เด็กทุพโภชนาการ ผอมเกิน-เผชิญโรคอ้วน ภาคประชาสังคมสานพลังแก้ปัญหา ประกาศเจตนารมณ์พื้นที่อาหารปลอดภัย เป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตที่ดี
สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม มูลนิธิปันสุข จังหวัดนครปฐม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายกว่า 20 องค์กร ร่วมจัดงาน “นครปฐมโมเดล: ปลูกผักสนุกจัง สานพลังการอ่าน… สู่เมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก” ณ วัดบางภาษี ต.คลองนกกระทุง อ.บางเลน จ.นครปฐม พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “นครปฐมต้องเป็นเมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก”
รศ.เกศินี ประทุมสุวรรณ ผู้จัดการ Node Flgship สสส. นครปฐม และกรรมการผู้จัดการมูลนิธิปันสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาเด็ก ๆ หลายคนในจังหวัดนครปฐมไม่ได้รับประทานอาหารที่มีโภชนาการสมวัย โดยพบว่า จากจำนวนประชากรทั้งหมด 911,492 คน เด็กแรกเกิดถึงปฐมวัย (0-5 ปี) ร้อยละ 6.1 มีภาวะทุพโภชนาการ ผอมและเตี้ย
ส่วนเด็กวัยเรียนตามการศึกษาภาคบังคับ (6-15 ปี) ร้อยละ 11.3 เป็นโรคอ้วนและเริ่มอ้วน รวมถึงยังเข้าถึงผักปลอดสารเคมีไม่มากนัก ประกอบกับช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาด ยิ่งทำให้เห็นความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้น สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม และภาคส่วนต่าง ๆ จึงร่วมกันขับเคลื่อน “นครปฐม: เมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก” โดยมีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับเครือข่าย คือ
1. ชุมชนควรมีพื้นที่อาหารปลอดภัย เป็นพื้นที่กลางในการผลิตพืชผลการเกษตรของคนในชุมชน
2. โรงเรียนควรมีระบบและกลไกการนำเข้าวัตถุดิบปลอดสารพิษ และสนับสนุนการประกอบอาหารอย่างปลอดภัย
3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีกลไกสนับสนุนให้เด็กนักเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กและโรงเรียนในความรับผิดชอบได้รับประทานอาหารปลอดภัยอย่างเพียงพอ
4. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลควรร่วมมือกับโรงเรียนในการพัฒนาเด็กให้ได้รับโภชนาการสมวัยเป็นรายบุคคลตามลักษณะของปัญหาที่แตกต่างกัน
5. เกษตรจังหวัดควรมีบทบาทสนับสนุนเกษตรรายย่อยในการสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัย ไร้สารพิษ
ภายในงานยังมีกิจกรรม ปฏิบัติการ 5 ฐานเรียนรู้สำหรับเด็ก โดยเครือข่ายต้นกล้าปันสุข ชุมชนสวนตะไคร้ เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องการปลูกผักแบบง่าย ๆ เช่น การเติบโตของเมล็ดพืช วิธีปักกิ่งเพาะกล้า เรียนรู้เรื่องระบบรากต้นไม้ รวมถึงการปรุงอาหารแบบง่าย ๆ รวมถึงกิจกรรมเล่านิทานจากหนังสือภาพ “ปลูกผักสนุกจัง” เพื่อเป็นอีกสื่อการเรียนรู้เพื่อปลูกฝังให้เด็ก ๆ มีความรู้สึกใกล้ชิดกับผักมากขึ้น
ครูแต้ว-ระพีพรรณ พัฒนาเวช นักเขียนและบรรณาธิการหนังสือ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้สร้างขึ้นมาสำหรับเด็กเล็ก ๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ ในการปลูกผักไว้รับประทานเอง เริ่มจากการเล่าเรื่องเมล็ดพันธุ์อย่างง่าย ๆ โดยที่หนังสือเล่มนี้หวังว่าเด็ก ๆ จะนำไปปฏิบัติตาม รวมถึงสร้างพัฒนาการทางอารมณ์ให้กับเด็ก ๆ ด้วย
จริง ๆ การซื้อมันง่ายมาก แต่การที่หนูต้องรอคอย ต้องประคบประหงมกว่าที่ผักจะโตเป็นอีกสิ่งที่เรียนรู้ได้ เป็นการฝึกจิตใจของเด็ก เมื่อผักโตแล้วประโยชน์คือเด็กชอบผักที่ปลูกเอง ไปเด็ดผักอันนั้นมากินเองได้ ขณะเดียวกันถ้าเด็กรู้จักรอคอยเฝ้าดูการเติบโตจะช่วยฝึกพัฒนาจิตใจของเด็ก ให้รู้จักการรอคอย และรู้สึกว่าอยากจะได้อะไรก็ต้องลงมือทำ
การประสานความร่วมมือนำองค์ความรู้เข้าไปในโรงเรียนเป็นเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีโรงเรียนในเครือข่าย 15 แห่ง ที่จัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ และคุณครู ร่วมกันปลูกผักอินทรีย์ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบให้นักเรียนได้กิน และเอื้อเฟื้อกับชุมชน ดังที่เห็นในโซนร้านค้าต่าง ๆ
จันทิรา รัตนะ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบางภาษี จ.นครปฐม หนึ่งในโครงการนครปฐมโมเดล ระบุว่า ปัจจุบันที่โรงเรียนปลูกผักปลอดภัยกว่า 10 ชนิด โดยออกแบบกิจกรรมการปลูกผักให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ หรือ Active Lerning ให้ครูและเด็กทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เด็ก ๆ กินผักมากขึ้น ทั้งยังเป็นผักปลอดสารเคมีอีกด้วย
ชั่วโมงสุดท้ายของวันพุธจะมีการลงแปลงเกษตร ทำให้เด็กคุ้นเคยกับผักชนิดต่าง ๆ บางคนจากเดิมที่ไม่ทาน แต่พอเป็นผักที่ตัวเองปลูกก็เริ่มทดลองชิม ทดลองกินทำให้ทานผักเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้ที่โรงเรียนปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีทั้งนำมาเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารให้นักเรียน คิดเป็นร้อยละ 50 ของวัตถุดิบที่เป็นผักทั้งหมด และจำหน่ายให้กับชุมชน อบต. ผู้ปกครอง
จังหวัดนครปฐมมีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณร้อยละ 47.9 ของทั้งหมด อาชีพสำคัญคือ เกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน แต่ส่วนใหญ่มักใช้เคมี มีเพียงร้อยละ 1.6 เท่านั้นที่เป็นพื้นที่เกษตรปลอดภัย ซึ่งไม่พอต่อการผลิตอาหารหล่อเลี้ยงประชากรทั้งจังหวัด การเดินหน้าผลักดันให้เกิดการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ รวมถึงเพิ่มโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เข้าถึงอาหารปลอดภัยมากขึ้นจึงเป็นความท้าทาย
“นครปฐมโมเดล” กับกิจกรรมปลูกผักสนุกจัง สานพลังการอ่าน สู่เมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก จึงเป็นอีกพื้นที่ขับเคลื่อน โดยปลูกฝังการปลูกผักให้เด็กเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารปลอดภัยตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อชวนให้คนรุ่นใหม่เติบโตมาโดยเห็นความสำคัญของเกษตรอินทรีย์