DSI เห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องคดี “บิลลี่”

เสนอความเห็น พร้อมสำนวนสอบสวนคดีฆาตกรรม ‘พอละจี รักจงเจริญ’ แกนนำชุมชนกะเหรี่ยงฯให้อัยการสูงสุด พิจารณาตามกฎหมายอีกครั้ง


กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ส่งความเห็น “ยังมิอาจเห็นพ้องด้วยกับคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ” พร้อมสำนวนการสอบสวนในคดีการฆาตกรรมนายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำชุมชนกะเหรี่ยงฯ ให้อัยการสูงสุดพิจารณาตามกฎหมาย

วันนี้ (11 ส.ค. 2563) เวลา 10.00 น. พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กองบริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ นำสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 13/2562 กรณีการฆาตกรรมนายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำชุมชนกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอยแก่งกระจาน พร้อมความเห็นของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในเรื่องดังกล่าว ส่งอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสืบสวนกรณีการหายตัวไปของนายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำชุมชนกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หายตัวไปภายหลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมในความผิดอาญา กรณีนำน้ำผึ้งซึ่งเป็นของป่าออกจากเขตอุทยานแห่งชาติฯ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ซึ่งทางการสืบสวนมีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าเกิดจากการกระทำผิดอาญา

ต่อมาคณะกรรมการคดีพิเศษ ได้มีมติให้กรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษที่ต้องสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยเป็นคดีพิเศษที่ 13/2562 และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีความเห็นควรฟ้อง (1) นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร (2) นายบุญแทน บุษราคัม (3) นายธนเสฏฐ์ หรือไพฑูรย์ แช่มเทศ และ (4) นายกฤษณพงษ์ จิตต์เทศ เป็นผู้ต้องหาที่ (1) – (4) ตามลำดับ

ในความผิดฐาน ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแก่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้, ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย

ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจ เพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเอง, ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และความผิดฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นดังกล่าวไปยังอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

ต่อมา สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานคดีพิเศษ ได้มีหนังสือลงวันที่ 23 ม.ค. 2563 แจ้งคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดตามข้อกล่าวหา โดยออกคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ (1) – (3) เฉพาะความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

และออกคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ (4) เฉพาะความผิดฐานสนับสนุนตามข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมส่งสำนวนการสอบสวนและความเห็นมายังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 34 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145

ภายหลังที่ได้รับสำนวนการสอบสวนและความเห็นของพนักงานอัยการแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตรวจพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ และโดยเฉพาะพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ประกอบความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน กับความเห็นของพนักงานอัยการที่ประกอบการออกคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว เห็นว่ายังมิอาจเห็นพ้องด้วยกับคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการดังกล่าว อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงให้ส่งความเห็นพร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาตามกฎหมายต่อไป

Author

Alternative Text

The Active

กองบรรณาธิการ The Active