“มึนอ” ภรรยา “บิลลี่” ขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด

หลังมีคำสั่งไม่ฟ้องชัยวัฒน์และพวก ร่วมกันฆ่า-กักขังหน่วงเหนี่ยว พร้อมเรียกร้องเร่งรัดออก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน-อุ้มหาย

วันนี้ (27 ส.ค. 2563) พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของ พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก –บางกลอย พร้อมทนายความ และกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ในการพิจารณาสำนวนคดีฆาตกรรมนายบิลลี่ หลังอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กับพวกรวม 4 คน ใน 7 ข้อหา ตามคำสั่งฟ้องของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ โดยเฉพาะข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่กลับสั่งฟ้องเพียงข้อหาเดียว คือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณียึดน้ำผึ้งป่าของบิลลี่ แล้วปล่อยตัวไปโดยไม่นำตัวส่งให้ตำรวจดำเนินคดีในข้อหาลักของป่า

วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า หนังสือร้องขอความเป็นธรรมได้ขอให้ทางอัยการสูงสุด พิจารณาประเด็นที่กลุ่มผู้ต้องหาได้ควบคุมตัวบิลลี่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก่อนหายตัวไป กระทั่งดีเอสไอ พบชิ้นส่วนกะโหลกของบิลลี่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และยืนยันด้วยวิธีไมโทคอนเดรีย ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ พร้อมขอให้สอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นที่ผู้ต้องหามีความพยายามเบี่ยงประเด็น ในหลาย ๆ ครั้ง ที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ

“มีความพยายามให้สัมภาษณ์ เบี่ยงประเด็น ในระหว่างที่คดีอยู่ในชั้นสอบสวนของดีเอสไอ ว่า ไปพบนายบิลลี่ ตามสถานที่ต่าง ๆ และปล่อยข่าวว่ากระดูกที่พบเกิดจากการลอยอังคาร ซึ่งขัดต่อพิธีกรรมของชาวกะเหรี่ยง โดยถือว่าเป็นการแสดงเจตนาไม่บริสุทธิ์ รวมทั้งยังปรากฏการคุกคามพยานกลุ่มชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้ามีหลักฐานชัดเจนจะยื่นขอให้ศาลถอนคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา”

ด้านอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ กล่าวถึงขั้นตอนหลังรับเรื่อง ว่า จะส่งเรื่องให้สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาพยานหลักฐาน ร้องขอให้สอบพยานเพิ่มเติม หากมีพยานหลักฐานใหม่ก็สามารถยกขึ้นพิจารณาได้ เช่นเดียวกันกับกรณีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ที่หยิบยกคดีขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง จากนั้นจะมีการทำความเห็นส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาเป็นขั้นตอนสุดท้าย

ภายหลังยื่นหนังสือ มึนอ กล่าวว่า ยังคงมีความหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมทางคดีจากอัยการสูงสุด เนื่องจากคดีนี้ไม่ใช่แค่ครอบครัวตัวเองเท่านั้น แต่ยังมีความหมายถึงความรู้สึกของพี่น้องชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงทั้งในพื้นที่แก่งกระจานและพื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศไทย ที่ต่างเฝ้ารอผลของคดีนี้ว่ารัฐเห็นคุณค่าของการคืนความเป็นธรรมให้แก่ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และในฐานะครอบครัวเสียหาย ต้องการให้ภาครัฐ เร่งรัดการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อปกป้องผู้ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิที่ทำกิน และเอาผิดต่อเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน