ใต้พรมแดง ‘ดิไอคอน’ จับให้ได้ ไล่ให้ทัน

เพียงปฐมบทแรกของ ‘ดิไอคอน’ กับการติดตามตัวจนได้ ’18 บอส’ มาฝากขัง ก็ทำให้อีกหลายคนเริ่มร้อน ๆ หนาว ๆ จนอยู่ไม่สุข ระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังสืบสาวหาตัวผู้กระทำผิดเพิ่มเติม ในวันที่ยอดผู้เสียหายสูงถึง 5,648 คน มูลค่าความเสียหาย 1,611 ล้านบาทเศษ

The Active ชวนมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมวิเคราะห์ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของคดีนี้ ในมิติต่าง ๆ ไปจนถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้โมเดลธุรกิจที่อาศัยช่องว่างช่องโหว่ของกฎหมาย หากินกับความโลภ อยากได้ อยากมี เติบโตอย่างรวดเร็วในยุค 5G ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงปัญหาอื่น ๆ ที่ทับซ้อนอยู่ในสังคมไทย และถอดรหัสไปพร้อมกันว่าคดี ‘ดิไอคอน’ นี้เชื่อมโยงกับประเด็นใดบ้าง

ดิไอคอน

1.วงจรธุรกิจสีเทา
ถอดรหัสแรกกับรูปแบบ พฤติกรรมและกระบวนการทางธุรกิจของเครือข่ายดิไอคอน ซึ่งเมื่อเจาะงบการเงินแล้วจะเห็นจุดน่าสงสัย ที่อยู่ระหว่างการเร่งแกะรอยเส้นทางการเงิน 8 พันล้านบาท ซึ่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แย้มว่าเกี่ยวข้องบุคคลถึงหลักแสนคน ประเด็นที่ต้องติดตามคือคดีนี้เข้าข่ายเป็น ‘แชร์ลูกโซ่’ หรือไม่ และต้องสืบสาวต่อจะเข้าข่ายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ‘ฟอกเงิน’ ด้วยหรือไม่ และพัวพันไปถึงกลุ่มทุนสีเทาใดอีกบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจหลายแวดวง ในบริบทของสังคมยังอ่อนแอ คนจำนวนมากไม่มีความรู้ด้านการเงินจนถูกชักจูงหว่านล้อมและตกเป็นเหยื่อ

2.ทุจริตคอร์รัปชันรากเหง้าปัญหา
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เครือข่ายธุรกิจนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นพัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชัน ที่เชื่อมโยงไปถึงผู้มีอำนาจในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะแค่เรื่องเริ่มร้อนก็มีตัวละครและหน่วยงานโผล่เพียบ ทั้งคลิปเสียงที่พาดพิงไปถึงนักการเมือง เอ่ยถึง ‘เครื่องเซ่นเทวดา’ ที่ช่วยให้ธุรกิจราบรื่น รวมถึงประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เคยพบความไม่ชอบมาพากลของดิไอคอนตั้งแต่ปี 2561 แต่เรื่องกลับเงียบหายซ้ำจดทะเบียนให้ ตอกย้ำปมคลิปเสียงที่ชวนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ สคบ.ให้การช่วยเหลือหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว

ยังร้อนถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ หลัง เอกภพ เหลืองประเสริฐ เพจสายไหมต้องรอดออกมาระบุว่า ในช่วงขาขึ้นของดิไอคอนนั้น ‘เทวดา’ ได้ฝากฝังข้าราชการเข้ามาอยู่กรมสอบสวนคดีพิเศษให้ทำงานเกี่ยวกับคดีแชร์ลูกโซ่ เพื่อคุ้มครองบริษัทหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ด้วยมูลค่าการเซ่นไหว้กว่า 10,000 ล้านบาท

นอกจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่แล้ว หลายคนคงลุ้นว่าจะมีหลักฐานหรือชื่อหลุดมากกว่านี้อีกหรือไม่ หรือจะถูกตัดตอนเสียก่อน อย่างไรก็ตามขณะนี้’บอสพอล’ ยังคงยืนยันว่าไม่เคยจ่ายสินบนให้หน่วนงานใด

3.เกมโกงการตลาด
คดีแชร์ลูกโซ่ปรากฎให้เห็นมากว่า 40 ปี กรมสอบสวนคดีพิเศษเผยว่ามีรูปแบบการแอบแฝงหลอกลวงถึง 25 รูปแบบ ซึ่งกลโกงเหล่านี้มีการพัฒนาไปตามยุคสมัย ซับซ้อนแนบเนียนมากยิ่งขึ้น ‘ดิไอคอน’ ใช้หลายกลยุทธ์ในการจูงใจคน ผ่านพลังของการเล่าเรื่องหรือ Storytelling อย่างมีจิตวิทยา นำเสนอความหวังที่ถูกสร้างให้เชื่อว่าเป็นจริงได้ มีองค์ประกอบที่ช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่สวมใส่เปลือกนอกของ Business Model แบบต่าง ๆ เช่น ธุรกิจขายตรง, Dropshipping, การตลาดออนไลน์ จนสร้างผลกระทบต่อผู้ที่ดำเนินธุรกิจสุจริตตัวจริง โดยดึงเอาคนที่มีความน่าเชื่อถือ Influencer มาช่วยยืนยันความมั่นใจจนหลายตัดสินใจก้าวสู่วงจรธุรกิจนี้


4. กลยุทธ์ออนไลน์ขยายวงเสียหาย
นอกจากรูปแบบการแอบแฝงหลอกลวงที่มีการพัฒนาแล้ว การมาถึงของยุคดิจิทัลยังกลายเป็นช่องทางที่ให้ผู้ไม่หวังดีเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการใช้ประโยชน์จากการให้บริการของแพลตฟอร์มอย่างการลงโฆษณาที่กลายเป็นว่าช่วยยิงแอดเข้าถึงเหยื่อได้ตรงกลุ่มมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีกรณีของการโฆษณาเว็บพนันออนไลน์หรือเพจปลอม ขณะที่ความสะดวกสบายของการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ยังทำให้พฤติกรรมผู้คนเปลี่ยนไป ความไตร่ตรองยับยั้งชั่งใจอาจใช้เวลาสั้นเกินกว่าจะรู้เท่าทัน จึงอาจมีโอกาสที่การฉ้อโกงหลอกลวงในยุคนี้จะมีจำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายมากกว่าในอดีต

เป็นอีกโจทย์ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในยุคดิจิทัล ที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีความรับผิดชอบ ควบคู่ไปกับการติดอาวุธแก่ประชาชนให้รู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy)

5.ช่องโหว่ของกฎหมาย มีแต่ไม่บังคับใช้
สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า การบังคับใช้กฎหมายคดีแชร์ลูกโซ่มีความล่าช้าที่สร้างผลกระทบและยากที่จะกวาดล้างให้หมดไปได้ ถึงแม้จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายแล้วแต่กฎหมายกลับมีช่องโหว่ด้านบทลงโทษ สอดคล้องกับนักกฎหมายที่ชี้ว่าถึงเวลาต้องรื้อกฎหมายแชร์ลูกโซ่

กฎหมายหลักเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ถูกใช้มานานกว่า 40 ปี คือ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ในกรณี ‘ดิไอคอน’ ยังเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับอื่นๆ อีก เช่น พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545, พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550, พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522

ล่าสุด นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังเตรียมประชุมร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในการพิจารณาปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแชร์ลูกโซ่

6.ความเหลื่อมล้ำ ต้นตอความอยากได้อยากมี
สิ่งสำคัญที่ยังคงทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงเรื่อยมาคือ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในสังคมที่ยังคงรุนแรง ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยที่กว้าง โครงสร้างไม่เอื้อต่อการลืมตาอ้าปากแม้จะขยันสักเพียงใด เป็นจุดอ่อนให้ถูกหยิบยกมาขายฝันสร้างความหวังว่าจะมีโอกาสหลุดพ้นจากความจน ความแร้นแค้น ในเพียงพริบตาจนกลายเป็นวลี “ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย” ท่ามกลางสังคมที่ถูกปลุกปั่นให้คล้อยตามไปกับกระแสวัตถุนิยม มากกว่าความถูกต้อง ให้คุณค่ากับความรวยมากกว่าความดี



7.เซเลบสงฆ์ เปลี่ยนศรัทธาเป็นโฆษณาชวนเชื่อ
นอกจากแวดวงบันเทิงหรือการเมืองแล้ว ‘ดิไอคอน’ ยังร้อนไปถึงวงการผ้าเหลือง เมื่อมีปมวิพากษ์วิจารณ์ถึงการรับงานเทศน์ของพระชื่อดัง ต่อเนื่องไปถึงลีลาการเทศน์ ที่ปรับให้เข้ากับบริบทของสังคม ซึ่งถูกสังคมออกมาตั้งคำถามถึงแก่นและเนื้อหาสาระว่ายังยึดโยงกับหลักธรรมคำสอนที่แท้จริงของพุทธศาสนามากน้อยแค่ไหน ก่อนจะลุกลามไปถึงคำถามถึงจุดยืนของพระสงฆ์กับธุรกิจในมุมมองต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เพียงดิไอคอนเท่านั้น แต่ถูกเชื่อมโยงมาหลายกรณีในอดีต ที่เคยถูกนำมาใช้ในด้านการสร้างภาพลักษณ์คนดี สร้างความน่าเชื่อถือจากฐานความศรัทธา เงินบริจาค และโครงสร้างอำนาจของสงฆ์ที่เป็นแดนสนธยายากจะเข้าไปตรวจสอบ