พบ แนวทางจัดการน้ำในพื้นที่เพียงพอ ด้าน ผู้ชุมนุมคัดค้าน ปักหลักวันที่ 5 ยืนยัน รอคำสั่งเป็นทางการจากรัฐบาลให้ยุติโครงการฯ
หลังการประชุมเจรจา 4 ฝ่าย ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ เขื่อนเหมืองตะกั่ว อ.ป่าบอน จ.พัทลุง เดชา เหล็มหมาด ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์โตนสะตอ ซึ่งร่วมกับชาวบ้านชุมนุมคัดค้านโครงการฯ เปิดเผยถึงรายละเอียดการประชุมเพื่อหาทางออกกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (28 ส.ค. 2563)
โดยระบุว่า ฝั่งชาวบ้าน ได้หยิบยกหลายข้อสังเกตเพื่อคัดค้านโครงการเขื่อนเหมืองตะกั่ว เช่น กระบวนการจัดทำข้อมูลไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในพื้นที่, การก่อสร้างไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและพื้นที่ป่า, ตลอดจนข้อสังเกตต่อผู้ที่ได้รับสิทธิเวนคืนที่ดิน ซึ่งอาจไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ทั้งยังมีความกังวลว่าโครงการฯ ที่ไม่มีความพร้อม และยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบให้รอบด้านอาจส่งผลให้เกิดการแอบอ้าง และแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการพระราชดำริหรือไม่
กรมชลฯ พร้อมรับข้อกังวลชาวบ้านไปตรวจสอบ
ขณะที่ สุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงว่า โครงการนี้ ถูกเสนอขึ้นมาจากความต้องการของท้องถิ่น ที่มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ ซึ่งก็มีชาวบ้านที่ต้องการให้แก้ไขปัญหาน้ำเพื่อการเกษตร และตามที่อ้างว่าในพื้นที่มีอ่างเก็บน้ำอยู่แล้วถึง 2 อ่าง คืออ่างเก็บน้ำป่าบอน และอ่างเก็บน้ำหัวช้าง จึงไม่จำเป็นต้องสร้างเพิ่มนั้น ยืนยันว่า เป็นการบริหารจัดการคนละลุ่มน้ำกัน และกระบวนการที่ผ่านมาไม่ได้คิดขึ้นมาลอย ๆ แต่ผ่านการศึกษาความเป็นไปได้จากในพื้นที่มาแล้ว ส่วนประเด็นข้อกังวลของชาวบ้าน กรมชลประทานรับไปตรวจสอบให้เกิดความชัดเจนต่อไป
กปร.พร้อมหาทางออกโครงการที่เหมาะสม
ดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ยืนยันกับชาวบ้านว่า แม้จะเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แต่ไม่สามารถเดินหน้าทำได้อย่างเดียว หากมีปัญหา หรือ ประชาชนไม่เห็นด้วย ก็ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ และหาทางออกที่เหมาะสมระหว่างการพัฒนา และงานด้านการอนุรักษ์
“อยากวิงวอน ประชาชนพูดคุยกันด้วยเหตุผล อย่าตั้งธงว่าคัดค้าน ต่อต้าน เพราะที่ผ่านมาภาครัฐทำตามหน้าที่ เตรียมความพร้อมให้ดีที่สุด ซึ่งคนที่อยากได้น้ำก็มี คนไม่เห็นด้วยก็มี ก็คงต้องปรับความเข้าใจกันให้มีข้อยุติ ส่วนไหนที่มองว่าไม่ครบถ้วน มองด้านเดียว หรือยังเห็นต่าง ก็ต้องไปดูว่าจะปรับวิธีการอย่างไร ถ้าอ่างเก็บน้ำยังทำไม่ได้ ก็ต้องปรับรูปแบบวิธีการ ยังมีเวลาปรับกันได้ จะได้หาทางออกร่วมกันใหม่”
กมธ.บริหารจัดการลุ่มน้ำฯ เชื่อ “เขื่อนเหมืองตะกั่ว” ไม่จำเป็น
ด้าน ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ว่า หากพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว เขื่อนเหมืองตะกั่ว คืออีกหนึ่งโครงการจัดการน้ำของกรมชลประทานที่พยายามผลักดัน ทั้งที่มองไม่เห็นความจำเป็น กระบวนการจัดทำต่าง ๆ ไม่มีความพร้อมเพียงพอ อย่างการเสนอของบประมาณ โดยที่ยังจัดทำรายงานศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ไม่แล้วเสร็จ
ที่สำคัญคือเมื่อพิจารณาจากต้นทุนจัดการน้ำที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ ก็ยิ่งทำให้เห็นว่า งบฯ ที่จะใช้สำหรับโครงการเขื่อนเหมืองตะกั่ว จำนวน 650 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบฯ ผูกพันปี 2564-2566 ยิ่งไม่มีความจำเป็น ดังนั้นจะดีกว่าหรือไม่ หากงบฯ ส่วนนี้จะถูกใช้ไปเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีปัญหามากกว่า
ผศ.ดร.สิตางศุ์ ยังระบุอีกว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 ส.ค.) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สภาผู้แทนราษฎร ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า หากโครงการยังไม่พร้อม รายงานไม่เสร็จ ก็ควรนำงบฯ ไปใช้กับโครงการในพื้นที่อื่นที่จำเป็นเร่งด่วนมากกว่า หรือแม้จะอ้างถึงความจำเป็นต่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ แต่ในสภาพความจริงกลับพบว่า อ่างเก็บน้ำที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ยังมีน้ำใช้เพียงพอ
“ทั้งอ่างเก็บน้ำหัวช้าง และอ่างเก็บน้ำป่าบอน ที่มีความจุ 30 และ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบกับเหมืองตะกั่ว ที่จุเพียง 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าน้อยกว่ามาก และทั้ง 2 อ่างที่มีอยู่ มีน้ำตลอดทั้งปี แม้จะหน้าแล้งน้ำก็ไม่ขาด แต่หากว่าขาดน้ำจริง แล้วบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพ ก็สามารถดึงน้ำจากทั้ง 2 อ่างไปใช้ได้ ด้วยการวางระบบชลประทานไปให้ทั่วถึงในพื้นที่ ซึ่งถือว่าทำง่าย และใช้งบฯ น้อยกว่าการสร้างใหม่แน่นอน จึงอยากให้กรมชลประทานถอนเรื่องนี้ออกไปก่อน”
The Active สอบถามไปยังเครือข่ายรักษ์โตนสะตอ ได้รับการยืนยันว่า จะยังคงปักหลักชุมนุมที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์กันต่อไป จนกว่าจะมีคำสั่งชัดเจนจากรัฐบาลให้ยุติโครงการเขื่อนเหมืองตะกั่ว
เบื้องต้นผลจากการเจรจา 4 ฝ่ายวานนี้ (28 ส.ค.) สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำเป็นข้อสรุปเพื่อเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี ให้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด ประกอบด้วย การตรวจสอบโครงการ ตรวจสอบเรื่องที่ดิน และการจัดการน้ำ ก่อนจะสรุปว่าเขื่อนเหมืองตะกั่ว เหมาะสมและยังจำเป็นสำหรับพื้นที่หรือไม่