้าน ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Nataphol Teepsuwan – ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เมื่อช่วงดึกวานนี้ (30 พ.ย.) ระบุว่า ได้ชี้แจงไปหลายครั้งว่าตั้งแต่วันแรกกลุ่มเด็กและเยาวชนออกมาเรียกร้องหลาย ๆ เรื่อง ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อเรียกร้องของนักเรียน โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงนักเรียนด้วย

โดยหลายข้อเรียกร้องกำลังจะได้ข้อสรุป ขาดเพียงการรับฟังจากผู้ที่ต้องนำมาปฏิบัติจริงจากข้อสรุปจากมติที่ประชุม ซึ่งเป็นความจริงที่ว่าการจะออกนโยบายต่าง ๆ มานั้นต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ระยะเวลา ความพร้อมในการปฏิบัติ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงจากแรงกดดันของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้

ส่วนเรื่องของเครื่องแบบนักเรียน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการการศึกษา ที่ต้องการให้เกิดความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากครอบครัวไหน หรือมีฐานะอย่างไร ก็จะอยู่ในกรอบกฎกติกาและบริบทของโรงเรียนนั้น ๆ อย่างเท่าเทียมกัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุอีกว่า ต้องยอมรับว่า ณ เวลานี้ เครื่องแบบนักเรียนถือเป็นเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมกับนักเรียน เหมือนเครื่องแบบของแพทย์ ที่มีเสื้อกาวน์ บ่งบอกอาชีพ หรือแสดงถึงสถานะ แม้แต่ชุดข้าราชการครู ทหาร ตำรวจ พนักงานธนาคาร พนักงานบริษัท หรือแม้แต่สื่อ ก็ยังมีเครื่องแบบของตัวเองที่บ่งบอกถึงอาชีพ หรือต้นสังกัดสำนักงานของหน่วยงาน องค์กร หรือบริษัท

โดยถือว่า เป็นเครื่องแบบที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับบุคคลที่สวมใส่ เช่นเดียวกับชุดนักเรียนก็เป็นการแสดงออกถึงสถานะของความเป็นเด็กนักเรียน และเป็นเรื่องของการบ่มเพาะลักษณะนิสัยของการสร้างความมีระเบียบวินัย การยอมรับในกฎกติกาของการอยู่ร่วมกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม มิฉะนั้น การแต่งชุดไปรเวทจะกลายเป็นเรื่องของแฟชั่น และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความแตกต่างให้เกิด

นอกจากนี้ ยังระบุถึงผลโพลล์ที่เป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองทั่วประเทศทางออนไลน์ ยืนยันว่า 61% ยังต้องการให้มีชุดยูนิฟอร์มของเด็กนักเรียน และมีผู้ปกครองถึง 47% คิดว่า หากให้ใส่ชุดอะไรก็ได้ไปโรงเรียน จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น และสร้างความกดดันให้กับผู้ปกครองในการใช้จ่ายเพื่อซื้อเสื้อผ้าที่เพิ่มมากขึ้น และมีถึง 75% ที่คิดว่าจะทำให้เกิดการ Bully เกี่ยวกับการแต่งกายที่เพิ่มขึ้น

พร้อมระบุว่า ได้ฟังเสียงเรียกร้องจากน้อง ๆ ทุกเรื่อง แต่ก็ต้องฟังเสียงจากทุก ๆ ฝ่าย เรื่องใดที่ทำให้เกิดพัฒนาการทางการศึกษา จะดำเนินการทันทีทุกเรื่องตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะแต่งชุดอะไรออกมาจากบ้าน ก็อยากให้รับข้อมูลและพิจารณาอย่างรอบด้านในการตัดสินใจ เพราะอย่างไรแล้วการอยู่ร่วมกันนอกจากสิทธิและเสรีภาพแล้ว เรื่องของหน้าที่และกติกาของสังคมก็จะต้องพึงมี เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

“รออีกนิดครับ ข้อสรุปจากมติและการฟังเสียงของผู้ปฏิบัติใกล้เรียบร้อยแล้ว ส่วนจะให้ถูกใจทุกคนคงเป็นไปไม่ได้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว