เด็ก 0-6 ปี เตรียมรับเงินอุดหนุนถ้วนหน้า

รองอธิบดีกรมกิจการเด็กฯ เผย ความก้าวหน้าเบี้ยเด็กเล็ก เคาะจ่ายถ้วนหน้า 4.1 ล้านคน ปีงบฯ 65 ‘ภาค ปชช.’ เห็นควรเริ่มทันทีปีงบฯ 64

วันนี้ (28 ส.ค. 2563) ‘เทพวัลย์ ภรณวลัย’ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นำเสนอความก้าวหน้านโยบายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็ก ในเวทีเสวนา “วิกฤตโควิด ผลกระทบต่อเด็กเล็กที่ถูกมองข้าม” ที่เครือข่ายภาคประชาชน ในนาม ‘คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า 119 องค์กร’ จัดขึ้น ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

โดยระบุว่าขณะนี้มีความชัดเจนจากที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ที่มี ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษย์’ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี เดือนละ 600 บาท แบบถ้วนหน้า เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 4.1 ล้านคน จากปัจจุบันให้เงินอุดหนุนแก่เด็กอายุ 0-6 ปี เฉพาะครอบครัวที่มีฐานรายได้เฉลี่ยของสมาชิกไม่เกิน 100,000 บาท/ปี จำนวน 1.4 ล้านคน

‘รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน’ (ดย.) กล่าวว่า ความก้าวหน้าด้านนโยบายมีส่วนสำคัญมาจากการนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์ของ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) และข้อเสนอแนะจากเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านการผลักดันทางสังคม ทำให้นโยบายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็กของไทย ซึ่งเริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 มีพัฒนาการตามลำดับ ดังนี้

  • ปี 2558 ให้เด็กแรกเกิด คนละ 400 บาท/เดือน ระยะเวลา 1 ปี โดยต้องผ่านเกณฑ์คัดกรองรายได้ครอบครัวไม่เกิน 36,000 บาท/ปี
  • ปี 2559 ขยายวงเงินเป็น 600 บาท/เดือน ถึงอายุ 3 ปี
  • ปี 2560 ถึง ปัจจุบัน ขยายช่วงอายุให้เด็กแรกเกิด ถึง 6 ปี คนละ 600 บาท/เดือน และปรับเกณฑ์คัดกรอง เป็นครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี (ใช้เกณฑ์เดียวกับนโยบายสวัสดิการแห่งรัฐ)

ระหว่างที่ พม. ดำเนินการจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็ก ‘ดร.สมชัย จิตสุชน’ ได้นำเสนอรายงานการวิจัยว่า การจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบเจาะจงด้วยเกณฑ์คัดกรอง ทำให้เกิดการตกหล่นของกลุ่มเป้าหมายที่เข้าเกณฑ์ ถึงร้อยละ 30 ด้วยสาเหตุผู้ปกครองไม่รับรู้สิทธิ์ ขั้นตอนการลงทะเบียนยุ่งยากซับซ้อน คือผู้ปกครองต้องไปลงทะเบียนที่ท้องถิ่นตามทะเบียนบ้านเท่านั้น ต้องมีข้าราชการรับรองความจน ขณะเดียวกันก็มีคนไม่จนจริงเข้าสู่ระบบจากความสัมพันธ์ในพื้นที่ ซึ่ง ‘รองอธิบดี ดย.’ ยอมรับว่ามีช่องโหว่เกิดขึ้นจริง

นอกจากนี้ มีการประเมินผลที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กอายุ 0-6 ปี ที่ได้รับเงินอุดหนุนเดือนละ 600 บาท พบว่า มีภาวะโภชนาการดีขึ้น ได้ดื่มนมแม่มากกว่าเด็กที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุน การดูแลสุขภาพของแม่ดีขึ้น ขยายการเข้าถึงบริการสังคมที่สำคัญ เช่น การพบแพทย์ รับวัคซีน ตลอดจนเสริมพลังให้ผู้หญิงมีอำนาจตัดสินใจในการเลี้ยงดูบุตรมากขึ้น ซึ่งก็เป็นชุดข้อมูลที่ภาคประชาชน ‘คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า 119 องค์กร’ ใช้นำเสนอต่อรัฐบาล เรียกร้องให้ดำเนินการอุดหนุนเด็กอายุ 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า มากว่า 6 ปี

“เราทำงานจากข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ ดร.สมชัย จิตสุชน เคยบอกว่าความจนเป็นพลวัต หรือ Dynamic วันนี้ไปลงทะเบียนถูกประเมินว่ารวยเกินที่มาตรฐานกำหนด แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราเห็นชัดว่าความจนเกิดขึ้นได้ทันทีทันใด เกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นการให้เงินอุดหนุนถ้วนหน้าก็จะตอบคำถามนี้ เราในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ กดยช. มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า มีผู้แทนจากคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า 119 องค์กร เป็นคณะกรรมการด้วย จะเริ่มประชุมนัดแรกในเดือน ก.ย. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ทำแผนดำเนินงานและงบประมาณ กลับมาเสนอ กดยช. เพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบดำเนินการจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าในปีงบประมาณ 2565”

ด้าน ‘สุนี ไชยรส’ ผู้ประสานงานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า 119 องค์กร มองว่า รัฐบาลสามารถตัดสินใจให้ดำนเนินการอุดหนุนเด็กอายุ 0-6 ปี ได้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตในปัจจุบัน มีการประเมินว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะมีเด็กเล็กประมาณ 4.2 ล้านคน ถ้ายังให้เงินอุดหนุนแบบเจาะจง จะมีเด็กได้รับเงินอุดหนุนเพียง 2.078 ล้านคน ตามเงื่อนไขให้เฉพาะครัวเรือนรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ใช้งบประมาณ 14,962.73 ล้านบาท

แต่ถ้ารัฐบาลให้เงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า จะใช้เงินประมาณ 30,336.38 ล้านบาท เท่ากับรัฐบาลเพิ่มเงินอีกประมาณ 15,373.65 ล้านบาทเท่านั้น แต่รัฐบาลก็ไม่ทำทันที ขณะที่ได้ใช้เงินสนับสนุนนโยบายและหลายโครงการ แม้จะถูกภาคประชาชนตั้งคำถามถึงความจำเป็นและจังหวะเวลาที่เหมาะสม แต่ก็ไม่ได้ฟังเสียงประชาชน

โดยยกตัวอย่างล่าสุด กรณีเรือดำน้ำ 22,500 ล้านบาท เป็นต้น จึงกล่าวได้ว่า แท้จริงแล้วนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าจะเกิดหรือไม่ อยู่ที่การเห็นความสำคัญของรัฐบาลว่า จะเห็นเป็นประเด็นสำคัญและความเร่งด่วนไปกับนโยบายด้านใด

สอดคล้องกับข้อเสนอ ‘ดร.สมชัย จิตสุชน’ ที่ระบุว่า การยื้อเวลาอุดหนุนเด็กเล็ก ซึ่งเป็นช่วงวัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาทุนมนุษย์ ประเทศจะยิ่งเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในระยะยาว ถ้ารัฐบาลจัดลำดับความสำคัญ ตัดงบฯ ที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน มาลงทุนพัฒนาเด็กแบบถ้วนหน้า เพื่อเตรียมรากฐานอนาคตของประเทศ งบประมาณที่มีอยู่จำกัด ก็จะยังใช้เม็ดเงินได้เท่าเดิม

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม