ออกหมายเรียก 3 นักเรียน ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พรรคร่วม – ก้าวไกล – นัก กม.สิทธิฯ เห็นต่างแถลงการณ์นายกฯ ประกาศใช้ กม.เข้มจัดการผู้ชุมนุม

ออกหมายเรียก 3 นักเรียน ข้อหาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า ได้รับแจ้งว่า 3 นักเรียนที่เคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมือง ได้แก่ ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ หรือ “มิน” อายุ 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6, เบญจมาภรณ์ นิวาส หรือ “พลอย” อายุ 16 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และคณพศ แย้มสงวนศักดิ์ อายุ 16 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4  ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ให้ไปรับทราบข้อหาฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

หมายเรียกของทั้งสามคน ระบุว่าออกเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 โดยมี พ.ต.ท.วรินทร เศรษฐะ สารวัตรป้องกันปราบปรามสน.ลุมพินี เป็นผู้กล่าวหา และให้ทั้งสามคน พร้อมด้วยผู้ปกครองหรือผู้ที่ไว้วางใจ และทนายความ ไปพบ พ.ต.ท.นพดล ปิ่นพงศ์พันธ์ และพ.ต.ต.รัฐภูมิ โมรา พนักงานสอบสวนสน.ลุมพินี ในวันที่ 30 พ.ย. 2563 เวลา 13.00 น.

ทั้งนี้ คาดว่าเหตุในการถูกออกหมายเรียกเกิดจากการเข้าร่วมการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าตรู่ของวันดังกล่าว พร้อมกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่มีการจับกุมตัวแกนนำพร้อมกับผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่หลังจากเมื่อวานนี้ (19 พ.ย. 2563) พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์ประกาศจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราจัดการต่อผู้ชุมนุม ได้มีความเห็นจากนักการเมืองและนักกฎหมายที่มีทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง

ส.ส.พรรคร่วม ประสานเสียงหนุนนายกฯ ใช้กฎหมายเข้ม

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกแถลงการณ์บังคับใช้กฏหมายเด็ดขาดดูแลม็อบที่ฝ่าฝืนกฏหมายรุนแรง เพราะที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์พยายามประคับประคอง ประนีประนอมเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปให้ได้ ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงเพราะทุกคนเป็นคนไทย จะมาขัดแย้งกันทำไม จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดูแลม็อบด้วยความอดทนอดกลั้น

นายธนกร กล่าวอีกว่า การชุมนุมเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น บ้านเมืองมีขื่อมีแป หากใครทำผิดกฏหมายก็ต้องถูกดำเนินคดี ตนเห็นพฤติกรรมของแกนนำม็อบบางคนแล้วรับไม่ได้จริง ๆ อยากจะขอร้องน้อง ๆ ให้ทบทวนแนวทางการเคลื่อนไหวว่ามันถูกต้องหรือไม่ เพราะการชุมนุมไม่ได้สันติแล้ว ข้อเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านสภาฯ แล้ว อยากให้น้อง ๆ คิดถึงอนาคตให้มาก

นอกจากนี้ อยากจะฝากไปยังเครือข่ายอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล วันนี้ยังหน้ามืดใจมัว สนับสนุนม็อบจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อีกหรือ ไม่มีใครโหนสถาบันเหมือนที่พวกคุณกล่าวหา แต่พี่น้องคนไทยทั่วประเทศรักและศรัทธาสถาบันเท่าชีวิต อย่าท้าทายพลังแห่งศรัทธา

ขณะที่ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลักการที่สำคัญคือ ประเทศไทยปกครองด้วยระบบนิติรัฐ นั่นคือ รัฐที่ปกครองด้วยกฏหมาย ฉะนั้น ผลของนิติรัฐ ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็ต้องอยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

คำแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีเป็นหลักการเบื้องต้นในประเทศที่ปกครองด้วยหลักนิติรัฐอยู่แล้ว เมื่อมีการฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นกฎหมายฉบับใดมาตราใด หากมีข้อเท็จจริงใดที่เป็นความผิดก็จะต้องถูกดำเนินการตามกฏหมายอย่างเคร่งครัดและตรงไปตรงมา ไม่เฉพาะแต่ประชาชนผู้ชุมนุมเท่านั้นรวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วย หากมีการกระทำใดเป็นความผิดก็ต้องรับผิดชอบในการกระทำนั้นเช่นเดียวกัน

หากมีคนกระทำความผิดแล้วรัฐบาลรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและตรงไปตรงมา ท้ายที่สุดรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ก็จะต้องรับผิดชอบเพราะถือว่ามีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ฝ่ายการเมืองจึงไม่ควรหวั่นไหวกับคำแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีไม่ควรโจมตีรัฐบาลจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การกระทำสำคัญที่สุดในฐานะนักกฏหมายจึงสนับสนุนนายกรัฐมนตรีให้บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดและตรงไปตรงมาภายใต้หลักนิติธรรม

“พิธา” ชี้ เป็นก้าวที่ผิดพลาด แนะใช้ความเข้าใจและประนีประนอมบริหารประเทศ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เป็นก้าวที่ผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากยังไม่รับฟังความเห็นของประชาชน จะเป็นการถอยหลังลงหลุมทั้งในรัฐสภาและนอกรัฐสภา เพราะท่าทีของฝ่ายบริหารมีแต่ความแข็งกร้าว ไม่มีศิลปะในการบริหารสถานการณ์ที่ต้องมีความรวดเร็ว-ช้า-หนัก-เบา ซึ่งบางเรื่องก็ไม่จำเป็นที่ต้องใช้ความรุนแรงและอ้างว่าเป็นไปตามสากล

ต่อไปนี้ พรรคก้าวไกล ประชาชน และสังคม จะย้ำถามหลักปฏิบัติสากล คืออะไร หลักจากไหน เพราะการชุมนุมที่ผ่านมาของกลุ่มราษฎรยังไม่มีทีท่าว่าผู้ชุมนุมมีเจตนาที่จะสร้างความรุนแรงให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิต หรือความเสียหายที่ถึงขั้นเปลี่ยนผู้ชุมนุมกลายเป็นผู้ก่อจลาจล แต่วิธีการคุมสถานการณ์นอกสภาเป็นการคุมการจลาจล ซึ่งไม่สมเหตุสมผลทำให้ต้องมีการตอบโต้จากเจ้าหน้าที่

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรี ควรที่จะบริหารเพื่อหาทางออกให้สังคมได้บรรเทาความเก็บกดทางอารมณ์ที่มีเหตุจากปัญหาทางการเมือง และท่าทีของนายกรัฐมนตรีทั้งการปฏิบัติและการแถลงออกมา ไม่ว่าทางนิติธรรมและนิติรัฐต้องเป็นตราชั่งที่เท่ากัน โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม 2 กลุ่มที่มีมาตรฐานต่างกัน คือกลุ่มราษฎรและกลุ่มไทยภักดี โดยเรียกร้องให้หาผู้กระทำผิดที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ชุมนุมให้ได้โดยเร็ว เพื่อไม่ให้เป็นที่ติฉินนินทาของสังคมว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติ เพื่อทรงความยุติธรรมของประเทศไม่ให้ลงหลุม

รวมทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ใช้ความละมุนละม่อม และใช้ศิลปะบนหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดและความเดือดร้อนของประชาชน แต่การบังคับให้คนอื่นฟังแต่ตัวเอง ไม่ได้เปิดให้เขาได้พูดหรือแสดงออกไม่ได้เป็นทางออกของการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และต้องใช้ความเข้าใจและประนีประนอมในการบริหารประเทศในขณะนี้

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระบุ แถลงการณ์นายกฯ ตอกย้ำรัฐบาลมองผู้ชุมนุมเป็นศัตรู

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ ระบุว่า แถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลมองประชาชนผู้ชุมนุมเป็นคู่ขัดแย้งหรือศัตรูของรัฐบาล ไม่ใช่ในฐานะประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ และจะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือดำเนินคดีที่เป็นการกลั่นแกล้งเพื่อปิดปากประชาชนให้หวาดกลัวที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การกระทำเช่นนี้ แทนที่จะเป็นการคลี่คลายสถานการณ์กลับเป็นการโหมกระแสแห่งความขัดแย้งให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น

ภาคีฯ ยืนยันว่ากฎหมายต้องมีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ใช่เครื่องมือของรัฐที่จะใช้ในการคุกคามหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ไขความขัดแย้ง รัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายกับผู้ชุมนุม การบังคับใช้กฎหมายต้องกระทำอย่างเสมอภาคและสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี อีกทั้งรัฐบาลต้องไม่ดำเนินคดีไปในทางที่จะนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาหรือลดทอนพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อประชาชน

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค รับฟังปัญหาและแก้ไขปัญหาด้วยความจริงใจ โดยรัฐบาลต้องไม่กระทำการอันเป็นการมองประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพเป็นศัตรู และต้องหยุดคุกคามประชาชนโดยการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมือง

พบผู้กระทำผิดหน้ารัฐสภาและหน้า สตช. มากกว่า 30 คน

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภาและหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันนี้ (20 พ.ย. 2563) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนคดี เพื่อพิสูจน์ทราบระบุตัวบุคคลที่กระทำความผิดหน้ารัฐสภา ถนนเกียกกาย และหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนพระราม 1 เบื้องต้น สามารถระบุตัวบุคคลได้แล้วรวมมากกว่า 30 คน แบ่งเป็นในพื้นที่ สน.บางโพ จากการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา สามารถพิสูจน์ทราบบุคคลได้แล้ว 14 คน ส่วนในพื้นที่ สน.ปทุมวัน จากการชุมนุมกันที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถระบุตัวและพิสูจน์ทราบบุคคลได้แล้ว 17 คน

ส่วนเรื่องการปะทะกันที่บริเวณหน้ารัฐสภา ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้เรียกตัวผู้ได้รับบาดเจ็บมาให้ปากคำได้แล้วรวม 3 คน โดยเป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนที่แยกบางโพ 1 คน และแยกเกียกกาย 2 คน ซึ่งมีทั้งผู้ชุมนุมของกลุ่มราษฎรและผู้ชุมนุมกลุ่มปกป้องสถาบัน ส่วนลักษณะการก่อเหตุจะเป็นการจงใจก่อเหตุเพื่อหวังเอาชีวิตหรือเป็นการปกป้องคุ้มกันกลุ่มหรือไม่ ยังไม่สามารถเจาะจงประเด็นแรงจูงใจต่าง ๆ ได้ ต้องอยู่ระหว่างการตรวจสอบแนววิถีกระสุนและพยานหลักฐานอื่น ๆ เพิ่มเติม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active