ร่วมสะท้อนปัญหา ในเวทีขยะพิษภาคตะวันออก ย้ำ ความทุกข์ร้อนชาวบ้านยังไร้การเหลียวแล หลังได้รับผลกระทบจากนโยบายนำเข้าขยะพลาสติก
วันนี้ (30 ส.ค. 2563) ที่เวทีจุดประกายความคิดร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะพิษภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน จัดขึ้นที่ จ.ปราจีนบุรี มีตัวแทนชาวบ้านจาก 5 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานประกอบกิจการขยะ รวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อร่วมสะท้อนว่าความทุกข์ร้อนของชาวบ้านยังไม่ได้รับการเหลียวแลอย่างจริงจัง
‘สนธิ คชวัฒน์’ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชมรมนักวิชาการ สิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโรงงานกิจการขยะ สาเหตุหนึ่งมาจากการลักลอบทิ้งกากของเสีย เพราะโรงงานบำบัด กำจัดกากไม่เพียงพอโรงงานที่เป็นผู้ก่อกำเนิด มีมากกว่า คิดเป็นอัตราส่วน 40 ต่อ 1 นอกจากนี้ค่ากำจัดกากยังมีมูลค่าสูง ไม่สัมพันธ์กับบทลงโทษ
ขณะที่ ‘เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง’ มูลนิธิบูรณนิเวศ ระบุถึงการขยายตัวของโรงงานกิจการขยะ สัมพันธ์กับการนำเข้าขยะพลาสติกและวัสดุที่ใช้แล้วจากต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2557-2561 พบจำนวน 9 แสนตัน
ขณะที่ในปี 2564 ยังมีแผนนำเข้าเศษพลาสติก 6.5 แสนตัน และเตรียมผลักดันให้พื้นที่อีอีซี นำเข้าพลาสติกได้อย่างเสรี
“โรงงานรีไซเคิลขยะต้องทำ EIA เพราะเห็นชัดแล้วว่าโรงงานก่อให้เกิดมลพิษและสร้างผลกระทบกับชุมชน และกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเป็นหน่วยงานฟื้นฟูในฐานะหน่วยงานอนุญาต”
ด้าน ‘สุภาภรณ์ มาลัยลอย’ ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLAW ชี้ให้เห็นถึงจำนวนโรงงานประกอบกิจการขยะ ประเภท 101 105 106 รวม 725 โรง ใน 5 จังหวัดภาคตะวันออก มีแนวโน้มพิ่มขึ้น หลังมีคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 อนุญาตให้โรงงานประเภทนี้สร้างในพื้นที่สีเขียวได้
เวทีแก้ไขปัญหาขยะพิษภาคตะวันออก จึงเสนอ ให้ประเมินศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับ การขยายตัวของโรงงานกิจการขยะ
“เราเคยเสนอให้โรงงานกิจการขยะต้องประเมินศักยภาพพื้นที่ เพื่อประเมินมลพิษที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนแต่ข้อเสนอไม่เคยได้รับการตอบรับ”
EnLAW ยังชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านเมื่อลุกขึ้นปกป้องสิ่งแวดล้อม กรณี นักปกป้องสิทธิ คนรักษ์กรอกสมบูณ์ จ.ปราจีนบุรี ถูกโรงงานฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท วิธีการเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านมีภาระการต่อสู้ทางคดี และส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน