นับถอยหลังเปิดประเทศ “ยอดฉีดวัคซีน” พร้อมแค่ไหน?

ถ้าเปิดกรุงเทพมหานครได้ ก็เท่ากับการเปิดประเทศ เพราะเมืองหลวงเป็นเหมือนประตูด่านหน้าต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่จนถึงวันนี้ หากประเมินจากสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 และยอดการฉีดวัคซีนของประชากรในประเทศ แม้จะนับถอยหลังครบ 120 วันในเดือนพฤศจิกายน ตามที่นายกรัฐมนตรีเคยให้คำมั่นไว้ ก็อาจทำให้เกิดอาการลังเล…

อย่างไรก็ตาม จากมติ ศบค. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 นอกจากจะผ่อนคลายหลายมาตรการในพื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด โดยเฉพาะลดเวลาเคอร์ฟิวเป็น 22.00 – 04.00 น. แล้ว ที่มาพร้อมกัน คือ ปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร

โดยปรับลดระยะเวลาในการกักกันสำหรับผู้มีเอกสารวัคซีนโควิด-19 ครบโดส เหลือ 7 วัน ส่วนผู้ที่ยังไม่มีเอกสารวัคซีน ให้กักตัว ตั้งแต่ 10-14 วัน สำหรับการเดินทางเข้าประเทศทางอากาศยาน กักตัว 7 วัน ทางน้ำและทางบก กักตัว 10-14 วัน

และเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว เพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เขาหลัก เกาะยาว จ.พังงา และเกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วง ทับแขก จ.กระบี่ 

ขณะที่อีก 10 จังหวัด จะเริ่ม 1 พฤศจิกายน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, จ.กระบี่, จ.พังงา (ทั้งจังหวัด) , จ.ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน หนองแก) , จ.เพชรบุรี (ชะอำ) , จ.ชลบุรี (พัทยาบางละมุง จอมเทียน บางเสร่) , จ.ระนอง (เกาะพยาม) , จ.เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริมแม่แตง ดอยเต่า) , จ.เลย (เชียงคาน) และ จ.บุรีรัมย์ (อ.เมือง)

ยอดฉีดวัคซีน 10 จังหวัด เตรียมเปิดเมือง 1 พฤศจิกายน 2564

จังหวัดยอดการฉีดวัคซีน
กรุงเทพมหานครฉีดสะสม 3,788,684 คน
คิดเป็น 47.78% 
กระบี่ 
(ทั้งจังหวัด)
ฉีดสะสม 128,072 คน
คิดเป็น 27.11%
พังงา
(ทั้งจังหวัด) 
ฉีดสะสม 126,332 คน
คิดเป็น 48.88%
ประจวบคีรีขันธ์
(หัวหิน หนองแก) 
ฉีดสะสม 187,028 คน
คิดเป็น 33.35%
เพชรบุรี
(ชะอำ) 
ฉีดสะสม 168,130 คน
คิดเป็น 36.13%
ชลบุรี
(พัทยา บางละมุง จอมเทียน บางเสร่) 
ฉีดสะสม 752,957 คน
คิดเป็น 32.33%
ระนอง
(เกาะพยาม)
ฉีดสะสม 96,677 คน
คิดเป็น 47.52%
เชียงใหม่
(อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า)
ฉีดสะสม 404,238 คน
คิดเป็น 21.35%
เลย
(เชียงคาน) 
ฉีดสะสม 115,557 คน
คิดเป็น 19.27%
บุรีรัมย์
(อ.เมือง)
ฉีดสะสม 440,949 คน
คิดเป็น 32.61%
ข้อมูล 28 ก.ย. 2564 เวลา 12.08 น. ที่มา กระทรวงสาธารณสุข

สื่อต่างชาติรายงานข่าวความพยายามในการเปิดประเทศในภูมิภาคอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยว่า หลังผ่านจุดสูงสุดของการแพร่ระบาดไปได้ไม่นาน และอัตราการฉีดวัคซีนในบางพื้นที่ยังต่ำ ประเทศไทยกำลังมองหาแนวทางในการเปิดประเทศอีกครั้งเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยว

ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งมองว่าหากอัตราการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงยังคงไม่มากพอ แต่หลายประเทศเลือกที่จะยกเลิกข้อจำกัด หรือผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค อาจทำให้ระบบสาธารณสุขในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่สภาวะตึงตัวอย่างรวดเร็ว และมีความเสี่ยงมากกว่าชาติตะวันตกที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงกว่ามาก ทำให้อัตราการเสียชีวิตและการรักษาในโรงพยาบาลยังคงต่ำแม้จะเปิดประเทศแล้ว

ด้าน นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค ในฐานะนักระบาดวิทยาบอกกับ The Active ว่าความสมดุลระหว่างการควบคุมโรคกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องไปพร้อมกัน 

ความเห็นส่วนตัวของ นพ.คำนวณ มองว่าการกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเกินไป จะทำให้การตัดสินใจมาเที่ยวเมืองไทยลดลง สิ่งที่ต้องคัดกรองนักท่องเที่ยวคือตรวจสอบว่ามีการวัคซีนครบแล้วหรือไม่ จะทำให้การเปิดประเทศปลอดภัย ขณะเดียวกันหากเปิดประเทศแล้วมีการระบาด อาจไม่เกิดความสูญเสียมากเท่าการระบาดระลอกที่ผ่านมา เพราะกลุ่มเสี่ยงได้ฉีดวัคซีนไปจำนวนมากแล้ว 

สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคประจำตัว ปัจจุบันพบว่า พวกเขาได้รับวัคซีนไปแล้ว 16.21 ล้านคน จากเป้าหมาย 17 ล้านคน

  • ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีนแล้ว 9.97 ล้านคน
  • ผู้มีโรคประจำตัว ฉีดวัคซีนแล้ว 6.24 ล้านคน 

ขณะที่ภาพรวมการฉีดวัคซีนของทั้งประเทศ มีผู้ฉีดวัคซีน 2 เข็ม สะสม 18,663,607 คน คิดเป็น 27.78% โดย จ.ภูเก็ต มียอดฉีดวัคซีน 2 เข็มมากที่สุดถึง 82.90% แต่ 3 จังหวัดที่เปิดรับท่องเที่ยวบางพื้นที่ ยังมีสัดส่วนการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่า 50% ส่วน กรุงเทพมหานคร ที่จะเปิดเมืองวันที่ 1 พฤศจิกายน นี้ มีสัดการฉีดวัคซีนล่าสุด 47.78%

กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้วันเกือบ 1 ล้านโดส ขณะเดียวกันจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงต่อเนื่อง จึงตัดสินใจปิดโรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่กว่า 3,700 เตียงลงไปแล้วเมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา

เพื่อให้การเปิดประเทศเป็นไปอย่างปลอดภัย องค์การอนามัยโลก พยายามวางหลักเกณฑ์ตัวชี้วัด ให้แน่ใจว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ รวมถึงมีระบบสาธารณสุขที่สามารถตรวจคัดกรองและรองรับผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ แต่ต้องยอมรับว่าบางประเทศไม่เป็นไปตามมาตรฐานเหล่านี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเปิดประเทศและฟื้นฟูการท่องเที่ยว เป็นทางออกเดียวของผู้ประกอบการ และพยุงอัตราการจ้างงานให้กับประชาชน


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS