เสียงสะท้อน และ แรงกระเพื่อม กรณี ‘หยก’

ล่าสุด หยก-ธนลภย์  เยาวชนนักเคลื่อนไหว ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “จาก 51 วันของการถูกกักขังอยู่ในคุก มาสู่ 51 วันของการถูกใส่ร้ายป้ายสีด้วยเฟคนิวส์นับถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 เราออกมาอยู่ข้างนอกได้ 51 วันแล้ว”

…51 วันในคุกและนอกคุก คุกบ้านปรานีคือคุกทางร่างกาย ในขณะที่ข้างนอกนั้น สังคมไทยคือคุกที่กักขังความคิด

“ถ้าสิ่งที่ผู้ใหญ่คิดว่าทำมามันถูกและดีแล้ว ประเทศไทยในตอนนี้ก็ต้องดีมาก เราไม่เชื่อและจะสู้ต่อไป แม้ว่าเรื่องนี้จะทำให้สุดท้าย แม้สิทธิในการศึกษา โรงเรียนก็ยึดไปจากเรา”

ทั้งนี้ สถานการณ์ช่วงที่ผ่านมาแม้ทางโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการจะเปิดให้ หยก แต่งชุดไปรเวทเข้าไปเรียนได้ แต่ก็ยังไม่มีชื่อในทะเบียนนักเรียนทำให้ไม่มีสิทธิสอบ และไม่มีสิทธิรับวุฒิการศึกษา

ขณะที่ จินตนา ศรีสารคาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ตัวแทนคณะกรรมการสถานศึกษา ​ยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ​พื่อขอความคุ้มครองนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ   ​

พร้อมระบุว่า ‘หยก’ สามารถสมัครเข้าเรียนในปีการศึกษาหน้าได้ แต่ต้องผ่านการสอบเข้าใหม่อีกครั้ง เพราะขณะนี้ไม่มีสถานภาพนักเรียนในตอนนี้แล้ว และไม่มีสิทธิสอบในปีการศึกษานี้อีก 

“เราไม่สามารถปฏิเสธกฎระเบียบได้ ทุกคนอยู่ใต้กฎระเบียบเดียวกัน นักเรียนไม่ได้มาแค่เรียนหนังสือ แต่ต้องเรียนรู้ถึงวิธีการอยู่ในสังคม แต่โรงเรียนไม่ปฏิเสธที่จะรับ หยก เข้าเรียน แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ผู้ปกครองจึงสำคัญ ที่จะต้องเข้ามารับรู้และพัฒนาเด็กไปพร้อมกัน” 

ทั้งนี้ จะเห็นว่าช่วงเวลาที่ผ่านมากรณีของ ‘หยก’ ได้จุดประเด็นนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคมในหลายมิติ ซึ่งหาก​พิจารณาอย่างรอบด้านจะเห็นว่า​ หลายเรื่องเป็นปัญหาที่ค้างคา รอการแก้ไขมาอย่างยาวนาน ดังนั้นการเปิดพื้นที่ให้สังคมหันมาพูดคุยกันในแต่ละหัวข้ออย่างจริงจังอาจนำไปสู่แรงกระเพื่อมที่พัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นไม่มากก็น้อย

จากการสำรวจเสียงสะท้อนในโลกออนไลน์ ผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-3 ก.ค. 66 พบว่ามีข้อความที่พูดถึงกรณี ‘หยก’ จำนวน 74,789 ข้อความ 11,704,839 Engages จาก14,939 บัญชี ผ่านทางช่องทาง โดยช่องทางที่เรียงตามจำนวนข้อความ Facebook 66.25% YouTube 16.08% Twitter 14.24% Forum (พันทิป) 1.19% Instagram 1.17% News (สื่อ) 0.89% TikTok 0.19%

ทั้งนี้ จะพบว่าช่วงที่มีการพูดถึงกรณี ‘หยก’ มากที่สุดแบ่งเป็นสองช่วงคือ

ช่วงแรกเดือนพฤษภาคม ซึ่งในวันที่ 18 พ.ค. 66 ซึ่งเป็นวันที่ ‘หยก’ ในฐานะผู้ตกเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่อายุน้อยที่สุดถูกปล่อยตัว จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จ.นครปฐม โดยคีย์เวิร์ด ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ ‘ม.112’ และ ‘ล้มเจ้า

หากพิจารณาในรายละเอียดช่วงวันที่ 1-31 พ.ค. 66 มีการพูดถึงหยกในออนไลน์ 5,950 ข้อความ 3,047,890 Engagements 1,980 บัญชี โดยคีย์เวิร์ดที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ

  1. ม.112 : 830 ข้อความ
  2. ผู้ปกครอง : 317 ข้อความ
  3. มอบตัว : 117 ข้อความ
  4. ล้มเจ้า : 101 ข้อความ
  5. ชุดนักเรียน : 48 ข้อความ
  6. ล้างสมอง : 38 ข้อความ
  7. ทรงผม : 34 ข้อความ
  8. โรงเรียน : 35 ข้อความ
  9. สีผม : 4 ข้อความ
  10. กาลเทศะ : 3 ข้อความ

ช่วงที่สองเดือนมิถุนายน หลัง ‘หยก’ พยามปีนรั้วเข้าโรงเรียน โดยวันที่ 19 มิ.ย. 66 ซึ่งเป็นวันที่สี่ที่หยกพยายามเข้าโรงเรียน และทางโรงเรียนเปิดให้เข้าไปเรียนได้ มีการพูดถึงหยกมากที่สุด โดย คีย์เวิร์ด สำคัญคือ ‘ผู้ปกครอง’ ‘ชุดนักเรียน’ และ ‘มอบตัว’

จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย. 66 พบข้อความที่ถูกพูดถึงเกี่ยวกับหยกเพิ่มขึ้นกว่าช่วงแรก โดยมี 61,433 ข้อความ 7,784,634 Engagements 11,964 บัญชี คีย์เวิร์ดที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ

  1. ชุดนักเรียน 8,065 ข้อความ
  2. ผู้ปกครอง 7,865 ข้อความ
  3. มอบตัว 3,149 ข้อความ
  4. สีผม 3,121 ข้อความ
  5. ไปรเวท 2,956 ข้อความ
  6. ทรงผม 2,477 ข้อความ
  7. ม.112 : 1,284 ข้อความ
  8. ล้างสมอง 1,162 ข้อความ
  9. เครื่องแบบนักเรียน 693 ข้อความ
  10. ยูนิฟอร์ม 475 ข้อความ

โดย 10 อันดับ hashtags ที่สูงที่สุดในเดือนมิถุนายน คือ

  1. #น้องหยก 24.64%
  2. #Saveหยก 24.26
  3. #หยก 18.33
  4. #Saveเตรียมพัฒน์ 10.41%
  5. #พิธา 5.18% (กรณีเกี่ยวข้องกับหยก)
  6. #ก้าวไกล 4.46% (กรณีเกี่ยวข้องกับหยก)
  7. #ชุดนักเรียน 3.66%

จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า กรณีของ ‘หยก’ ได้นำไปสู่การถกเถียงในหลายประเด็น ทั้งเครื่องแบบ ทรงผม กิจกรรมหน้าเสาธง Homeroom ไปจนถึงเรื่องหลักสูตร และระเบียบการมอบตัวของโรงเรียน ที่มีหลายมุมมอง และข้อเสนอแนะ

หนึ่งในประเด็นที่คนในสังคมให้ความสนใจเข้ามาพูดคุยกันคือเรื่องเครื่องแบบนักเรียน และ ทรงผม ที่มีทั้งฝั่งที่อยากให้ยังคมกำหนดให้ใส่ชุดนักเรียนต่อไป ในขณะที่เสียงของคนรุ่นใหม่อยากให้เป็นไปตามความสมัครใจไม่บังคับ ควบคู่ไปกับประเด็นรื่องกาลเทศะ

ดังจะเห็นจากกระแสของคนในสังคมที่ออกมาร่วมสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว อย่าง สภานิสิต-นักศึกษา กว่า 50 องค์กร ออกเเถลงการณ์เรียกร้องให้สถานศึกษาเปิดกว้าง “ใส่ชุดไปรเวทเข้าเรียนได้” และเเก้ไขกฎระเบียบให้ปราศจากการบังคับ 

จังหวะเวลาใกล้เคียงกัน กรุงเทพมหานคร ปลดล็อก เครื่องแบบ-ทรงผม เรื่อง “แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร” และ “แนวทางการแต่งกายของนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร”

ให้นักเรียนสามารถแต่งกายด้วยชุดใดก็ได้ที่ไม่เป็นการบังคับ อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ โดยให้นักเรียนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนด แต่ห้ามไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งให้คำนึงถึงอัตลักษณ์ ความหลากหลาย ความเชื่อทางศาสนา และเพศวิถีของนักเรียน

ช่วงเวลานี้จึงอาจโอกาสอันดี หากจะชวนสังคมขยับไปพูดถึงประเด็นอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทครู ผู้ปกครอง ระเบียบการมอบตัว ที่ดึงเด็กไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา ไปจนถึงเรื่องการเปิดพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน หรือการร่วมกันคิดออกแบบหลักสูตรที่ยืดหยุ่น ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าแค่มาโหนกระแสระบายอารมณ์ ผลักไส ตีตราฝั่งที่เห็นต่างออกไป แต่เหลือทิ้งไว้ซึ่งปัญหาที่ยังค้างคาไม่ได้รับการแก้ไข

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active