หากประโยคนี้ ไม่ใช่คำตอบของ ‘ผู้จัดการระบบ TCAS’ เกี่ยวกับค่าสมัครเลือกอันดับสอบเข้ามหาวิทยาลัยยุคโควิด-19 สังคมอาจละความสนใจ แต่เพราะเป็นเสียงจากคนทำงานในภาคการศึกษา จึงเกิดคำถามต่อมาว่า หากใบเบิกทางการเรียนต่อมีมูลค่า แล้ว “ใบปริญญา” จะเป็นของใครได้บ้าง?
The Active พบว่า โอกาสทางการศึกษาที่เหลื่อมล้ำ ส่งผลให้คนเริ่มต้นชีวิตไม่เท่ากัน เมื่อระบบไม่ได้บังคับให้เข้าเรียนอุดมศึกษา คนมีศักยภาพ แต่ขาดทุนทรัพย์ในกระเป๋า ก็อาจไม่ได้เข้าไปอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย
[1.] โอกาสทางการศึกษากับราคาที่ต้องจ่าย
เฉพาะต้นทุนขั้นต่ำเพื่อก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัยขั้นแรกในระบบคัดเลือกกลาง TCAS ปีการศึกษา 2565 ต้องมีค่าสมัครสอบประมาณ 1,300 – 1,500 บาทเป็นอย่างน้อย เพราะแต่ละคณะใช้เกณฑ์คัดเลือกไม่เหมือนกัน ราคาที่ต้องจ่ายจึงต่างกันตามรายวิชาที่ต้องสอบ
GAT-PAT วิชาละ 140 บาท
GAT ความถนัดทั่วไป
PAT 1 คณิตศาสตร์
PAT 2 วิทยาศาสตร์
PAT 3 วิศวกรรมศาสตร์
PAT4 สถาปัตยกรรมศาสตร์
PAT 5 วิชาชีพครู
PAT 6 ศิลปกรรมศาสตร์
PAT 7.1 – 7.7 ภาษาต่างประเทศ
(เลือกสมัครได้สูงสุด 15 วิชา จาก 23 วิชา)
9 วิชาสามัญ วิชาละ 100 บาท
ชีววิทยา ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ทั่วไป ภาษาไทย สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ 1 (พื้นฐาน+เพิ่มเติม) คณิตศาสตร์ 2 (พื้นฐาน) ภาษาอังกฤษ เคมี
เลือกสมัครอันดับรอบแอดมิชชันได้สูงสุด 10 อันดับ
อันดับ 1 ค่าสมัคร 150 บาท
อันดับ 2 ค่าสมัคร 200 บาท
อันดับ 3 ค่าสมัคร 250 บาท
อันดับ 4 ค่าสมัคร 300 บาท
อันดับ 5 ค่าสมัคร 400 บาท
อันดับ 6 ค่าสมัคร 500 บาท
อันดับ 7 ค่าสมัคร 600 บาท
อันดับ 8 ค่าสมัคร 700 บาท
อันดับ 9 ค่าสมัคร 800 บาท
อันดับ 10 ค่าสมัคร 900 บาท
[2.] คนรวยมีโอกาสเรียนต่อมากกว่าคนจน
ปัจจุบัน ไทยมีเด็กและเยาวชนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานประมาณ 13 ล้านคน กว่า 1.17 ล้านคน มีฐานะยากจนโดยมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนเดือนละ 1,021 บาท และมากกว่า 730,000 คน มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนเดือนละ 1,358-2,700 บาท
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยสถิติอัตราการเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรี และ ปวส. ของนักเรียนหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ระหว่างปี 2552-2562 พบว่า นักเรียนกลุ่ม “ฐานะดี” 10% แรก มีโอกาสเรียนต่อมากกว่านักเรียนกลุ่ม “ยากจน” 10% รั้งท้าย มากกว่า 10 เท่า ยกตัวอย่างปี 2562 นักเรียน 10% ที่ “ฐานะดี” เข้าเรียนปริญญาตรี และ ปวส. 65 คน จาก 100 คน ขณะที่นักเรียน 10% ที่ “ยากจน” ได้เข้าเรียนปริญญาตรี และ ปวส. เพียง 5 คน จาก 100 คน
[3.] โอกาสเรียนต่อมากกว่า รายได้จึงต่างกัน
จริงอยู่ที่การประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ได้วัดคุณค่าด้วยวุฒิการศึกษา แต่หากคุณเกิดมามีโอกาสน้อยกว่าเพื่อน ๆ หนทางในการเริ่มต้นสร้างมูลค่าในชีวิตคือ “การเรียน” ให้มีวุฒิการศึกษาสูงที่สุด เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงรายได้ในระบบมากที่สุด
ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดข้อมูลปี 2544-2563 พบว่า ค่าจ้างแรงงานไทยตามวุฒิการศึกษา โดยเฉลี่ยหากสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษา จะได้ค่าแรงอยู่ที่เดือนละ 7,712.03 บาท แต่ถ้ามีวุฒิปริญญาตรี จะอยู่ที่ 23,832.95 บาท และปริญญาเอก 55,102.03 บาท นั่นหมายความว่า การศึกษาที่ต่างกัน ทำให้คนมีรายได้ไม่เท่ากัน
[4.] รายได้ต่างกัน โอกาสขยับฐานะจึงต่างกัน
“การศึกษา” คือประตูแห่งโอกาสในการขยับฐานะทางสังคมของคนต่างรุ่น ธนาคารโลกพบว่า เด็กไทยที่เกิดในครอบครัวมีฐานะอยู่ “ครึ่งล่าง” ของสังคมไทย มีโอกาสขยับฐานะมาอยู่ “ครึ่งบน” ได้เพียง 35% ขณะที่เด็กไทยที่เกิดในครอบครัว “รวยที่สุด 25% บน” มีโอกาสจะขยับฐานะลงไปอยู่ใน “ครึ่งล่าง” ของสังคมเพียงแค่ 20% หากคนวัยเรียน ไม่มีโอกาสเรียน ก็ยากจะหนีพ้นวงจรความยากจน ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า
เมื่อการศึกษาราคาไม่ถูก ขณะที่ต้นทุนของแต่ละคนไม่เท่ากัน แล้วอะไรคือทางเลือกสู่การสร้างคนให้เท่ากันในสังคม? The Active พบว่า คำตอบคือ “การศึกษา” ที่ควรเป็นพื้นฐานแห่ง “รัฐสวัสดิการ” ให้โอกาสทุกคนเริ่มต้นชีวิตได้อย่างเท่าเทียม แต่เป็นเพราะที่ผ่านมาเด็กไทยไร้ศักยภาพ หรือระบบคัดพวกเขาออกจากโอกาสกันแน่ คำตอบอยู่ที่ทุกคน