เริ่มแล้วโรงเรียนกทม. ให้นักเรียนไว้ผมอิสระ ใส่ชุดใดก็ได้สัปดาห์ละ 1 วัน

เครือข่ายเยาวชน ชี้ แม้ไม่เสรี 100% แต่เป็นความก้าวหน้าของสังคมที่เริ่มมองเห็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของนักเรียนมากขึ้น

วานนี้ (27 มิ.ย.66) ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงเอกสารเรื่องแนวทางปฏิบัติในการแต่งกายของนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงนามโดย วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม. รักษาการแทนปลัด กทม. โดยระบุว่า กทม.ออกแนวปฏิบัติให้โรงเรียนจัดให้มีวันเลือกแต่งกายชุดใดก็ได้ไม่เป็นการบังคับ อย่างน้อย 1 วัน/สัปดาห์ โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนด ซึ่งในเวลาต่อมา ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. ก็ได้โพสต์ข้อความแสดงความยินดีกับประกาศข้างต้นบนโซเชียลมีเดียส่วนตัวเช่นกัน ระบุว่า “Basic Human right in BMA School”

เอกสารบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ถูกส่งให้กับผู้อำนวยการเขต เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้าใจและจัดทำข้อกำหนด เรื่อง “แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร” และ “แนวทางการแต่งกายของนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร” เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน ใจความโดยสรุป คือ

นักเรียนสามารถแต่งกายด้วยชุดใดก็ได้ที่ไม่เป็นการบังคับ อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ โดยให้นักเรียนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนด แต่ห้ามไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งให้คำนึงถึงอัตลักษณ์ ความหลากหลาย ความเชื่อทางศาสนา และเพศวิถีของนักเรียน

นักเรียนสามารถไว้ทรงผมอิสระบนพื้นฐานสุขอนามัยที่ดี สะอาด กรณีนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ ให้โรงเรียนรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน ผู้ปกรอง แต่ห้ามตัดผม ทำให้อับอาย หรือการดำเนินการใด ๆ ที่กระทบต่อสิทธิ-เสรีภาพทางร่างกายและจิตใจของนักเรียน

ด้านกลุ่ม “นักเรียนเลว” ที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพในรั้วโรงเรียน แสดงความเห็นว่า “แม้ว่าจะยังไม่ใช่เสรีทรงผมและเสรีแต่งกายเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ และบังคับใช้แค่กับโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่นับเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งของสังคมที่เริ่มมองเห็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของนักเรียนมากขึ้น และเรายังคงหวังว่า สักวันหนึ่ง นักเรียนไทยจะได้มีสิทธิเสรีภาพในเนื้อร่างกายอย่างสมบูรณ์ตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างที่ควรจะเป็น”

สำหรับโรงเรียนสังกัด กทม. ตามรายงานสถิติการศึกษาของกรุงเทพฯ ปี 2564 ระบุว่า มีทั้งสิ้น 437 แห่ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active