สภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ไฟเขียว แก้แบบครุยรับพระราชทานปริญญาบัตร ใช้ผ้ายกเมืองนคร กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างเงินหมุนเวียนกว่า 10 ล้านบาท
ผศ.สุรศักดิ์ แก้วอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าปีการศึกษา 2564 บัณฑิตที่จะเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร จะมีการเปลี่ยนรูปแบบชุดครุยจากเดิมเป็นแถบกำมะหยี่ เปลี่ยนเป็นแถบที่ใช้ผ้ายกเมืองนครของกลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค ซึ่งผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยประเทศเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น หลังซบเซาจากวิกฤตโควิด-19 ที่ไม่มีนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มีนักศึกษาและบุคลากรกว่า 10,000 คน ดังนั้น การออกนโยบายส่งเสริมการใช้ผ้า รวมไปถึงวัสดุที่ทำจากท้องถิ่น คาดว่าจะสามารถ ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชน กว่า 10 ล้านบาททันที
นโยบายการส่งเสริมใช้ผ้าและวัสดุจากท้องถิ่น มีขึ้นภายหลังจากที่ มหาวิทยาลัยฯ ได้เข้าร่วมโครงการวิจัยมหาวิทยาลัยกับการพัฒนากลไกเพื่อดูดซับเศรษฐกิจภายในพื้นที่ โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อ 7 เดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19
นอกจากผ้ายกแล้ว ผ้าท้องถิ่นอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม มหาวิทยาลัยฯ ได้ส่งเสริมให้บุคลากรได้สวมใส่ เพื่ออุดหนุนผู้ประกอบการรายย่อยที่ผลิตผ้าในพื้นที่ และมีแผนที่จะขยายกิจการต่อ ด้วยการสร้างแบรนด์ “ภูมิพัฒน์” เพื่อทำการตลาดออนไลน์ช่วยชุมชน
ผศ.สุรศักดิ์ บอกอีกว่า จากการตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2563 ของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เห็นโมเดลดังกล่าวก็เตรียมที่จะส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยราชภัฏอื่น ๆ ทั่วประเทศได้มีแนวทางเช่นเดียวกัน ในการสนับสนุนท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ด้าน วิไล จิตรเวช ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค กล่าวว่า ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มีนโยบายส่งเสริมการใช้ผ้าท้องถิ่น ก็ทำให้มียอดขายเพิ่มสูงขึ้นจาก 70,000 บาทต่อเดือน เป็น 200,000 – 300,000 บาทต่อเดือนทันที โดยผ้ายกเมืองนครถือเป็นเอกลักษณ์และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอด ตั้งแต่สมัยอาณาจักรตามพรลิงค์ และได้รับการฟื้นฟู ตามโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงได้มีอาชีพเสริม หลังจากกรีดยาง หรือปลูกผัก
สำหรับผ้ายกเมืองนครลายดอกพิกุลซึ่งเป็นลายพื้นฐาน จะมีราคาอยู่ที่หลาละ 300 บาท ส่วนผ้าลายโบราณ จะมีราคา 1,200 บาท รายได้ของสมาชิกขึ้นอยู่กับจำนวนผ้าที่ทอได้ แต่ละรายได้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท ยิ่งมียอดสั่งซื้อมาก รายได้ของชาวบ้านก็จะเพิ่มมากขึ้นตาม ทำให้มีเงินจับจ่ายใช้สอย ในช่วงที่เศรษฐกิจ ได้รับผลกระทบ จากโควิด-19 ที่มีลูกหลานถูกเลิกจ้างงานจากภาคอุตสาหกรรม