หวั่นอีก 2 สัปดาห์​ ผู้ติดโควิด-19 เมียนมา ​ประชิดชายแดน

ผอ.รพ.ท่าสองยาง จ.ตาก ชี้ เวชภัณฑ์​มาจากบริจาค​ 80% พร้อมรับมือ แต่ยอมรับตรวจสอบยาก ผู้ป่วยไร้สัญชาติ​ มาจากฝั่งไทยหรือเมียนมา

วันนี้ (10 ก.ย. 2563) นายแพทย์ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผอ.โรงพยาบาลท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เปิดเผยว่า​ 80% ของเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่เตรียมไว้เพื่อรองรับการระบาดของโควิด-19 เช่น ชุด PPE หน้ากากอนามัย Face Shield ได้มาจากการบริจาค ส่วนอีก 20 % เป็นของที่เบิกจากรัฐ

ทั้งนี้ จากกระแสข่าว การระบาดของโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้าน​ ที่มีผู้ติดเชื้อใหม่ไม่ต่ำกว่าวันละ 100 คน ทำให้กังวลว่าอีกภายใน 2 สัปดาห์​ จํานวนผู้ติดเชื้อจะค่อย ๆ ลุกลามประชิดชายแดน​ ทำให้โรงพยาบาลท่าสองยาง​ ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนเมียนมา​เพียง 600 เมตร​ ต้องเตรียมความพร้อมรับมือ ซึ่งหากการระบาดมาไม่ถึงก็เป็นเรื่องดี​ แต่ก็ควรจะเตรียมความพร้อมไว้ก่อน​ เพราะมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง

โรงพยาบาลท่าสองยาง​ เป็นโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนคนไข้ผู้ป่วยนอก 25% เป็นคนไร้สัญชาติ ขณะที่ผู้ป่วยใน 30% ก็เป็นคนไร้สัญชาติ จะเห็นว่ามีสัดส่วนเกือบครึ่งของคนไทยที่เข้ารับการรักษา​ ในส่วนของคนไร้สัญชาติที่เข้ารับการรักษาก็ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้

“ในช่วงเวลาที่ปิดพรมแดนก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ชัดเจน ว่าคนไร้สัญชาติที่เข้ารับการรักษาเป็นคนฝั่งเมียนมาหรือฝั่งไทย เพราะชีวิตประจำวันก็เดินข้ามไปข้ามมา และใช้ภาษาพูดเหมือนกัน เมื่อซักประวัติว่ามาจากฝั่งไหนก็อาจไม่ได้พูดความจริง 100% นี่ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลท่าสองยางมีเตียงรองรับผู้ป่วยในทั้งหมด 78 เตียงและมีห้องไอซียูเพียง 4 ห้อง

แต่เมื่อดูตัวเลขของจำนวนผู้ป่วย โรคระบบทางเดินหายใจ ในช่วงไตรมาส​ 2-3 ที่ผ่านมาพบว่ามีแนวโน้มลดลงจากมาตรการป้องกันโรค​ การใส่หน้ากากอนามัย​ และการเว้นระยะห่าง แต่ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา​ ก็มีกลุ่มผู้ป่วยที่เข้าข่ายอาการกลุ่มเสี่ยงหรือ PUI จำนวน​ 17 รายที่ต้องทำการ​ Swab​ และส่งเชื้อไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลแม่สอด​ ซึ่งก็ไม่พบว่ามีผู้ใดติดเชื้อโควิด-19

“ถ้าหากมีผู้ติดเชื้อขึ้นมา ปัจจุบันมีชุด PPE​ สำรองอยู่เพียงแค่ 10 ชุด​ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องการขอรับบริจาค เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งประเมินแล้ว 10 ชุดหากมีผู้ติดเชื้อก็จะใช้ได้เพียงแค่ 2-3 วันเท่านั้นเอง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS