1 ใน 7 ของเด็กและเยาวชนไทย เสี่ยง “หลุดจากระบบการศึกษา”

กสศ. สำรวจพบ “นักเรียนยากจนพิเศษหน้าใหม่” หลัง COVID-19 เพิ่มกว่า 1.7 แสนคน ต้องพึ่งสวัสดิการจากรัฐเป็นแหล่งรายได้หลักมากขึ้น

วันนี้ (9 ต.ค. 2563) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ในภาคเรียนที่ 1/2563 ต่อรายได้และการมีงานทำของครัวเรือนนักเรียนยากจนและนักเรียนยากจนพิเศษ ภายหลังสถานการณ์ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา

ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หลัง COVID-19 ภาคเรียนที่ 1/2563 สำรวจพบนักเรียนในระบบการภาคบังคับ (ปฐมวัย – ม.3) สังกัด สพฐ. อปท. และ ตชด. รวมกว่า 7 ล้าน ในจำนวนนี้มีนักเรียนยากจน 1.7 ล้านคน แบ่งเป็นนักเรียนยากจนพิเศษ 1 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าภาคเรียน 2/2562 มากกว่า 1.7 แสนคน

หากเปรียบเทียบก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ในภาคเรียนที่ 1/2562 กับเมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดแล้ว ในภาคเรียนที่ 1/2563 พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษ (นักเรียนทุนเสมอภาค) ที่ผ่านการคัดกรองใหม่ จำนวน 652,341 คน ประกอบไปด้วย กลุ่มเป้าหมายใหม่ คือ นักเรียนอนุบาลสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ 146,693 คน นักเรียนกลุ่มเดิมที่คัดใหม่เนื่องจากครบ 3 ปีการศึกษา 313,361 คน นักเรียนสังกัด อปท. และ ตชด. 14,834 คน และกลุ่มใหม่ที่คาดว่ายากจนเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจผนวกในสถานการณ์ COVID-19 จำนวน 177,453 คน หรือ เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 50 ของนักเรียนยากจนพิเศษ ก่อนมีสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19

ณัฐชา ก๋องแก้ว นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่า 600,000 ครัวเรือนพบว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ยังได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มใหม่ คือมีรายได้เฉลี่ยลดลง จาก 1,205 บาท/คน/ครัวเรือน เหลือเพียง 1,077 บาท/คน/ครัวเรือน หรือเฉลี่ยเหลือเพียงวันละ 36 บาท ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับก่อนสถานการณ์ COVID-19 ช่วงปลายปี 2562 เฉลี่ยวันละ 40 บาท

จากการสำรวจข้อมูลครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษ ยังพบว่า สมาชิกในครัวเรือนอายุ 15 – 65 ปี ที่ไม่ใช่นักเรียน นักศึกษา ว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44 เป็นร้อยละ 73 ของนักเรียนยากจนพิเศษที่คัดกรองใหม่หลังสถานการณ์ COVID-19 และมีสมาชิกครัวเรือนเฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น จาก 4 เป็น 5 คน ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการกลับภูมิลำเนา เนื่องจากว่างงานในช่วง COVID-19 ที่สำคัญยังพบว่าผู้ปกครองนักเรียน มีรายได้จากสวัสดิการจากรัฐถึงร้อยละ 54 หากเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 ที่มีประมาณร้อยละ 39 และยังพบว่า มีการประกอบอาชีพเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44 หากเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 ที่มีประมาณร้อยละ 36

รองผู้จัดการ กสศ. เพิ่มเติมว่า COVID-19 ส่งผลกระทบหนักมากต่อครัวเรือนที่มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้พิจารณาปรับแผนการช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจนพิเศษทั้งกลุ่มเดิม จำนวน 414,688 คน และกลุ่มใหม่ จำนวน 652,341 คน รวมเป็น 1,067,029 คน จากเดิมที่เคยให้ความช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาค 761,729 คน ในปีการศึกษา 2562

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่การขยายกลุ่มเป้าหมาย แต่ได้วิเคราะห์ผลลัพธ์ในเชิงคุณภาพ ยืนยันว่า เมื่อนักเรียนยากจนพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอัตราการมาเรียนต่ำกว่าร้อยละ 80 ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาคอย่างต่อเนื่อง สามารถช่วยลดผลกระทบ ป้องกันไม่ให้หลุดออกนอกระบบการศึกษาได้ โดยเด็กกลุ่มนี้มีอัตราการมาเรียนที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่เคยมาเรียนร้อยละ 69.4 หรือราวสามวันต่อสัปดาห์ เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 89.4 หรือราวสี่วันครึ่ง และเมื่อเด็กได้รับเงินอุดหนุนต่อเนื่องอีกหนึ่งภาคเรียน อัตราการมาเรียนเฉลี่ยก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

“ส่วนหนึ่ง ต้องขอขอบคุณสภาผู้แทนราษฎร ที่พิจารณาแปรญัตติเพิ่มงบประมาณกลับมาให้กับ กสศ. กว่า 1,000 ล้านบาท ทำให้ กสศ. มีงบประมาณประจำปี 2564 รวมกว่า 6,000 บาท ส่งผลให้ กสศ. สามารถช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหานี้มีขนาดใหญ่มาก และยังมีกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษที่เรียนจบชั้น ป.6 ขึ้น ม.1 และ ม.3 ขึ้น ม.4 หรือ ปวช. ที่มีความเสี่ยงหลุดนอกระบบการศึกษา เพราะสถานการณ์ COVID-19 รวมทั้งเรื่องรายได้ของครอบครัวที่อาจเป็นอุปสรรคทำให้เด็ก ๆ ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา จึงอยากเชิญชวนภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมเติมเต็มความช่วยเหลือให้กับน้อง ๆ กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร เพื่อให้เด็กเยาวชนในระบบการศึกษาผ่านพ้นสถานการณ์ COVID-19 ไปได้ด้วยกันทุกคน”

“นักเรียนยากจนพิเศษ” คือใคร?

ความหมายของคำว่า “นักเรียนยากจนพิเศษ” คือ การระบุสถานะของนักเรียนจากการคัดกรองด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อม (Proxy Means Test: PMT) ซึ่งเป็นวิธีการทางสถิติเพื่อใช้ในการกำหนดสถานะของครัวเรือนยากจน ประกอบด้วยเงื่อนไข 2 เกณฑ์ ได้แก่ 1. เกณฑ์ทางด้านรายได้ คือ คนในครอบครัวมีรายได้เพียงครึ่งหนึ่งของเส้นความยากจน หรือ ประมาณ 1,300 บาท/เดือน (ขณะนี้เส้นความยากจนจากรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อยู่ที่ประมาณ 2,700 บาท/เดือน)

และ 2. เกณฑ์ทางด้านสถานะครัวเรือน 8 ด้าน ที่บ่งบอกระดับรายได้หรือความยากจนได้เช่น สภาพที่อยู่อาศัย จำนวนสมาชิกในครัวเรือนที่มีภาวะพึ่งพิง สภาพที่อยู่อาศัย จำนวนสินทรัพย์คงทน ที่ถือครอง เป็นต้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม