จัดการน้ำ รับมือโลกผันผวน ต่อยอดนวัตกรรม คลี่คลายวิกฤตน้ำท่วม-น้ำแล้ง

ตอนนี้น้ำกำลังท่วม แล้วทำไมต้องเตรียมตัววางแผนรับมือน้ำแล้ง ?  

ข้อมูลตัวเลขจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่าช่วงวันที่ 26 กันยายน – 23 ตุลาคม 2566  มีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 38 จังหวัด 159 อำเภอ และยังมีอีกหลายจังหวัดที่ยังเสี่ยงกับการเกิดน้ำท่วมเฉียบพลันและน้ำป่าไหลหลาก  ซึ่งอาจดูสวนทางกับการรายงานเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ที่ว่า ประเทศไทยเดินเข้าสู่ “ภาวะร้อน แล้ง” หรือปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ตั้งแต่ช่วงกลางปี และจะคงอยู่ต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า

“ภาวะผันผวน” ที่กำลังเกิดขึ้น สอดรับกับที่ก่อนหน้านี้องค์การสหประชาชาติออกมาเปิดเผยว่า ยุค “โลกร้อน” ได้สิ้นสุดลง และเข้าสู่ยุค “โลกเดือด” แล้ว  เป็นการส่งสัญญาณเตือนทั้งโลก ว่าภัยพิบัติ ไม่ว่า น้ำท่วม หรือ ภัยแล้ง มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง  

เรื่องนี้สอดคล้องกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ที่อธิบายถึงความรุนแรงของการเกิดภัยในระยะหลัง ที่เกิดบ่อย ถี่ และทวีความรุนแรงขึ้น เป็นลักษณะ สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว (Extreme  Weather Event ) อันเป็นผลพวงจากอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น   เช่น ฝนตกครั้งเดียว ก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วมหนักได้มากกว่าในอดีต หรือปรากฏการณ์สภาพอากาศร้อนแล้ง ก็อาจทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น และรุนแรงมากขึ้น 

ประเทศไทย อยู่ในวังวน ท่วม – แล้ง ซ้ำซาก

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับวังวนปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซากที่เกิดจากความแปรปรวนสภาพอากาศ ซึ่งหลายเหตุการณ์ทั้ง อุทกภัยใหญ่ และภัยแล้งหนักที่เกิดขึ้น กลายเป็น “ภาพจำ” ของภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี

ปี 2547-2548  “เขื่อนน้ำน้อยเป็นประวัติการณ์”   

ปรากฏกการณ์คลื่นความร้อน เอลนีโญ ที่ผ่านเข้าแถบเอเชียตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 ทำให้ไทยเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และแล้งต่อเนื่อง  ภัยแล้งที่ต่อเนื่องไปถึงกลางปี 2548 ยิ่งทำให้ภาคเกษตรขาดแคลนน้ำมาก โดยปริมาณน้ำในเขื่อนภาคอีสาน และภาคกลาง อย่างอ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ ลำตะคลอง ทับเสลา  และ กระเสียว ลดน้อยลงเป็นประวัติการณ์ ถึงขั้นวิกฤต

ขณะที่พื้นที่ภาคตะวันออก อ่างเก็บน้ำหลายแห่งต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 14-29  อย่างเช่น อ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และคลองสียัด หลายพื้นที่ในจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี และตราด เกิดภาวะขาดแคลนน้ำ ทั้งในภาคการอุปโภค บริโภค ภาคเกษตร และอุตสาหกรรม  

ปี 2554  “มหาอุทกภัย”

อิทธิพลโดยตรงและโดยอ้อมจากพายุที่เคลื่อนตัวจากทะเลจีนใต้ถึง 5 ลูก ตั้งแต่ พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก  รวมถึงปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนมีมาก และเมื่อมวลน้ำจากลุ่มน้ำยมไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยามากถึง 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร  ทำให้เกิด “มหาอุทกภัย” น้ำท่วมในทุกภาคของประเทศ  โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ถูกน้ำท่วมหนักและรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี  พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ไม่เว้นแม้แต่สนามบินดอนเมืองต้องจมน้ำ  พื้นที่การเกษตรเสียหายถึง 11.2 ล้านไร่ ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายมากถึง 1.44 ล้านล้านบาท ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดและนำมาสู่การวางแผนรับมือในอุทกภัยในระยะยาวมากขึ้น

ปี 2557-2558  “แล้งหนักทั่วประเทศ”

ผ่านมาอีกไม่ถึง 3 ปี เกิดสถานการณ์ฝนตกน้อยผิดปกติต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดภัยแล้งรุนแรงทั่วประเทศขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะปี 2558 ปริมาณฝนรายปี อยู่ที่ 1,247 มม. ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์  เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนิโญกำลังแรงมาก (Very Strong Elnino/Super Elnino) แม่น้ำสำคัญหลายสาย อย่าง แม่น้ำปิงแห้งจนเดินข้ามได้  ปีนั้นกรมชลประทานประกาศงดปลูกพืชฤดูแล้ง 1.59 ล้านไร่ แต่มีการปลูกจริงถึง 4 ล้านไร่ ซึ่งเกินจากแผนไปมาก จึงมีการห้ามสูบน้ำจากคลองส่งน้ำต่าง ๆ เพื่อจัดสรรให้เพียงพอ ส่งผลให้พื้นที่เกษตรเสียหาย 1.65 ล้านไร่  เกษตรกรประสบภัยกว่า  1.7 แสนคน  หลายพื้นที่เกิดภาพความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำ เช่น ที่คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ชาวนาแย่งน้ำทำนาจนเกิดการกระทบกระทั่งกัน

ปี 2560  “น้ำท่วมอีสานครั้งใหญ่”

แต่หลังจากนั้นอีกเพียงสองปีกลับเกิดสถานการณ์ฝนตกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในปี 2560 และเกิดมหาอุทกภัยใหญ่ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงที่สุดในรอบ 30 ปีที่ จ.สกลนคร จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนตาลัส และเซินกา ปริมาณฝนสะสมในเขต อ.เมืองสกลนครวันที่ 28 กรกฎาคม 2560 สูงถึง 180.3 มิลลิเมตร ในวันนั้น ปริมาณน้ำในลำห้วยทราย ที่รับน้ำจากเทือกเขาภูพานล้นตลิ่ง และมีมวลน้ำขนาดใหญ่จากหลายแห่ง ไหลเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ สนามบินถูกปิด  ขณะเดียวกัน อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นเกิดการชำรุด ทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรเสียหาย

ความแปรปรวน ใน รอบ 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล สถิติข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่าตั้งแต่ปี 2547– 2565 เกิดน้ำท่วม 98 ครั้ง  มีมูลค่าความเสียหาย 76,489 ล้านบาท ส่วนภัยแล้ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 17,190 ล้านบาท

2566 ไทยกำลังเดินเข้าสู่ปรากฏการณ์ ร้อน แล้ง รุนแรงขึ้น   

ปีนี้ไทยเปลี่ยนผ่านจากปรากฏการณ์ลานีญา มาสู่ เอลนีโญ  หรือภาวะร้อน แล้ง น้ำน้อยอีกครั้ง ตั้งแต่ต้นปีฝนก็ยังตกน้อยกว่าค่าปกติ (1 ม.ค.-13 ส.ค 2566) ร้อยละ 19 ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่าปรากฏการณ์เอนโซ ที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญ กำลังอ่อนมีแนวโน้มที่จะแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2566 จากนั้นจะมีกำลังอ่อนลงและจะต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567  ก่อนที่ในปี 2573 ไทยก็จะเสี่ยงเผชิญน้ำท่วมใหญ่คล้ายปี 2554  

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย อาจเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นจากร้อนสุด ๆ สู่ร้อนสุดขีด

“กุมภาพันธ์ 2567  จะเป็นช่วงที่เอลนีโญรุนแรงที่สุดหรือภัยแล้งจะรุนแรง ซึ่งดัชนีจะขึ้นสูงสุดเป็นปีแรก หลังจากนั้นก็ปรับขึ้นอีกครั้งที่สองใน ปี 2568 และ 2569 แล้วจะต่อเนื่องครั้งที่สามในปี 2570 และ 2571 ซึ่งยาวต่อเนื่องเป็นครั้งแรก ถ้าไทยยังบริหารจัดการน้ำแล้งแค่ช่วงเดียวไม่มองอนาคต ช่วงระลอกที่สองและสาม อาจทำให้การใช้น้ำทั้ง ประชาชน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำและการใช้น้ำ รวมถึงเกษตรกรกระทบหนัก”

ด้าน ผศ.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มในอีก 5 ปีข้างหน้า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเผชิญกับความผันผวนของปริมาณน้ำ ที่มีโอกาสจะแล้งต่อเนื่องและเกิดภัยแล้งหนักในปี 2568 

“แนวโน้มสถานการณ์ฝนของปี 2568 จะเป็นปีที่แล้งที่สุดในรอบ 20 ปี โดยคาดการณ์ว่าจะมีฝนตก 833 มม. และมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ เพียง 7,038 ล้าน ลบ.ม. (ใกล้เคียงกับ 2558) ดังนั้นต้องวางแผนการใช้น้ำทุกภาคส่วน”

ขณะที่ รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์  ประธานแผนงานวิจัยยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อทุกประเทศเติบโต แนวโน้มความต้องการใช้น้ำก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ในมุมของการจัดหาน้ำมีข้อจำกัด โอกาสที่จะสร้างเขื่อนใหม่ก็ยากขึ้น ขณะที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งทำให้การจัดการยากขึ้น โดยแนวโน้มการขาดแคลนน้ำในอนาคตก็จะเพิ่มขึ้นสูงขึ้นกว่าในอดีต  ขณะที่อีก 2-3 ปีนี้ไทยกำลังจะเจอเอลนีโญอาจต้องเตรียมพร้อม

น้ำในประเทศไทยมีเพียงพอกับความต้องการหรือไม่

ตามข้อมูลจากรายงาน 22 ลุ่มน้ำในประเทศไทยและพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ. 2564 ที่จัดทำโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งประเทศ อยู่ที่ 211,747 ล้าน ลบ.ม.  มากกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำรวมทุกลุ่มน้ำ อยู่ที่ 114,044 ล้าน ลบ.ม.  แต่เมื่อแยกลงไปเป็น 22 พื้นที่ลุ่มน้ำ ก็จะเห็นว่า หลายพื้นที่ลุ่มน้ำมีน้ำ “เหลือ” แต่บางพื้นที่ “น้ำไม่พอ” 

หากดูส่วนต่างจากปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยและปริมาณความต้องการใช้น้ำในแต่ละลุ่มน้ำ จะพบว่า มี 5 ลุ่มน้ำ ที่มีปริมาณน้ำที่เหลือเฉลี่ยรายปีติดลบ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำ มีมากกว่าปริมาณน้ำที่มี  ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา – 6,149 ล้าน ลบ.ม. รองลงมา ลุ่มน้ำท่าจีน – 4,180 ล้าน ลบ.ม. ลุ่มน้ำชี -3,335 ล้าน ลบ.ม. ลุ่มน้ำป่าสัก -1,261 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำยม -447 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ

สำหรับพื้นที่ที่น้ำไม่พอ อาจมีคำถามตามมาว่า แล้วทำไมเราไม่สร้างเขื่อนเก็บน้ำเพิ่ม ? เพื่อให้มีมีปริมาณน้ำมากขึ้น คำตอบคือ นอกจากเหตุผลทางด้านสภาพภูมิประเทศของบางลุ่มน้ำ ที่ไม่เอื้อกับการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำได้แล้ว  อีกเหตุผลที่การสร้างเขื่อน ไม่ใช่คำตอบที่ดี เพราะทำแล้วอาจไม่คุ้ม หรือ “ยิ่งทำ น้ำยิ่งแพง”

เนื่องจากการสร้างเขื่อน ต้องทำเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้งบประมาณการก่อสร้างและมีค่าบริหารการจัดการที่ตามมามหาศาล  หากเราสร้างเขื่อน กักเก็บได้น้ำมากขึ้น แต่ก็จะส่งผลให้น้ำมีต้นทุนสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันหากน้ำที่ได้มา ถูกใช้ไปกับการทำกิจกรรมที่ไม่เกิดมูลค่า ก็จะกลายเป็นการใช้น้ำที่ต้นทุนแพงขึ้นแต่ยิ่งขาดทุน  จึงไม่ใช่คำตอบที่ดี เท่ากับการไป “จัดการ”  ให้น้ำที่มีอยู่ ถูกใช้ให้เกิด “มูลค่า” และ “คุ้มค่า” มากที่สุด รวมถึงจะช่วยกันลดการลดการใช้น้ำในทุกภาคส่วนได้อย่างไร

น้ำต้นทุน กับ “มูลค่าน้ำ”  และผลกระทบต่อมูลค่าเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

น้ำต้นทุนที่มีอยู่ใน 22 ลุ่มน้ำของประเทศไทย  ถูกใช้ไปกับกิจกรรมการใช้น้ำที่แตกต่างกัน ทั้งในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และอุปโภค บริโภค ขณะเดียวกัน ก็ยังมีปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวเนื่องกับการใช้น้ำ อย่างเช่น ความตึงเครียดด้านน้ำ และ ผลกระทบของน้ำที่มีต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

ข้อมูล 5 อันดับ ของลุ่มน้ำที่มีความต้องการใช้น้ำสูงสุดในแต่ละด้าน ทั้งการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และ ภาคการอุปโภค บริโภค จากโครงการศึกษาและจัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัดประสิทธิภาพการใช้น้ำและความขาดแคลนน้ำ ปี 2562 พบว่า

5 ลุ่มน้ำ ที่ใช้น้ำสูงสุดในด้านเกษตรกรรม อันดับแรก คือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 7,556.74 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากเป็นหนึ่งในลุ่มน้ำที่รองรับพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางซึ่งมีความต้องการใช้น้ำด้านการเกษตรปริมาณมาก ถัดมาเป็นลุ่มน้ำปิง 3,311.68 ล้าน ลบ.ม. ตามมาด้วยลุ่มน้ำชี 3,245.09 ล้าน ลบ.ม. ถัดมาเป็นลุ่มน้ำแม่กลอง 3,110.60 ล้าน ลบ.ม. และ ลุ่มน้ำน่าน 2,806.74 ล้าน ลบ.ม.

5 ลุ่มน้ำ ที่ใช้น้ำสูงสุดในด้านอุตสาหกรรม อันดับหนึ่งคือลุ่มน้ำเจ้าพระยา 1,246.57 ล้าน ลบ.ม. ตามมาด้วยลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก 657.23 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำ บางปะกง 570.79 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นสองลุ่มน้ำที่รองรับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ถัดมาคือ ลุ่มน้ำท่าจีน 534.19 ล้าน ลบ.ม. และอันดับที่ 5 คือ ลุ่มน้ำป่าสัก 177.42 ล้าน ลบ.ม.

5 ลุ่มน้ำ ที่ใช้น้ำสูงสุดในด้านด้านอุปโภค บริโภค สูงที่สุดคือลุ่มน้ำจ้าพระยา 2,108.13 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ตามมาด้วยลุ่มน้ำมูล 737.55 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำบางปะกง 545.30 ล้าน ลบ.ม. ถัดมาคือ ลุ่มน้ำชี 504.13 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก 398.32 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นพื้นที่ภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการ

จากการเปรียบเทียบการใช้น้ำ จะเห็นว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ติดอันดับการใช้น้ำสูงสุด ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และอุปโภค บริโภค ขณะที่ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ก็มีการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม และการอุปโภค บริโภค สูงเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากลุ่มน้ำเหล่านี้ เป็นแหล่งอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่า น้ำมีมูลค่า และความสำคัญต่อการขับเคลื่อนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการจ้างงานในพื้นที่ลุ่มน้ำเหล่านี้

สอดคล้องกับข้อมูลตัวเลขเปรียบเทียบ 5 อันดับมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระดับลุ่มน้ำ ในปี 2562 ที่พบว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 ที่ 163,958.41 ล้านบาท ตามมาด้วยลุ่มน้ำบางปะกง 43,170.39 ล้านบาท ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก 34,382.62 ล้านบาท ลุ่มน้ำท่าจีน 17,806.32 ล้านบาท และลุ่มน้ำมูล 14,562.62 ล้านบาท

สอดคล้องกับข้อมูลตัวเลขเปรียบเทียบ 5 อันดับมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระดับลุ่มน้ำ ในปี 2562 ที่พบว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 ที่ 5,892,665 ล้านบาท ตามมาด้วยลุ่มน้ำบางปะกง 1,551,543 ล้านบาท ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก 1,235,711 ล้านบาท ลุ่มน้ำท่าจีน 639,959 ล้านบาท และลุ่มน้ำมูล 523,380 ล้านบาท (คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 35.94 บาท)

ซึ่ง ทั้งลุ่มน้ำพระยา บางปะกง ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก รวมถึงท่าจีน นับว่าเป็น 4 ลุ่มน้ำมีความสำคัญต่อพื้นที่เศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อ GDP ส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นแหล่งอุตสาหกรรม ทั้งระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และ พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ อย่างระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางและตะวันตก หรือ CWEC สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด หรือ GPP per capita ปี พ.ศ. 2564 จังหวัดระยอง ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของประเทศ อยู่ที่ 904,857 บาท/ปี ส่วนจังหวัดชลบุรี ตามมาเป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 524,002 บาท/ปี และจังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ที่ 457,736 บาท/ปี ติดอันดับที่ 6

ส่วน 5 อันดับลุ่มน้ำ ที่มี ‘ความตึงเครียดน้ำ’ หรือ ‘water stress’ ซึ่งหมายถึง หรือสัดส่วนเปรียบเทียบความต้องการใช้น้ำกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ ซึ่งมีการกำหนดค่าสากลขององค์การสหประชาชาติ โดยพบว่าพื้นที่ที่มีความตึงเครียดน้ำ สูงที่สุด คือ ลุ่มน้ำท่าจีน 99.60 % อยู่ในระดับสูงมาก เพราะ มีการใช้น้ำในพื้นที่ชลประทานมาก รวมถึงการขยายตัวของชุมชน อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวต่อเนื่อง ถัดมาคือลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ มีความตึงเครียดด้านน้ำ 34.48 % ลุ่มน้ำปิง 29.93 % และลุ่มน้ำเจ้าพระยา 27.77 % ซึ่งอยู่ในระดับสูง เพราะมีทั้งพื้นที่เกษตร อุตสาหกรรม ภาคท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงอุปโภค บริโภค และลุ่มน้ำยม มีความตึงเครียดระดับปานกลาง อยู่ที่ 24.99 %

ความเปราะบาง ของพื้นที่ EEC ที่ไม่ควรขาดน้ำ  

เมื่อพิจารณาปริมาณความต้องการน้ำทุกภาคส่วนของพื้นที่ EEC ประกอบด้วย การอุปโภค บริโภค ท่องเที่ยว และบริการ อุตสาหกรรม และ เกษตรกรรม (เฉพาะในเขตชลประทาน) พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัจจุบัน 2,700 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นเป็น 3,300 ล้าน ลบ.ม. ในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2580) ซึ่งผลการวิเคราะห์ของงานวิจัยเข็มมุ่งด้านน้ำ พื้นที่ EEC พบว่า การเพิ่มขึ้นของความต้องการน้ำเฉพาะส่วนภาคอุตสาหกรรม และ การอุปโภค บริโภค จะมีค่าประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. แต่ขีดความสามารถในการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนพัฒนาที่มีศักยภาพของ สทนช. จะสามารถเพิ่มได้ประมาณ 200 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น การใช้น้ำจากแหล่งน้ำทางเลือกอื่น ๆ การลดการใช้น้ำ หรือการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของแหล่งน้ำเดิมจะเป็นประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในเขต EEC เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำ และลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำแม้ในปีที่เกิดภาวะแห้งแล้ง

รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์  ประธานแผนงานวิจัยยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ ชี้ให้เห็นถึงหลักคิดในการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าของน้ำ และเกิดประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้ใช้น้ำทั้งในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการอุปโภค บริโภค

“การจัดน้ำแต่ละภาคส่วนในแง่ความเสี่ยงเราต้องมองพื้นที่ไหนมีพื้นที่มากที่จะได้รับความเสี่ยง โดยสำหรับประเทศไทย ภาคกลาง และ พื้นที่ Eastern Economic Corridor (EEC) หรือ เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก ที่รวมกันแล้ว ก็มี GDP รวมกันกว่า ร้อยละ 60-70  ถ้าจุดนี้มีปัญหาเศรษฐกิจของประเทศก็จะหยุดเลย ในแง่การโฟกัสต้องมองด้านนี้ ซึ่งหากมองแล้วก็มาแยกว่าภาคเกษตรคืออะไร ภาคอุตสาหกรรมคืออะไร ภาคบริการคืออะไร บ้านเรือนคืออะไร แต่ในตรงนี้เราก็มาแยกแยะอีกว่า ภาคเกษตรเองมีการใช้น้ำมากที่สุดเกือบร้อยละ 70  ถ้าเราลดภาคเกษตรร้อยละ 10-15 ได้มันก็จะมาใช้ในส่วนภาคอื่นได้ดียิ่งขึ้น หากทุกภาคส่วนยิ่งรวมกันทำก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่าได้ดีมาก”

เมื่อเห็นปัญหา และเห็นหนทางในการจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า เพื่อรับมืออนาคตแล้ว ลองหันกลับมาดูโครงสร้าง และนโยบายบริหารจัดการน้ำรับมือความผันผวนในวันนี้ เราทำได้ดีแค่ไหน

ประเทศไทย จัดการน้ำอย่างไรภายใต้นโยบายของรัฐ

ที่ผ่านมาแม้หลายรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาเรื่องน้ำ  แต่บทบาท หน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านน้ำ ที่กระจัดกระจายมากถึง 48 หน่วยงาน ก่อให้เกิดความทับซ้อนทั้งในเชิงโครงสร้างบริหารจัดการ การใช้งบประมาณ และ “ต่างคนต่างทำ” ขาดความเป็นเอกภาพเพราะไม่มีหน่วยงานหลักเข้ามาดูแลบริหารจัดการภาพรวม

จนกระทั่งรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายในการปฏิรูปการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ โดยออกแบบ  “4 เสาหลัก” ซึ่งเป็นโครงสร้างและทิศทางบริหารจัดการน้ำ

1. แผนแม่บท 20 ปี หรือ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่ช่วยกำหนดกรอบการทำงาน ขอบเขตและแนวทาง ในการขับเคลื่อนบริหารจัดการน้ำให้เดินหน้าอย่างมีแบบแผน

2.องค์กรกลาง ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยปฏิรูปกระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศ  โดยมีการตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการบริหารจัดการน้ำของทั้งประเทศ มีหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เพื่อเสนอแนะไปสู่การจัดทำนโยบาย ข้อเสนอ และกรอบงบประมาณของประเทศแบบบูรณาการ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. เห็นชอบ

ซึ่งจะเห็นว่าในโครงสร้างขององค์กรกลาง จะมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อบริหารจัดการ บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานด้านน้ำกว่า 48 หน่วยงานใน 7 กระทรวง กำหนดนโยบาย แผนปฏิบัติงานงบประมาณ โครงการต่าง ๆ

สำหรับโครงสร้าง คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ตาม มาตรา 9 ของพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ประกอบด้วย  นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 

นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ จำนวน 6 คน  มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน  มีกรรมการและเลขาธิการ สทนช. และ กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการ  ทำงานร่วมกับฝ่ายปฏิบัติการ 7 กระทรวง 48 หน่วยงาน เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา  กรมชลประทาน  กรมทรัพยากรธรณี  กรมทรัพยากรน้ำ    ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

3.กฎหมายน้ำ หรือ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 เป็นกฎหมายหลักที่เป็นศูนย์กลางของการกำหนดหน้าที่และอำนาจขอบเขตในการบริหารจัดการน้ำ โดยถือเป็นกฎหมายน้ำที่ตราขึ้นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทย

4.นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำ  ที่มีทั้ง คลังข้อมูลน้ำ Application งานวิจัย  นวัตกรรมส่งเสริมพัฒนาองค์ความรู้  นวัตกรรม เทคโนโลยี รวมถึงผลงานวิชาการ มาใช้ขับเคลื่อนแผนแม่บททรัพยากรน้ำ

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งกลไกเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ เมื่อเกิดภาวะวิกฤตน้ำท่วม น้ำแล้ง  โดยมี “ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ตาม พ.ร.บ.น้ำ” ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ทำหน้าที่บริหารจัดการสถานการณ์ ตามระดับ ตั้งแต่การติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์  ยกระดับขึ้นตามความรุนแรงและผลกระทบของสถานการณ์ ไปจนถึงระดับวิกฤต ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ

ขณะเดียวกันก็มีโครงสร้างการบริหารจัดการสาธารณภัย  ดำเนินการด้านการช่วยเหลือ เยียวยาผู้ประสบภัย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  ที่มีตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด  ไปจนถึงระดับจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ โดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และระดับร้ายแรงอย่างยิ่งที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ

ช่องว่างการบริหารจัดการน้ำประเทศไทย

แม้ในโครงสร้างปัจจุบันจะมีการบูรณาการข้อมูล งบประมาณ และการบริหารจัดการ เข้าด้วยกันและมี สทนช. เป็นเหมือนเสนาธิการด้านน้ำ แต่ยังมีการแบ่งแยกการจัดการทรัพยากรน้ำตามแหล่งน้ำ (น้ำฝน น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน) ซึ่งขัดกับหลักความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงของทรัพยากรน้ำพื้นฐานตามวัฏจักรน้ำ ขณะเดียวกัน พ.ร.บ. น้ำ พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์ เพราะแต่ละพื้นที่ยังมีการบริหารจัดการโดยยึดหลักกฎหมายเฉพาะของตนเองเป็นหลัก

รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์  ประธานแผนงานวิจัยยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า แผนยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี โดยรวม ๆ ในเรื่องของการสร้างความมั่นคง สร้างรายได้ และสร้างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยภาพรวมยังเป็นอยู่ แต่ว่าผ่านมา 5 ปี หลังมี พ.ร.บ.น้ำ เรายังจัดความสมดุล ระหว่างการจัดการ และการจัดหาไม่สอดคล้องกัน

“กรรมการลุ่มน้ำ ที่มีหน้าที่จัดสรรเรื่องนี้ก็เพิ่งเริ่มทำงาน จึงเกิดเป็นช่องว่างที่การดำเนินการที่อาจไม่ทันกับสถานการณ์ความผันผวน อย่างเอลนีโญที่จะเกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้นเราควรจะมีแผนในช่วง 1 ปี 2 ปี หรือไม่ ใครจะเป็นคนทำ และเมื่อทำแล้วฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมีกลไกอย่างไรที่จะไปส่งเสริมหรือไปบังคับใช้เป็นไปตามแผนที่เกิดขึ้น ยังมีช่องว่างตรงนี้อยู่มาก”

นวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพ ต่อยอดการจัดการน้ำ รับมืออนาคต

ที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก รวมถึงการแย่งชิงน้ำในพื้นที่ขาดแคลน ขณะที่จากนี้ไปอีก 10-20 ปี ประเทศไทยจะใช้น้ำจากกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น หากทุกภาคส่วนไม่ลดการใช้น้ำ อนาคตน้ำจะขาดแคลน  

การนำเครื่องมือใหม่ ทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดการบริหารจัดการน้ำ โดยโครงการวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ นำเสนอทางเลือกใหม่ในการรับมือกับความผันผวนสภาพอากาศ และมุ่งสู่การลดการใช้น้ำในทุกภาคส่วน ลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ขณะที่กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมยังสร้างความเข้าใจที่ดีต่อการบริหารเชิงนโยบายด้วย  

AI เทคโนโลยีบริหารจัดการเขื่อนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ปัจจุบัน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาเผชิญปัญหาน้ำน้อยจากความแปรปรวนสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น นักวิจัยจึงพัฒนาโมเดลเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้มีน้ำใช้ระยะยาว  ด้วย  AI เทคโนโลยีบริหารจัดการ ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเป็นฐานข้อมูลให้ตัดสินใจปรับลด เพิ่ม การปล่อยน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ  กระบวนการนี้ เริ่มจากการใช้เทคโนโลยี AI กำหนดอัตราส่วนปล่อยน้ำที่เหมาะสม ใน 4 เขื่อนจากการคำนวณน้ำไหลเข้าอ่าง และการระบายน้ำออกจากเขื่อน ที่ปกติฤดูฝนจะปล่อยน้ำตามการปฏิบัติเป็นปีต่อปี แต่เมื่อใช้เทคโนโลยี  AI ทำให้มีข้อมูลตัดสินใจ ในการประเมินการระบายน้ำในฤดูฝนเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บในฤดูแล้ง

รศ.อารียา ฤทธิมา  ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะหัวหน้าโครงการปฏิบัติการระบบอ่างเก็บน้ำรูปแบบใหม่สำหรับการบริหารจัดการน้ำต้นทุนระยะยาวในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ด้วยเทคนิค ปัญญาประดิษฐ์  กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่ได้คือในช่วงหมดฤดูฝนสามารถเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บได้ 20 %  ขณะที่การคาดการระยะสั้นสามารถทำได้แม่นยำขึ้น 70-80 %  จึงช่วยให้ กฟผ. และกรมชลประทานบริหารจัดการดีขึ้น

“แผนการจัดการน้ำในอดีตที่ผ่านมา เราไม่สามารถรู้ได้ว่าปริมาณความต้องการน้ำจริง ๆ เป็นอย่างไร จะรู้แค่ปริมาณการปล่อยน้ำหรือการระบายน้ำ  การใช้ AI จึงช่วยให้ คำนวณ ตั้งแต่น้ำท่าเข้าอ่าง และการระบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

SENSOR เทคโนโลยีจัดการน้ำ ในเขตชลประทาน โครงการท่อทองแดง

7-8 ปีที่ผ่านมาพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง ในจังหวัดกำแพงเพชร เคยประสบปัญหาผู้ใช้น้ำขัดแย้งแย่งน้ำระหว่างคนต้นคลองกับคนปลายคลอง โดยเฉพาะช่วงน้ำน้อย แต่หลังจากที่เริ่มใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม  ชักชวนทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้งเข้ามาแลกเปลี่ยนปัญหาจึงเกิดความเข้าใจ โดยมีข้อต่อสำคัญของกระบวนการ คือการนำเอาเทคโนโลยีติดตั้งระบบวัดความชื้นในดิน ติดตั้งเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำและประตูอัตโนมัติ และระบบมอนิเตอร์ข้อมูล ผ่านระบบออนไลน์เข้ามาเป็นตัวช่วย  ทำให้คนที่อยู่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเห็นภาพและข้อมูลน้ำชุดเดียวกัน ผลที่ได้คือช่วยลดปัญหาขัดแย้ง ประหยัดน้ำ  บริหารจัดการได้แม่นยำขึ้น ลดการส่งน้ำเฉลี่ยได้มากถึง 33% และเมื่อทุกคนเข้าใจกฎ กติกา  และพัฒนาความรู้ร่วมกันได้ จะสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการ์น้ำต้นทุนที่มีอยู่ได้ 

3Rs เทคโนโลยีจัดการน้ำ EEC ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ

ในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรในเขต EEC จะมีไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน เนื่องจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว หากไม่ปรับตัวลดการใช้น้ำ  จะเผชิญความเสี่ยงสูงมากในอนาคต

การใช้ 3Rs เทคโนโลยีจัดการน้ำ EEC จะช่วยลดการใช้น้ำได้เฉลี่ยมากกว่า 20% จากเป้าหมาย โดยใช้กระบวนการติดตั้งเครื่องมือจัดสรรและควบคุมการ

ใช้น้ำ  ลดการใช้น้ำ (Reduce) ใช้น้ำซ้ำ (Reuse) และบำบัดน้ำเสีย วนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) พร้อมวิเคราะห์ ประเมินผลผ่านระบบ IoT  ซึ่งพบว่าสามารถประหยัดน้ำได้ 15-30% ลดการสูญเสียน้ำ และช่วยให้การจัดการน้ำในกระบวนการผลิตมีความแม่นยำมากขึ้น

GIS เทคโนโลยีจัดทำฐานข้อมูลต้นทุนและความต้องการใช้น้ำนอกเขตชลประทาน

ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลด้านน้ำเชิงพื้นที่รายชุมชนมากนัก จึงทำให้การจัดการน้ำในระดับนโยบายบริหารจัดการแบบกว้าง ๆ จึงทำให้การแก้ปัญหายังไม่ตรงเป้าหมาย การใช้ฐานข้อมูล GIS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจัดทำฐานข้อมูลต้นทุนและความต้องการใช้น้ำโดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน  จึงเข้าไปช่วยลดช่องว่างเหล่านี้ได้

กระบวนการจัดทำฐานข้อมูล GIS  เริ่มจากการทำความเข้าใจร่วมกัน ระหว่างชาวบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อทำงานร่วมกัน ในการรวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำ ความต้องการการใช้น้ำจากชุมชน และหน่วยงานลงในฐานข้อมูล GIS เช่น บ่อสระ จุดที่มี หรือไม่มีน้ำ รวมถึงจุดที่ชำรุด และสำรวจพื้นที่เปราะบาง เสี่ยงท่วมแล้ง  ก่อนนำมาทำแผนที่ประเมินพื้นที่รับน้ำ เพื่อจัดการน้ำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการวางผังน้ำ สำรวจความต้องการ การจัดหา การแบ่งปันน้ำในระดับชุมชนและระดับจังหวัด 

ผศ.โพยม สราภิรมย์  ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน  ระบุว่าการทำฐานข้อมูล จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มผู้ใช้น้ำ และทำให้มีข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนจัดการการใช้น้ำ ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ สามารถวางแผนรับมือภัย ควมเสี่ยง และบริหารจัดการสถานการณ์ได้แม่นยำ และตรงจุดมากขึ้น รวมถึงเพิ่มธรรมาภิบาลในการจัดการน้ำระดับชุมชน

“มีการทดลองใช้ระบบ GIS ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พบว่า ทำให้ง่ายต่อการออกแบบและบริหารจัดการน้ำเชิงนโยบายด้วย เพราะฐานข้อมูลที่ได้ จะทำให้แต่ละหน่วยงาน ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน มองปัญหาเพื่อนำไปสู่ทางออกร่วมกันได้ เช่น การออกแบบพื้นที่ ออกแบบสิ่งก่อสร้าง เวลานี้กำลังจะต่อยอดไปที่ น่าน และกำแพงเพชรเพิ่มเติม ก็หวังว่า ภาครัฐจะช่วยสนับสนุนให้ไทยสามารถจัดทำคลังข้อมูลน้ำแบบนี้ได้ เพื่อให้การบริหารจัดการนับจากนี้ แม่นย้ำและชัดเจนขึ้น”


อ้างอิง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active