“นักเรียน” ขอเปลี่ยนอะไรบ้าง? ใน “โรงเรียน”

ธงราว” หลากสีสันหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ไม่เพียงทำหน้าที่ตกแต่งหรือสร้างสีสันให้พื้นที่การชุมนุมของกลุ่มนักเรียนแตกต่างออกไป ราวกับเป็นมหกรรมหรือเฟสติวัลขนาดย่อม ๆ บนถนนราชดำเนิน

ป้ายสีสันสดใสตามสายธง ยังสะท้อนจุดยืน และความหลากหลายของข้อเสนอจากหลายโรงเรียน แม้พวกเขา/พวกเธอ จะเคลื่อนไหวทาง “การเมือง” ใต้ร่มใหญ่เดียวกัน คือ เป็นแนวร่วมของกลุ่มที่เรียกขานตัวเองว่า “นักเรียนเลว”

เปลี่ยนภาพการเมืองภาคประชาชนในรอบ 2 ทศวรรษ?

หากย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวที่ถูกนิยามว่าเป็น “การเมืองภาคประชาชน” นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ประเด็นที่ถูกหยิบยกมาเรียกร้องบนถนนราชดำเนิน เรื่อยไปจนถึงหน้าทำเนียบรัฐบาลและหน้าอาคารรัฐสภาหลังเก่า ก็มักปรากฏประเด็นร่วม คือ ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ทางสังคมและเศรษฐกิจ

เช่น ปัญหาข้อเรียกร้องของ กลุ่มสมัชชาคนจน ในรัฐบาล ชวน หลีกภัย, การเคลื่อนไหวของ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ที่มีเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มย่อย ๆ ร่วมเคลื่อนไหวในช่วงแรก, การเคลื่อนไหวของ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในรัฐบาลของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กระทั่งความเคลื่อนไหวครั้งหลังสุดของกลุ่ม กปปส. หรือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ยังไม่นับรวมการชุมนุมเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาการสอบบรรจุข้าราชการ การทุจริตคอร์รัปชัน การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม และผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ฯลฯ

และไม่ว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนหลายครั้งที่ผ่านมา จะเริ่มต้นด้วยข้อเรียกร้องเชิงประเด็นปัญหา หรือเริ่มต้นด้วยการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล แต่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนหลายครั้ง นำไปสู่การชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีและล้มรัฐบาลในที่สุด

กว่า 20 ปี ความเคลื่อนไหว จากกลุ่มการเมืองภาคประชาชน หรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ได้นำมาสู่ความเคลื่อนไหวที่นำโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ว่าจุดเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวนี้จะมาจากตรงไหน การทวงคืนประชาธิปไตย จากรัฐบาลสืบทอดอำนาจรัฐประหาร หรือ การทวงคืนความเป็นธรรม ของคะแนนเสียงที่พวกเขามอบให้พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ฯลฯ แต่ที่แน่ ๆ ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ได้ขยายไปสู่ระดับโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว

จากปรากฏการณ์ “ผูกโบว์สีขาว” และ “ชูสามนิ้ว” ระหว่างทำกิจกรรมหน้าเสาธงในโรงเรียน ที่นับจำนวนไม่ถ้วน The Active รวบรวมข้อเรียกร้องบางส่วนเพื่อค้นหาว่าจริง ๆ แล้ว “นักเรียน” ยุคนี้ ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรในโรงเรียน ที่มีความสัมพันธ์หรือมีรายละเอียดมากไปกว่าข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อของกลุ่ม “คณะประชาชนปลดแอก”

มีเครือข่ายมากกว่า 50 โรงเรียน กระจายในทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ

กลุ่มนักเรียนเลวและเครือข่าย ระบุว่า มีมากกว่า 50 โรงเรียนที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพวกเขา เมื่อแบ่งกลุ่มประเภทข้อเรียกร้องจาก 9 กลุ่ม/โรงเรียน จะแบ่งได้ 6 กลุ่มประเด็นใหญ่ ๆ

  1. หลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่เอื้อต่อสิทธิมนุษยชน
  2. ความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางเพศ ที่รวมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+
  3. ปกป้องคุ้มครองนักเรียนจากบุคลากรในโรงเรียน
  4. แก้ไขกฎระเบียบในโรงเรียน
  5. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียน
  6. เรียกร้องในประเด็นร่วมกับประเด็นทางสังคม 

กลุ่ม “นักเรียนเลว” มีข้อเรียกร้องหลักไปที่ 4 ประเด็นแรก คือ ตรวจสอบ เรียกคืน และยุติการจัดจำหน่ายหนังสือเรียนที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศในมุมมองที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งให้ยกเลิกแบบประเมินและกฎระเบียบของโรงเรียนต่าง ๆ ที่ยังมีการเหยียดเพศ หรือลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน

รวมถึงข้อเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ ต้องปรับปรุงและแก้ไขระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 โดยต้องระบุให้นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศได้สิทธิในการเลือกทรงผมตามเพศวิถีของตนเอง

ขณะที่ในด้านของ การปกป้องคุ้มครองนักเรียน กลุ่มนักเรียนเลว เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ กำชับครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ปฏิบัติต่อนักเรียนทุก ๆ เพศอย่างเท่าเทียมกัน และห้ามดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือกลั่นแกล้งนักเรียนด้วยเรื่องเพศ และนักเรียนมีสิทธิเลือกที่จะใส่ชุดนักเรียนตามเพศวิถีของตนเอง ยกเลิกการบังคับแต่งเครื่องแบบนักเรียน เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีสิทธิที่จะแต่งกายได้ตามเพศของตนเอง

และ 3 ข้อเรียกร้อง 1 เงื่อนไข ในการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุด ระหว่างการดีเบตของ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กับ ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว คือ 1. หยุดคุกคามนักเรียน 2. ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าหลัง 3. ปฏิรูปการศึกษา และเงื่อนไขที่ว่า คือ หากแก้ไขไม่ได้ ขอให้รัฐมนตรีฯ ลาออกจากตำแหน่ง

กลุ่ม “แนวร่วม sisterhood”  เป็นการรวมกลุ่มของนักเรียนโรงเรียนหญิงล้วน 4 แห่ง คือ สตรีวิทยา, เบญจมราชาลัย, จอมสุรางค์อุปถัมภ์ และชลกันยานุกูล เน้นไปที่ข้อเรียกร้องประเด็นที่ 1 – 3 คือ ยกเลิกหลักสูตรและกฎระเบียบที่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคลากรภายในโรงเรียน, พัฒนาหลักสูตรให้มีความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งสนับสนุนการมีอยู่และสิทธิมนุษยชนของ LGBTQ+ และโรงเรียนต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน โดยให้ความคุ้มครองและช่วยเหลืออย่างเต็มที่เมื่อนักเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกละเมิดกรณีใด ๆ

กลุ่ม ซาร่าวิดยาไม่เอาเผด็จการ มีการระบุข้อเรียกร้องลงรายละเอียดไปที่การแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อถูกตัดคะแนนความประพฤติครบ 20 คะแนน, ขอให้มีการแก้ไขระเบียบการลงโทษนักเรียน ไม่ให้ใช้ความรุนแรง ทั้งกาย วาจา ใจ, การทำร้ายร่างกาย ดูหมิ่น เหยียดหยาม ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ เช่น ลุก นั่ง กลิ้ง หมอบ คลาน, ขอให้มีการออกระเบียบว่าด้วยทรงผมนักเรียน ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2563 และสนับสนุนให้นักเรียนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ยื่นข้อเรียกร้อง ที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบ ข้อบังคับ ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่า พวกเขาต้องการพื้นที่ในการมีส่วนร่วมและเสรีภาพในการแสดงออกมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ ตัวแทนกลุ่ม ซาร่าวิดยาไม่เอาเผด็จการ ยังระบุเพิ่มเติมว่า สนับสนุนทุกข้อเรียกร้องใน 6 กลุ่มประเด็น เพียงแต่ไม่ได้มีการประกาศผ่านสื่อสังคมออนไลน์

“เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ” หรือกลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่มีความเคลื่อนไหวสำคัญหลายครั้ง ทั้งในและนอกโรงเรียน เคยมีการออกแถลงการณ์เพื่อขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน เรื่องการปิดบังใบหน้าป้องกันการละเมิดสิทธิและคุกคามนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงรวบรวมรายชื่อนักเรียนและศิษย์เก่าเพื่อยื่นหนังสือขอให้โรงเรียนแก้ไขระเบียบทรงผมนักเรียนและการใส่เสื้อทับชั้นใน การเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมของนักเรียนตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการออกแถลงการณ์ต่อประเด็นทางสังคมอื่น ๆ เช่น กรณีบังคับสูญหายผู้ลี้ภัยทางการเมือง

กลุ่ม บอดินไม่อินเผด็จการ หรือนักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) มีการชูข้อเรียกร้องเพื่อให้มีการแก้ไขกฎระเบียบในโรงเรียน คือ การยกเลิกหมอบกราบ แล้วให้เปลี่ยนเป็นการไหว้ในอิริยาบถที่นั่งในท่าขัดสมาธิแทน รวมถึงการนำเสนอข้อเรียกร้องร่วมกับความเคลื่อนไหวในสังคม อย่างการคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP หรือ ความตกลงสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก

สตรีจอมไม่ทนเผด็จการ” หรือ โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จ.พระนครศรีอยุธยา มีข้อเรียกร้องเพื่อขอให้แก้ไขกฎระเบียบในโรงเรียนเช่นกัน โดยขอให้โรงเรียนไม่มีการออกกฎเกี่ยวกับทรงผมเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ยกเลิกการตรวจผม และต้องไม่มีการหักคะแนนนักเรียนคนใดเรื่องผมอีก

“ราชบพิธพิชิตเผด็จการ” หรือโรงเรียนวัดราชบพิธ ขอให้มีการยกเลิกการลงโทษนักเรียนด้วยการตี และยกเลิกทรงผมที่ลิดรอนสิทธิของนักเรียน

ขณะที่ กลุ่ม “สุรศักดิ์มนตรีปลดแอก” หรือ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ขอให้มีการแก้ไขหลักสูตรในหนังสือแบบเรียนวิชาสุขศึกษา แก้ไขกฎระเบียบเรื่องทรงผม เพราะปัจจุบันยังมีการบังคับให้นักเรียนชายต้องตัดผมรองทรงสูงเท่านั้น รวมถึงข้อเรียกร้องในการขอให้มีพื้นที่ในการเเสดงออกมากกว่านี้ และขอให้แก้ปัญหาการคุกคามนักเรียน

ส่วนกลุ่ม ใจกลางกรุงเก่าไม่เอาเผด็จการ มีข้อเรียกร้องหลักเหมือนกับกลุ่มนักเรียนเลวทั้งหมด

นอกจากนี้ ในแต่ละกลุ่ม ยังมีข้อเรียกร้องย่อยหรือการออกแถลงการณ์ต่อประเด็นทางสังคมอื่น ๆ อีกด้วย

บทส่งท้าย

คน Generations ก่อนหน้า อาจนิยามกันเองว่าวัยมัธยมเป็น วัยเปรี้ยวอมหวาน กระโปรงบานขาสั้น หรือ วัยแรกแย้ม/แรกรุ่น เพราะเมื่อนับอายุ น่าจะอยู่ระหว่าง 12 – 18 ปี แต่คำนิยามเหล่านี้ อาจใช้ไม่ได้อีกแล้ว กับบทบาททางสังคมของนักเรียนใน Generation ปัจจุบัน

แม้ไม่ได้ชูข้อเรียกร้องไปที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เหมือนที่ผู้ใหญ่ วัยอาบน้ำร้อนมาก่อน เคยเคลื่อนไหวตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่หลังเริ่มต้นใช้ชีวิตวัยรุ่น พวกเขากลับตั้งคำถามถึง “อำนาจและค่านิยมในโรงเรียน” ที่หมายรวมถึงอำนาจผ่านหลักสูตร ระเบียบ และกฎเกณฑ์ในโรงเรียน, ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างครูและนักเรียน, ความเสมอภาคทางเพศของหญิง –  ชายผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีกระแสการเรียกร้องความเท่าเทียม และสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยเป็นร่มใหญ่ของการเคลื่อนไหว

หลายประเด็นข้อเรียกร้อง เป็นสิ่งที่คนรุ่นก่อนหน้า ถึงกับต้องครุ่นคิดว่า แท้ที่จริงแล้ว เรื่องเหล่านี้พวกเขาอาจเคยตั้งคำถามในใจ แต่แทบไม่มีใครกล้าเอ่ยปากตั้งคำถามกับผู้ที่มีวัยสูงกว่า ถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า “หรือนี่อาจจะเป็นการปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ก็เป็นได้”

อยู่ที่ว่า เสียงเรียกร้องของพวกเขาจะถูกรับฟัง และร่วมกันหาสิ่งที่เป็นข้อตกลงร่วมและสมดุลกับสิ่งอื่น ๆ ในสังคมได้มากน้อยแค่ไหน

หมายเหตุ

เป็นการรวบรวมข้อเสนอเพียงบางส่วน โดยสามารถส่งรายละเอียดข้อเสนอและข้อเรียกร้องเพิ่มเติมได้ที่เพจ The Active

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
AUTHOR

อรุชิตา อุตมะโภคิน

ตามหาความเสมอภาคผ่านงานทั้งศาสตร์และศิลป์ พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์